จันทบุรีลุย “เกษตรแปลงใหญ่” 8พันไร่ ประมูลมังคุดเขาคิชฌกูฏ พุ่งสูงสุด169บาท/กก.

เกษตรจังหวัดจันทบุรีต่อยอดมหานครผลไม้เดินหน้าลุยโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง รวม 17 แปลง พื้นที่เกือบ 8 พันไร่ นำร่องประมูลผลผลิตแปลงใหญ่มังคุดเขาคิชฌกูฏ ขายดีถล่มทลายพลิกชีวิตเกษตรกร ด้านเกษตรอำเภอเขาคิชฌกูฏเผยยังไม่หมดฤดูกาล รายได้รวมทะยาน 12 ล้านบาท ล้งกว่า 10 รายแห่ร่วมประมูล ทำราคาดีต่อเนื่อง 2 เดือนติด สูงสุด 169 บาท/กิโลกรัม เตรียมดันแบรนด์ “มังคุดกระทิง@เขาคิชฌกูฏ” เป็นไฮไลต์จันทบุรี

 

17 แปลงใหญ่ 8 พันไร่

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร เกษตรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออกปี 2560 จังหวัดจันทบุรี ข้อมูลวันที่ 9 เดือนมิถุนายน 2560 ระบุว่าผลไม้ 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน 284,874 ตัน มังคุด 107,138 ตัน เงาะ 94,324 ตัน ลองกอง 16,265 ตัน รวม 502,601 ตัน ซึ่งแม้ว่าผลผลิตโดยรวมจะมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ราคายังเป็นที่น่าพอใจ ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของตลาดยังสูง และการดำเนินโครงการเกษตรแปลงใหญ่ที่เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เริ่มกำหนดตั้งแต่ปี 2559 ให้ทุกจังหวัดจัดทำเกษตรแปลงใหญ่ โดยมีหลักการ คือ ให้นำเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดเดียวกันมารวมกันผลิตเป็นแปลงใหญ่ เป้าหมายเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต การบริหารจัดการ การเพิ่มคุณภาพและมูลค่าผลผลิต และพัฒนาการตลาด ทำให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพมากขึ้น มีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น และมีอำนาจในการต่อรองราคา

สำหรับจังหวัดจันทบุรีเริ่มโครงการเกษตรแปลงใหญ่ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีเกษตรแปลงใหญ่รวม 17 แปลง เกษตรกร 985 ราย พื้นที่รวม 7,993 ไร่ ครอบคลุมทั้งพืช ประมง ปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด ลองกอง ลำไย ยางพารา หญ้าเนเปียร์ กุ้งขาว และโคนม โดยแต่ละแปลงจะมีผลสำเร็จเป็นรูปธรรมไม่เหมือนกัน บางแปลงสำเร็จเรื่องปรับลดต้นทุน บางแปลงสำเร็จเรื่องการเพิ่มผลผลิต และที่เห็นเด่นชัดขณะนี้ คือ มังคุดสำเร็จด้านการตลาด โดยเฉพาะมังคุดแปลงใหญ่เขาคิชฌกูฏ พัฒนาเรื่องตลาดด้วยการใช้ระบบประมูล ไม่ใช่การเหมาสวน หรือขายผลผลิตให้พ่อค้ารายใดรายหนึ่ง วันนี้กลายเป็นโมเดลสำคัญของการทำแปลงใหญ่มังคุดในจันทบุรีแล้ว

 

นำร่องประมูลมังคุดเขาคิชฌกูฏ

เกษตรจังหวัดจันทบุรีกล่าวอีกว่ามังคุดแปลงใหญ่เขาคิชฌกูฏปัจจุบันมีสมาชิก31 ราย พื้นที่รวม 311 ไร่ ขณะนี้ผลผลิตยังไม่สิ้นสุดฤดูกาล คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิต 300 กว่าตัน ได้นำผลผลิตออกมาประมูลแล้ว 160 กว่าตัน โดยราคาสูงสุดแต่ละวันไม่เหมือนกัน

“ตอนนี้จะมีการประมูลมังคุดทุกวัน เวลา 5 โมงเย็น ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชน ทุ่งเหียง ม.4 ต.ชากไทย อ.เขาคิชฌกูฏ ทั้งนี้เพื่อเป็นการต่อรองไม่ให้พ่อค้ากดราคา พ่อค้าที่เข้าร่วมประมูลเป็นกลุ่มที่ต้องการมังคุดคุณภาพ โดยจากเดิมที่เกษตรกรทำมังคุดคุณภาพได้ 60% เมื่อรวมทำเกษตรแปลงใหญ่ทำให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น 83%”

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้แปลงใหญ่มังคุดเขาคิชฌกูฏกลายเป็นแหล่งสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรรายอื่นซึ่งรัฐเองจะมีการเชื่อมโยงให้เกิดแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นและจะขยายในพืชอื่น ผลที่ตามมา คือ ความหลากหลายจะมากขึ้นในแต่ละพื้นที่

