จากเพาะขายพันธุ์ปลา สู่เกษตรผสมผสาน แนวทางสร้างรายได้ยั่งยืนของคนศรีสะเกษ

การเปลี่ยนไปทำเกษตรกรรมแบบใช้น้ำน้อยเนื่องจากปัญหาขาดแคลนน้ำ ทำให้วีระชัย ศรีสด หาทางออกด้วยการทำเกษตรกรรมผสมผสานที่รวมเอาด้านประมง ด้านเกษตรปลูกพืชไม้ผลและปศุสัตว์ไว้ในแปลงเดียวกัน เพราะมองว่าแนวทางนี้ช่วยให้มีอาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคง

ผลิตภัณฑ์ปลาส้ม

คุณวีระชัย ศรีสด อยู่บ้านเลขที่ 39 หมู่ที่ 8 บ้านโนนแดง ตำบลยาว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบันทำเกษตรผสมผสานด้วยการเพาะขายพันธุ์ปลาและกบ ปลูกพืชไม้ผล และเลี้ยงสัตว์ พร้อมนำมูลสัตว์และเศษพืชผักมาผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กลับมาใช้ทุกกิจกรรม ทั้งยังแปรรูปปลาและกบเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสร้างมูลค่า เสริมรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืน

คุณวีระชัย ศรีสด

กิจกรรมด้านประมง

เจ้าของฟาร์มรายนี้เริ่มต้นจากการเพาะพันธุ์ปลาขายก่อน เพราะมองว่าใช้เวลาเลี้ยงไม่นานก็มีรายได้แล้ว พันธุ์ปลาที่เพาะ-ขาย ได้แก่ ปลาหมอชุมพร ปลาดุกบิ๊กอุย ปลาดุกรัสเซีย ปลาตะเพียน ปลานิลแปลงเพศ (จิตรลดา 4) และกบ พันธุ์ปลาที่เพาะขายจะเน้นชนิดที่คนอีสานตอนล่างรู้จักและนิยมกินเพราะตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง โดยพันธุ์ที่นิยมมากที่สุดคือปลาดุก ปลาหมอ และปลานิล จะเพาะในบ่อซีเมนต์ก่อนแล้วย้ายไปอนุบาลในบ่อดิน ตอนนี้มีบ่อทั้งสองชนิดรวมกัน 32 บ่อ แล้วจะคัดแยกพ่อ-แม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ไว้เพื่อใช้ขยายพันธุ์ในแต่ละรุ่น

แม่พันธุ์วัวปล่อยให้กินหญ้าตามท้องนาอย่างอิสระ

คุณวีระชัย บอกว่า ปลาหมอชุมพรได้รับความนิยมมาก คุณสมบัติที่ดีของปลาหมอชุมพรคือ มีขนาดใหญ่ จำนวน 2-3 ตัวต่อกิโลกรัม จึงทำให้เป็นจุดเด่นของความต้องการจากลูกค้า ทั้งผู้บริโภคและพ่อค้า อีกประการเนื่องจากปลาหมอชุมพรตามธรรมชาติมีขนาดเล็กมาก ต่างจากปลาเลี้ยง จึงทำให้ผู้บริโภคสนใจปลาเลี้ยงมากกว่า

สำหรับขั้นตอนการเพาะปลาชนิดนี้ เจ้าของฟาร์มให้รายละเอียดว่า หลังจากลูกปลาออกจากไข่แล้ว จะเพาะ-ฟักในบ่อซีเมนต์ก่อนเป็นเวลาประมาณ 3 วัน ซึ่งในช่วงนี้จะได้ลูกปลาในอัตรารอดประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นจึงย้ายลงบ่อดิน สำหรับระยะเวลาการเลี้ยงลูกปลาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน อย่างปลาดุกใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 20 วันจึงจับมาคัดแยกขนาดสำหรับขายในรุ่นแรกจะได้เป็นปลานิ้วบ้างหรือต่ำกว่านิ้วบ้าง ซึ่งเป็นขนาดที่ลูกค้าต้องการ

