ธ.ก.ส. ผนึกกำลัง ดีป้า ขับเคลื่อนนวัตกรรมดิจิทัล เสริมแกร่งเศรษฐกิจชุมชน

ธ.ก.ส. ผนึกกำลัง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลต่อยอดความร่วมมือการพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และชุมชน รองรับนโยบาย Thailand 4.0 เร่งเติมความรู้ Digital Literacy สู่ชุมชนกว่า 100 แห่ง ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่มาตรฐาน A-Product 150 ราย เพิ่มช่องทางการตลาดดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม จัดคูปองดิจิทัลหนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการลงทุนด้านเทคโนโลยี เสริมแกร่งชุมชนท่องเที่ยวด้านการบริหารจัดการและการดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมเติมทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยและนวัตกรรมดีมีเงินทุนกว่า 70,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย การส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อให้เกษตรกรและชุมชน มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาอาชีพ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้และเสริมศักยภาพการแข่งขัน โดยมีเกษตรกร ภาคีเครือข่าย คณะผู้บริหารและพนักงานในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม วิสาหกิจชุมชนทอผ้าไหมพื้นเมืองบ้านสนวนนอก ตำบลสนวน อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์

นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ตระหนักถึงความสำคัญในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมและชุมชน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านกระบวนการผลิตและการจัดการที่ทันสมัย มีความสะดวกรวดเร็ว ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต การลดต้นทุน เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ซึ่งความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส.และดีป้า ถือเป็นการนำจุดแข็งของทั้ 2 องค์กร มาเติมเต็มในจุดดังกล่าว

โดยในส่วนของ ธ.ก.ส. วางเป้าหมายในการฟื้นฟู พัฒนาและยกระดับความเข้มแข็งของเศรษฐกิจครัวเรือนและชุมชน ผ่านโครงการพัฒนาช่องทางตลาด Online ด้วย Platform โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าและบริการของเกษตรกร กระตุ้นการสร้างกิจกรรมทางเศษฐกิจภายในชุมชน โดยมีสินค้าของชุมชนที่ขายผ่านช่องทางดังกล่าว จำนวน 1,950 รายการ โครงการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของเกษตกร กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ SMAEs สินค้าชุมชน (OTOP) ให้มีคุณภาพและได้รับการรับรองมาตรฐาน A-Product เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและสร้างโอกาสทางการตลาด โครงการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีชุมชนท่องเที่ยวที่ผ่านมาตรฐาน 87 ชุมชน สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวจำนวน 200 ชุมชน และการพัฒนาธุรกิจชุมชนผ่านโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย จำนวน 4,800 ชุมชน

การดำเนินงานร่วมกับ ดีป้า ในช่วงที่ผ่านมา ได้ช่วยกระตุ้นและสร้างโอกาสให้เกษตรกรและชุมชนต่างๆ เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ไม่ว่าจะเป็นด้านกระบวนการผลิตทางการเกษตร เช่น โครงการพัฒนาระบบ IoT สำหรับการตรวจวัดและควบคุมการเพาะปลูกในโรงเรือน การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นอัตโนมัติในโรงเรือนเพาะเห็ด การควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะในโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบการให้น้ำอัตโนมัติ โครงการโดรนเพื่อการเกษตร โครงการนวัตกรรมการแปรรูป โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการแจ้งเตือนภัยช้างป่า เป็นต้น

ด้านการตลาด เช่น โครงการประยุกต์ใช้โมบายแอปพลิเคชั่นรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการและตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ ทำให้ผู้บริโภคสามารถรับรู้ถึงที่มาของสินค้าและกระบวนการผลิตจากฟาร์ม โครงการจัดการสินค้าในร้านค้าชุมชนด้วยนวัตกรรมดิจิทัล การพัฒนาระบบจัดการคลังสินค้าในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายร้านค้าชุมชน ด้านการท่องเที่ยว เช่น โครงการอบรมชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โครงการมัคคุเทศก์ดิจิทัล โครงการดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน โครงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลเกาะลิบง ด้านสังคม เช่น โครงการพัฒนาโปรแกรมยืม-คืน เครื่องช่วยความพิการ สำหรับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ จังหวัดชัยภูมิ โดยมีเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศได้รับประโยชน์จากโครงการต่าง กว่า 250 ชุมชน

