ผู้เขียน | ทิดโส โม้ระเบิด |
---|---|
เผยแพร่ |
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกท่าน ขึ้นต้นมาก็ต้องกราบสวัสดีทักทายกันไป ตามมารยาททางสังคมไทยที่ดีของเรา มาถึงฉบับนี้ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศออกมาแล้วว่า ประเทศไทยของเราเข้าสู่ช่วงฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็มาฝนตก พายุฤดูร้อนพัดผ่านเข้ามาจนก่อความเสียหายให้บ้านเรือนและพืชผลกันไปไม่น้อย บางพื้นที่ได้เจอพายุลูกเห็บจนหลังคาบ้านเสียหายกันไปก็ไม่น้อย ก็ขอแสดงความเห็นใจและขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องทุกท่านครับ เราจะผ่านไปด้วยกันได้อย่างเข้มแข็ง
สืบเนื่องจากกิจกรรมที่ทางสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ร่วมกับฟอร์ด (ประเทศไทย) จัดกิจกรรมสื่อมวลชนเกษตรสัญจรไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ดังหนึ่งไปเยี่ยมเยือนและหาวัตถุดิบข่าวสารการเกษตรใหม่ๆ ออกมาให้ท่านผู้อ่านและเกษตรกรได้รับทราบข้อมูลที่เราจะนำเสนอด้วยการลงพื้นที่จริง สัมผัสเรื่องราว ทั้งชมและชิมเพื่อมานำเสนอในแง่มุมต่างๆ อย่างครบถ้วน ซึ่งผมเองจะขอบอกเล่าไปในทิศทางของรวมมิตรทิศทางการเกษตร
สถานที่แรกที่เรานัดหมายก็คือ เจ้าของแบรนด์ “หนูดีพริกไทยจันท์” คุณศักรินทร์ ตองอ่อน โทร. 081-865-8207 อยู่ที่ 36/1 หมู่ที่ 1 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ผู้ที่ผลิตพริกไทยดำปลอดสารเคมีออกมาจำหน่าย ทั้งวางหน้าร้านและขายออนไลน์ จากประสบการณ์รุ่นต่อรุ่นในการปลูกพริกไทย การบำรุงรักษา เก็บเกี่ยว แปรรูป และเปิดช่องทางจำหน่าย
คุณศักรินทร์บอกเล่าพร้อมพาชมตั้งแต่ในสวน ตู้อบ กระทั่งถึงสถานที่แปรรูปและบรรจุผลิตภัณฑ์ ก็ต้องบอกว่าเกษตรกรไทยหรือทั่วโลกก็คงไม่ต่างกัน นั่นคือทำเองให้มากที่สุดเพื่อลดต้นทุนและควบคุมคุณภาพ หาช่องทางการตลาด สร้างกิจกรรมเพื่อให้เกิดความต้องการซื้อ และเมื่อผลิตภัณฑ์ที่มีได้คุณภาพ การซื้อซ้ำจนกลายเป็นลูกค้าประจำจึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอย่างมาก ปัจจุบัน พริกไทยดำ พริกไทยป่น แบรนด์หนูดีพริกไทยจันท์ ได้ออกงานระดับจังหวัด มีหน้าร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่ายทั้งในจันทบุรีและในกรุงเทพฯ และเพื่อเป็นการนำเสนอให้ลูกค้าสะดวกในการซื้อหา จึงได้เปิดหน้าร้านออนไลน์เป็นช่องทางใหม่ให้ลูกค้าต่อไป ในชื่อเพจ หนูดีพริกไทยจันท์
ออกจากสวนพริกไทย เรามีนัดต่อที่ สวนทุเรียนพี่ตุ๋ย คุณจิตรลัดดา ชนะสิทธิ์ โทร. 098-249-7428 ในช่วงที่เราเดินทางไปสวนก็เจออุปสรรคใหญ่นั่นคือฝนตก ฟอร์ดเรนเจอร์ทั้งสองคันพาเราฝ่าสายฝนไปจนถึงสวนได้ด้วยดี ช่วงที่เราไปถึงนั้นเขาตัดทุเรียนกันเสร็จพอดี จึงได้พูดคุยกันถึงทิศทางและความเป็นไปของตลาด
ทุเรียนในยุคปัจจุบันที่โควิด-19 ยังไม่จากลาไปไหน
“ปีนี้ออกหลายรุ่น ก็ทยอยตัดกันไป มีล้งที่รู้จักกัน เป็นเพื่อนกันมาเหมาทั้งสวนไว้”
“ราคาดีไหมครับพี่”
“ก็ดีนะโลละ 110-125 ประมาณนี้”
“แล้วมังคุดล่ะพี่”
“ช่วงนี้ก็ทยอยเก็บเหมือนกัน หาคนงานยาก ที่สวนเราให้ค่าเก็บโลละ 10 บาท”
“ราคาดีไหมพี่”
“คัดส่งจีนก็โลละ 150 จ้ะ”
นอกจากพี่ตุ๋ยจะเป็นเกษตรกรแล้วก็ยังเป็นแม่ค้าออนไลน์อีกด้วย ผลผลิตที่แปรรูปออกมาจำหน่ายทั้งในรูปของสบู่ สครับ กระทั่งของหวานในรูปของข้าวเหนียวมูนต่างๆ สร้างรายได้ไม่น้อย ที่สำคัญยังมีรีสอร์ตในอำเภอมะขามให้ได้พักผ่อนในบรรยากาศดีๆ อีกด้วยครับ สนใจก็โทร.หากันได้ตามเบอร์ที่ผมวางไว้ให้ครับ หากบอกว่าอ่านมาจากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านก็อาจมีราคาพิเศษได้ด้วยนะ