ปลาอีกชนิดที่คนนิยมกินคือปลานิล แล้วต้องเป็นปลานิลแปลงเพศด้วย เหตุผลที่ต้องแปลงเพศเพราะช่วยให้ปลาโตเร็ว มีน้ำหนักและมีเนื้อมากเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค ปลานิลจะแปลงจากตัวเมียเป็นตัวผู้ เพราะตัวผู้มีขนาดใหญ่และน้ำหนักดีกว่าตัวเมีย ส่วนปลาหมอจะแปลงจากเพศผู้ไปเป็นเพศเมีย เพราะตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้

น้ำพริกนรกกบ ไม่ใส่สารกันบูด ราคาขายมี 2 ขนาด คือ 25, 30 บาท

สำหรับเทคนิคการเพาะพันธุ์ปลานิลแปลงเพศฉบับวีระชัย มีจุดเด่นตรงการคัดสายพันธุ์ของพ่อ-แม่ที่แข็งแรง มีการเจริญเติบโตดีแล้วนำมาผสมไขว้ เพื่อทำให้ลูกปลามีความแข็งแรง มีความสมบูรณ์ทั้งขนาดและเนื้อ มีความทนทานต่อโรค สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่ที่ใช้เลี้ยง วิธีแปลงเพศด้วยการให้ปลากินฮอร์โมนเพศตามที่ต้องการ ขณะเดียวกัน วิธีนี้ได้นำมาใช้กับปลาทุกชนิดที่เลี้ยง

ช่วงผสมพันธุ์ปลาจะปล่อยตัวผู้และตัวเมียในอัตราตัวเมีย 5 ตัว และตัวผู้ 1 ตัว หลังจากผสมพันธุ์แล้วตัวเมียจะอมไข่ไว้ จะต้องเคาะไข่ออกจากปากทุก 10 วัน นำไข่มาฟักในภาชนะใช้ระบบน้ำวนประมาณ 1-2 วัน ลูกปลาอ่อนจะหลุดออกมาจากไข่ ช่วงนี้ให้อาหารประเภทฮอร์โมนแปลงเพศโดยให้กินอาหารผสมฮอร์โมนเพศผู้ แอลฟา เมทิลเทสโทสเตอโรน (alfa methyltestosterone) ผสมกับอาหารละเอียดให้กับลูกปลาอ่อนวันละ 6 ครั้ง ประมาณ 21 วัน

หอยเชอรี่เลี้ยงในบ่อ 100 กว่ากิโลกรัม ขายหมดเกลี้ยงแล้ว

เมื่อปลาโตขนาดใหญ่ขึ้นแยกไปอนุบาลยังคงให้อาหารชนิดเดิมต่อไปแต่ไม่ต้องผสมฮอร์โมน เลี้ยงต่อไปอีก 1 เดือนจะได้เป็นปลาขนาดนิ้ว ถ้ามีพ่อค้ามารับซื้อขายราคาตัวละประมาณ 45-50 สตางค์

ส่วนปลาดุกขยายพันธุ์ด้วยวิธีผสมเทียมโดยการรีดไข่แล้วนำมาผสมในภาชนะ เลือกปลาตัวที่มีไข่โดยการจับคลำที่ท้องฉีดฮอร์โมนเร่งไข่ หลังจากได้ไข่แล้วใช้น้ำเชื้อจากตัวผู้ผสมกับไข่แล้วนำไปเทใส่ภาชนะ ไข่ปลาดุกใช้เวลาฟักประมาณ 24 ชั่วโมง แต่หากอากาศดี แดดมากอาจใช้เวลาเพียง 18 ชั่วโมงเท่านั้น