นายอาชว์ชัยชาญกล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลไปประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่สนใจได้รับรู้และเข้าใจก่อนว่าแปลงใหญ่เป็นแบบไหนจะได้ประโยชน์อะไร เพราะการรวมแปลงใหญ่ต้องเป็นการสมัครใจ ไม่ได้บังคับ

10 ล้ง รุมประมูลมังคุด

ด้านนางปัทมา นามวงษ์ เกษตรอำเภอเขาคิชฌกูฏ ผู้จัดการแปลง ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการไปดูงานกลุ่มขายมังคุดที่ภาคใต้ที่ใช้วิธีประมูลขาย ได้นำมาทดลองใช้ที่เขาคิชฌกูฏ ซึ่งเรามีผลผลิตปริมาณมากราว 300-400 ตัน โดยเริ่มเปิดการประมูลวันที่ 17 เมษายน 2560 ถึงวันนี้ (13 มิ.ย. 60) ผลผลิต 4 เกรด ตั้งแต่เกรดมันรวม เกรดตกไซซ์ เกรดแตก และเกรดกากใหญ่ นำออกมาประมูลแล้ว 166.4 ตัน มูลค่าจากราคาประมูลรวม 12.5 ล้านบาท เมื่อเทียบราคาตลาดทั่วไป 10.9 ล้านบาท คิดมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมาถึง 1.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.07

“สถานการณ์ประมูลได้ราคาดีมาตลอดติดกันยาวถึง 2 เดือน ไม่คิดว่าประมูลปีแรกจะสำเร็จรวดเร็วขนาดนี้ ตั้งแต่เปิดประมูลมามีล้งเข้าร่วมประมูลถึง 10 กว่าแห่ง บางวันมาประมูลพร้อมกันถึง 8 ราย ทำให้ช่วงแรกได้ราคาดีมาก ยิ่งช่วงรอยต่อการออกของมังคุดแต่ละรุ่นที่ผลผลิตเหลือน้อยได้ราคาเกรดมันรวมพุ่งขึ้นไปสูงถึงกิโลกรัมละ 169 บาท ต่ำสุด 66 บาท ไม่มีต่ำกว่านี้ ทำให้ตอนนี้แปลงใหญ่มังคุดเขาคิชฌกูฏกลายเป็นโมเดลใหม่ของจังหวัดแล้ว”

แปลงใหญ่มังคุดเขาคิชฌกูฏรวมพื้นที่ทั้งหมด311ไร่ แต่ละสวนจะมีมังคุด 4-6 รุ่น ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 31 ราย โดยมีสมาชิกที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่มากขึ้น มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มังคุดเขาคิชฌกูฏ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการและสมาชิกจัดระดมหุ้น ราคาหุ้นละ 500 บาท เพื่อใช้ในการบริหารงานร่วมกัน ปัจจุบันมีจำนวน 28 หุ้น

ปั้นแบรนด์มังคุดกระทิง @เขาคิชฌกูฏ

เกษตรอำเภอเขาคิชฌกูฏกล่าวอีกว่า การเป็นสมาชิกเกษตรแปลงใหญ่ นอกจากเกษตรกรจะได้ความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังได้เรื่องตลาดด้วย ขณะเดียวกันเราจะยกระดับมาตรฐานมังคุด โดยการคัดเกรดผลไม้ด้วยห่วงคัดเกรด และต้องเป็นลูกเขียวมีสายเลือด ล้งที่มาประมูลจะให้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป 6-12 บาท/กิโลกรัม บางครั้งราคาตลาด 75 บาท เราได้ถึง 90-92 บาท เพราะเขามั่นใจในคุณภาพและปริมาณ และหลังจากนี้จะยกระดับมาตรฐานขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เกรดที่ผิวภายนอกไม่สวย จะแกะเนื้อไปฝากห้องเย็นแล้วนำมาแปรรูป ขณะนี้กำลังสร้างแบรนด์ของตัวเอง ชื่อแบรนด์มังคุดกระทิง@เขาคิชฌกูฏ

“อยากให้กลุ่มอื่น ๆ ทำแบบนี้ และต้องทำต้นฤดู จะได้ราคาดีมาก แม้แต่มังคุดเกรดแตกเมื่อก่อนต้องทิ้งแทบทั้งหมด ตอนนี้ได้ขายมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 7-10 บาท เกรดนี้พ่อค้าจะขายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนเกรดมันรวมและเกรดตกไซซ์ จะส่งออกทั้งหมด จะสังเกตว่าไม่มีรถขนมังคุดไปขายเลย ส่วนมากจะส่งล้งหมด ขณะที่เราพยายามกระจายไม่ให้ไปกระจุกที่ใดที่หนึ่ง คือ เราจะอยู่กับที่ให้พ่อค้าเข้ามาหาเรา”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์