ม.ราชภัฏเลย พัฒนารถเกษตรสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้งานง่าย ช่วยลดต้นทุนการผลิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เปรมชัย มูลหล้า อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ในพื้นที่ตำบลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเลย ประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมรถเกษตรสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการช่วยลดต้นทุนการสูบน้ำ ลดการใช้แรงงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ให้เกษตรกรสามารถเลือกใช้งานการทำการเกษตรและแก้ปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันอีกด้วย

จุดเริ่มต้นของการจัดทำนวัตกรรมรถเกษตรสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์นั้น เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยได้รับงบประมาณสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อดำเนินโครงการวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจังหวัดเลย โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในพื้นที่ตำบลจอมศรี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นพื้นที่เป้าหมายในการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกและการแปรรูปมันสำปะหลัง เพื่อยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เปรมชัย มูลหล้า นับจากทางขวามือคนที่สอง

คณะวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยจึงร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ร่วมมือกันดำเนินโครงการเทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดเลย โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการ ได้แก่ การอบรมการจำแนกพันธุ์มันสำปะหลัง สร้างแหล่งการเรียนรู้การจัดการธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด การถ่ายทอดเทคโนโลยีน้ำหยด และการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถเกษตรสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในแปลงปลูกมันสำปะหลัง

รถเกษตรสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

ซึ่งเป็นองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มศักยภาพเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรเกิดทักษะ ความรู้ ความสามารถในการนำความรู้และเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการแปลงปลูกมันสำปะหลังช่วยลดต้นทุนการสูบน้ำ โดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทน สามารถใช้รถเกษตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิต นับเป็นก้าวสำคัญของเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง

รถเกษตรสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ของเกษตรกรในพื้นที่

“คือจะเห็นว่าในพื้นที่ของชาวบ้านจะมีรถเกษตรของชาวบ้านซึ่งเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมอยู่แล้ว รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่มีการปลูกพืชไร่ ก็จะมีมันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ซึ่งทางทีมของนักวิจัยมีการออกแบบเรื่องของการให้น้ำนะครับ ซึ่งการให้น้ำในพื้นที่ก็จะเป็นเรื่องการส่งน้ำเข้าแปลงปลูก รถเกษตรที่ออกแบบมามีการส่งตัวน้ำเข้าไปในแปลงปลูกให้ครอบคลุมในพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ จะมีแท็งก์น้ำที่เป็นเหมือนตัวจุดพักน้ำ มีท่อส่งเข้าไปในแปลงปลูก ก็คือตัวเทคโนโลยีน้ำหยด ซึ่งใช้คู่กันกับรถเกษตรสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อที่จะส่งน้ำเข้าไปในแปลงปลูก เป็นการให้น้ำในสภาวะที่เป็นแรงดันต่ำครับ”

รถเกษตรสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ควบคู่กับระบบน้ำหยด

รถเกษตรสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ มีขนาดมิติโดยรวม กว้างxยาวxสูง = 1.30×4.20×1.20 เมตร น้ำหนักโดยประมาณ 300 กิโลกรัม โครงสร้างรับน้ำหนักใช้เครื่องยนต์ดีเซลต้นกำลัง ล้อหน้า-ล้อหลัง ส่วนนั่งขับ พวงมาลัยบังคับเลี้ยวซ้าย-ขวา ไฟส่องสว่างด้านหน้าในเวลากลางคืน ไฟเลี้ยวซ้าย-ขวา ส่วนเสริมสำหรับบรรทุกด้านหน้า-หลัง ออกแบบโครงเหล็กรองรับแผงโซลาร์เซลล์ทำจากเหล็กกลมขนาด 1 นิ้ว ด้านหน้าสูง 0.90 เมตร ดัดโค้งเป็นมุม 105 องศา ส่วนรองรับแผงยาว 1.720 เมตร ดัดโค้งความสูง 0.95 เมตร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เปรมชัย มูลหล้า อธิบายถึงกระบวนการทำงานของนวัตกรรม

ใช้แผงโซลาร์เซลล์ ขนาด 410 วัตต์ กล่องควบคุมไฟฟ้าปรับความเร็วของมอเตอร์กระแสตรง ซึ่งเป็นเครื่องต้นกำลังขับปั๊มส่งน้ำชนิดส่งน้ำระยะไกล ขนาด 1 นิ้ว ทดลองเก็บข้อมูลสามารถสูบน้ำได้ 200 ลิตร ภายในเวลาเฉลี่ย 20 นาที เกษตรกรสามารถนำไปทดแทนการสูบน้ำจากเครื่องยนต์น้ำมันดีเซล ช่วยลดต้นทุนการสูบน้ำในการทำการเกษตร

แปลงปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกร

“หลักการทำงานง่ายๆ โดยการส่งน้ำเข้าแปลงปลูก โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก น้ำก็จะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เมื่อน้ำไหลตามแรงโน้มถ่วงของโลก ใช้ในตัวของปั๊มส่งน้ำระยะไกล ส่งน้ำเข้าสู่แปลงปลูกเพิ่มเติมอีกตัวหนึ่ง เพื่อที่จะให้ตัวไหลไหลเข้าไปครอบคลุมในพื้นที่ ซึ่งเป็นหลักการง่ายๆ ของการทำงานของเครื่องตัวนี้ครับ ผลตอบรับจากเกษตรกรอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ เพราะเกษตรกรในพื้นที่นั้นมีความต้องการนวัตกรรมรถเกษตรสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เดิมอยู่แล้ว เพราะว่าเป็นนวัตกรรมใช้พลังงานสะอาดในตัวแผงโซลาร์เซลล์ ทำหน้าที่ส่งพลังงานตรงไปที่มอเตอร์ มอเตอร์ก็จะไปขับตัวปั๊มน้ำส่งระยะไกล ในการส่งตัวน้ำเข้าไปในแปลงปลูกครับ”

ปัจจุบันทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถเกษตรสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับเกษตรกร 30 ราย และขยายผลสู่เกษตรกรต้นแบบ 8 ราย ในพื้นที่ของจังหวัดเลย

ด้านต้นทุนในการผลิตนวัตกรรมรถเกษตรสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์นั้น อยู่ในระหว่างการเก็บข้อมูล สามารถประมาณการต้นทุนคร่าวๆ โดยไม่รวมรถเกษตรและอุปกรณ์ต่างๆ คิดเฉพาะตัวสูบน้ำอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 บาท

สำหรับท่านใดที่สนใจนวัตกรรมรถเกษตรสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถติดต่อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เปรมชัย มูลหล้า คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ตำบลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเลย ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 042-835-224-8 ต่อ 47100 และโทร./โทรสาร 042-835-232

……………………………………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354