ปลูกพืชไม้ผลริมบ่อเลี้ยงปลาใช้เป็นแนวกันชนตามธรรมชาติ

หลังจากเป็นตัวจะอนุบาลในบ่อซีเมนต์ประมาณ 3-5 วัน ช่วงนี้อาหารเป็นไข่แดงบดละเอียดละลายน้ำในบ่อให้เช้า-เย็นครั้งละ 5 ฟอง พอครบเวลาย้ายลงบ่อดินที่ได้เตรียมความพร้อมด้วยการล้างบ่อ ตากแดด หว่านปูนขาว ใส่ปุ๋ยคอกและจุลินทรีย์เพื่อให้เกิดแพลงตอน

การเลี้ยงกบ มีหลักแนวทางเหมือนปลาคือ ต้องมีการคัดพันธุ์ที่แข็งแรงไว้ทุกปี เมื่อถึงคราวผสมพันธุ์จะต้องไขว้สายพันธุ์เพื่อป้องกันเลือดชิดที่จะเกิดปัญหาต่อการเติบโต ให้ผสมในบ่อซีเมนต์ จากนั้นนำไข่ใส่ลงในบ่อดิน อาหารที่ใช้เลี้ยงกบเป็นอาหารปลา รายได้จากการเลี้ยงกบจะขายตั้งแต่เป็นลูกอ๊อด ซึ่งนิยมนำไปทำเป็นเหยื่อตกปลา ขายเป็นลูกกบเล็ก เพื่อนำไปเลี้ยงให้โตแล้วขาย หรือขายเป็นกบโตที่ขายเนื้อ ส่วนตลาดรับซื้อกบเป็นชาวบ้านฝั่งไทยนำไปขายที่ฝั่งลาว

บ่อดินสำหรับเลี้ยงปลา

คุณวีระชัยไม่ได้เพาะขายพันธุ์ปลาและกบเป็นรายได้เท่านั้น แต่ยังชักชวนชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอำเภอกันทรารมย์เพื่อนำสัตว์น้ำที่เลี้ยงมาแปรรูป โดยคุณวีระชัยเป็นประธาน กิจกรรมกลุ่มคือการผลิตน้ำพริกนรกกบ ไม่ใส่สารกันบูด ราคาขายมี 2 ขนาด คือ 25, 30 บาท นอกจากนั้น ยังมีน้ำพริกปลาดุกฟู กับผลิตปลาตะเพียนและปลานิลส้ม ถือเป็นแนวคิดเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทาง

ลูกปลานิลจิตรลดา 4 แปลงเพศอายุ 30 วัน ขนาด 2-3 เซนติเมตร ขายตัวละ 1 บาท

ด้านเกษตรกรรม

คุณวีระชัยปลูกอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 อ้อยพันธุ์นี้นิยมปลูกเป็นอ้อยคั้นน้ำ ใช้พื้นที่ปลูก 1 ไร่ จะตัดส่งขายกิโลกรัมละ 5 บาท สวนอ้อยไม่ใช้เคมี เป็นแนวทางอินทรีย์ที่ใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักจากพืชและสัตว์

เริ่มจากเตรียมพื้นที่ปลูกอ้อยด้วยการไถพรวน แล้วขุดหลุมไม่ลึก ใส่ขี้วัวลงไปแล้วนำอ้อยใส่หลุมละ 3-4 ท่อน แต่ละหลุมห่างกัน 1.2-1.5 เมตร โรยบริเวณหลุมด้วยขี้เลื่อย คลุมด้วยทางใบไม้ รดน้ำพอชุ่ม สัก 2-3 วันจะแตกยอดปล่อยให้สูงสักศอกแล้วให้ใส่ขี้วัวอีกรอบประมาณครึ่งกิโลกรัมต่อหลุม

ลูกกบ

พอยอดขยับสูงขึ้นอีกใช้น้ำหมักที่ทำเองจากเศษพืชและสัตว์ที่เหลือ โดยผสมน้ำหมักเข้มข้น 10 ซีซีหรือช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทางใบให้ทั่วจะช่วยให้ใบอ้อยมีความสมบูรณ์ เขียว หนา ให้ใส่ปุ๋ยคอกทุก 3 สัปดาห์ ส่วนน้ำหมักฉีดทุก 15 วัน