รุ่งเช้าของอีกวัน เกษตรกรรุ่นใหม่ก็เดินทางมาพบกันพร้อมกับขนุนสายพันธุ์ T8 ซึ่งเป็นขนุนทะวาย มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเพื่อนบ้านทางภาคใต้ของเรา คุณบอย พิธาวัชร์ จารุกรวัฒนโรจน์ โทร. 092-789-9197 ซึ่งคุณบอยและพี่น้องสมาชิกในกลุ่มปลูกกันอยู่ในหลายจังหวัด และมีจำนวนไม่น้อยกว่าหมื่นต้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในส่วนของคุณบอยก็มีอยู่ประมาณ 5,000 ต้น
“ตอนนี้ทิศทางของขนุนสายพันธุ์นี้เป็นยังไงครับ”
“มีทิศทางที่ดีครับพี่ ให้ผลผลิตที่ไว น้ำหนักดี ทรงผลสวยงาม รสชาติหวานอร่อย ยางน้อยมาก”
“ปลูกเป็นหมื่นต้น มีตลาดรองรับแค่ไหนครับ”
“ตอนนี้เราทำสัญญากับบริษัทส่งออกที่ยุโรปไว้แล้วครับ เชื่อว่าน่าจะไปได้ด้วยดีทั้งผลสดและแปรรูป”
นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ถือว่าเป็นดาวรุ่งอีกหนึ่งดวงในส่วนของผลไม้ส่งออก ไม่นับตลาดขนุนแกะในประเทศที่เริ่มมีวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อกันแล้ว ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเกษตรกรต่อไปครับ
เป็นอีกหนึ่งวันที่ทางสวนแจ้งมาว่ามีทุเรียนสุกคาต้นรออยู่ สำหรับสวนที่เรากำลังจะไปตามนัดในครั้งนี้ ที่สำคัญมีทั้งก้านยาวและหมอนทอง แหม! ผมเองก็เป็นคนขี้เกรงใจ ไม่อยากให้ทางสวนรอนาน เราจึงพากันรีบไปต่อที่สวนแห่งนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นที่ทราบคือ น้องเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นอีกหนึ่งในคนกล้าคืนถิ่นที่กลับไปต่อยอดเรื่องราวดีๆ ที่พ่อแม่สร้างไว้ให้ น้องณัฏ ณัฏวุฒิ จันทร์เรือง โทร. 085-697-9594 วิศวกรหนุ่มผู้ที่ยอมหันหลังรายได้เดือนละหลายหมื่น เพื่อกลับบ้านมาเป็นเกษตรกร บางคนอาจมองว่าทำไปเพื่ออะไร รายได้ก็ดีอยู่แล้ว ที่สวนก็มีพ่อแม่ดูแลอยู่ แต่น้องณัฏกลับคิดไปอีกทาง นั่นคือจะนำความรู้เรื่องวิศวกรรมมาปรับใช้ในสวน เบื้องต้นพูดคุยกับพ่อแม่ให้ยอมรับแนวคิดนี้ โดยขอแปลงทดลองสักแปลง ซึ่งพ่อและแม่ก็ยินยอมให้
เบื้องต้น ปรับสวนจากระบบแมนนวลทั้งหมดมาเป็นสวนอัจฉริยะ ใช้เทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนระบบจัดการในสวน ตั้งแต่การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ผ่านเครื่องมือที่วัดจากดินรอบโคนต้น จากนั้นคำนวณออกมาให้ได้ตรงกับความต้องการของต้นไม้ให้มากที่สุด มีระบบพยากรณ์อากาศล่วงหน้า เพื่อเตรียมรับมือและดูแลทั้งสวนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งทุกอย่างสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟนในมือถือเครื่องเดียวเท่านั้น ทำให้ลดต้นทุนในการจัดการ ลดค่าน้ำ ค่าปุ๋ย ค่าแรงงาน และที่สำคัญคือลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากมีภัยธรรมชาติใดๆ ยิ่งกว่านั้นที่สวนนี้เข้าในลักษณะของ ผัวหาบเมียคอน คือนอกจากจะมีรายได้จากสวนแล้ว น้องอิง ผู้เป็นภรรยายังมีธุรกิจทำขนมขบเคี้ยว-ป๊อปคอร์นจำหน่ายอีกด้วย
อีกหนึ่งเรื่องราวที่เป็นก้าวใหม่ของเลเจนด์สยาม จากแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมก็ขยายไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสุขภาพและความงาม ชูจุดเด่นด้วยกัญชงและกัญชา เป็นนวัตกรรมการลงทุนในผลิตภัณฑ์ครบวงจร มีการปลูกทั้งในโรงเรือนระบบปิดและในแปลงเปิด จากนั้นจึงนำผลผลิตไปแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ต่อไป
ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถมาร่วมธุรกิจได้อีกด้วย ถือเป็นการปรับตัวรับในยุคโควิดได้เป็นอย่างดี เพราะมีการผสมผสานธุรกิจโรงแรม สนามกอล์ฟ โรงพยาบาล และสถานที่ท่องเที่ยวผนวกรวมเข้าด้วยกัน กลายเป็นธุรกิจใหม่ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง โดยเรามีโอกาสได้เข้าสัมภาษณ์ พี่เอ๋ นรินทร ณ บางช้าง อดีตร็อกเกอร์สาวคนดังอย่างละเอียดด้วยดี