ทั้งนี้ ในส่วนของชุมชนบ้านสนวนนอก เป็นชุมชนที่ ธ.ก.ส. เข้าไปมีส่วนร่วมการพัฒนาด้านอาชีพและการยกระดับเป็นชุมชนท่องเที่ยว โดยชุมชนมีจุดเด่นในเรื่องการเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม ซึ่งป้าเข้ามาร่วมต่อยอดโดยนำเอาเทคโนโลยี IoT มาใช้ในการเปิดปิดน้ำ คำนวการใช้น้ำ การจ่ายปุ๋ยอัตโนมัติในแปลงปลูกใบหม่อนการตรวจสอบการเจริญเติบโตผ่านแอปพลิเคชั่น พร้อมสั่งการระบบและติดตามการทำงานบนโทรศัพท์มือถือช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแลผลผลิตที่จะนำมาเลี้ยงไหมได้ตลอดทั้งปี จากเดิมที่ต้นหม่อนจะให้ผลผลิตเฉพะในช่วงหน้าฝน ทำให้สมาชิกในชุมชนมีงานทำ มีรายได้มากขึ้น

นายณรงค์ กล่าวต่อไปว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากสร้างความต่อเนื่องในงานที่ทำมาแล้ว ยังมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้หลัก BCG โดยจะรวบรวมความต้องการในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของชุมชน ควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs Smart Farmer เพื่อเป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน การพัฒนาด้านสุขอนามัย ความปลอดภัยและมั่นคงของสังคมและชุมชนผ่านการเติมความรู้ด้าน Digital Literacy 100 ชุมชน การสนับสนุนคูปองดิจิทัลเพื่อยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ผู้ประกอบการ 120 ชุมชน การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวตามรอยเท้าพ่อและชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 80 ชุมชน และเครือข่ายท่องเที่ยวกว่า 100 ชุมชน ส่งเสริมการตลาดออนไลน์ด้วยแพลตฟอร์ม การสนับสนุนผลิตภัณฑ์เกษตรกรเข้าสู่มาตรฐาน A-Product กว่า 150 ราย โดย ธ.ก.ส. พร้อมเติมทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยและสินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน วงเงินกว่า 70,000 ล้านบาท

ด้าน นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญที่ดีป้าดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรและชุมชนสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของตนเองมาประยุกต์ใช้ในมิติต่างๆ โดยความร่วมมือกับ ธ.ก.ส. ซึ่งถือเป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดกับเกษตรกรและชุมชนทั่วประเทศจะช่วยตอบโจทย์ด้านการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลให้กับประชาชนอย่างครอบคลุม ทั่วถึงรองรับการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล

โดย ดีป้า และ ธ.ก.ส. พร้อมมุ่งสร้างเสริมองค์ความรู้และทักษะสำคัญด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนในชุมชนเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจ สามารถบริหารจัดการสินค้า พัฒนาช่องทางตลาดออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล วางระบบฐานข้อมูลสารสนเทศของชุมชน ก่อนต่อยอดไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ผ่านโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ภายใต้มาตรการที่หลากหลายของดีป้า ซึ่งครอบคลุมความต้องการของประชาชน เช่น มาตรการคูปองดิจิทัล เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa mini Transformation Voucher) ในระยะเริ่มต้น ตลอดจนมาตรการส่งเสริมเพื่อนำไปสู่การทรานส์ฟอร์มชุมชนด้วยดิจิทัล ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสและศักยภาพการดำเนินธุรกิจ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน และขับเคลื่อนให้เกิดการเข้าถึงนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศต่อไป

ความร่วมมือระหว่าง ดีป้า และ ธ.ก.ส. ในช่วงที่ผ่านมาสามารถสนับสนุนชุมชนไปสู่เป้าหมายจนได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น รางวัล Prime Minister’s Digital Award 2019 สาขา Digital Community of the Year ของชุมชนบ้านถ้ำเสือ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้นำแอปพลิเคชั่นเก็บข้อมูลต้นไม้ที่ปลูกแล้วนำมาคำนวณคาร์บอนเครดิต แปรเป็นมูลค่า และรางวัล Prime Minister’s Digital Award 2019 สาขา Digital Talent Award of the Year ของวิสาหกิจชุมชนบ้านหนองสาหร่าย จังหวัดกาญจนบุรี ที่นำเทคโนโลยีด้านการพยากรณ์อากาศมาใช้พยากรณ์อากาศได้ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง รวมถึงการจัดโครงการอบรมชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 4 ภาคทั่วประเทศ ที่จะช่วยกระตุ้นและสร้างการรับรู้แนวทางการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ

…………………………………………..

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354