หลังจากปลูกราว 4-5 เดือนต้องดึงใบแก่ด้านล่างออกให้หมดเพื่อป้องกันแมลงศัตรูและโรคที่มักมาสะสมบริเวณโคนต้นอ้อย ตัดอ้อยเมื่อมีอายุประมาณ 8 เดือนเป็นอย่างต่ำ น้ำหนักอ้อยต่อลำประมาณ 4 กิโลกรัม ปลูกแต่ละรอบสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 3-4 ปี

ผลผลิตไม่ได้ตัดเก็บครั้งเดียวทั้งหมด แต่จะแบ่งตัดครั้งละ 100 กิโลกรัม เพื่อขายให้กับคนรับซื้อไปคั้นน้ำ บางคราวตัดคั้นเอง ทั้งยังตัดขายท่อนพันธุ์ที่มีจำนวน 2 ตา ราคาท่อนละ 2-3 บาท

กบโตที่มีอายุต่างกัน

คุณวีระชัย บอกว่า อ้อยแต่ละท่อนที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 4 กิโลกรัมเมื่อนำไปคั้นน้ำจะได้น้ำหนัก 1.5-2 กิโลกรัม ราคาขายน้ำอ้อยกิโลกรัมละ 30-40 บาท คนขายจะมีรายได้ต่อลำ 60-80 บาท หรือมีรายได้เฉลี่ยต่อวัน 2,000-3,000 บาท

นอกจากนั้น ยังปลูกมะม่วง มะพร้าวน้ำหอมบริเวณรอบบ่อปลา แล้วยังมีแผนปลูกต้นหมากขายผล โดยมีรายได้จากไม้ผลตามฤดูกาล อีกทั้งยังปลูกไม้เศรษฐกิจอย่างต้นยางนา พะยูง ไม้แดง ประดู่ มาได้สัก 2 ปี เผื่อไว้เป็นรายได้ในอนาคต

ลูกอ๊อดอายุ 20 วัน

ด้านปศุสัตว์

คุณวีระชัยเลี้ยงวัวขายพันธุ์ เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างวัวพื้นบ้านกับพันธุ์บราห์มันและชาโรเล่ส์ มีแม่พันธุ์ 10 ตัว ใช้วิธีผสมเทียม อายุแม่พันธุ์ที่เริ่มให้ลูกคือประมาณปีเศษ จะดูว่ามีความสมบูรณ์แข็งแรงและพร้อมเป็นสัดจึงฉีดน้ำเชื้อ มีอายุตั้งท้อง 9 เดือน เลี้ยงมา 4 ปี เพิ่งขายลูกวัวไปรุ่นแรกได้มาแสนกว่าบาท มองว่าน่าสนใจจึงตั้งใจจะเพิ่มแม่พันธุ์อีก 10 ตัว แล้ววางเป้าหมายขายลูกวัวได้ 100 ตัว

อาหารที่ใช้เลี้ยงวัวเป็นหญ้าหวานอิสราเอลกับฟางแห้ง คุณสมบัติที่ดีของหญ้าหวานคือมีโปรตีนสูงกว่าหญ้าเนเปียร์ สัตว์เคี้ยวง่าย มีรสหวาน กรอบ คุณวีระชัยปลูกหญ้าหวานไว้ในทุ่งนาแล้วปล่อยให้วัวไปกินเอง ไม่ต้องนำมาสับให้ยุ่งยากเหมือนหญ้าเนเปียร์ นอกจากนั้น ยังใช้ประโยชน์จากมูลวัวด้วยการนำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมักสำหรับใช้กับพืชและปลา ช่วยลดต้นทุน แล้วยังมีความปลอดภัย

สมาชิกกลุ่มร่วมกันปรุงเมนูอาหาร

การทำเกษตรกรรมมีหลากหลายรูปแบบ และการทำเกษตรผสมผสานถือเป็นอีกแนวทางที่ช่วยให้เกษตรกรประสบความสำเร็จ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน

 

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2565