เกษตรแปลงใหญ่ผึ้ง ผลสำเร็จเชิงประจักษ์ด้านการผลิตและการตลาด ที่จังหวัดแพร่

โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ดำเนินงานและแนะนำ ส่งเสริมโดยกรมส่งเสริมการเกษตร มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตร ตั้งแต่ปี 2559 จวบจนปัจจุบัน เป็นเวลา 7 ปี ซึ่งการรวมกลุ่มเกษตรกรจัดตั้งในลักษณะนี้ เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาการทำการเกษตรของเกษตรกรที่มีพื้นที่ทำกินขนาดเล็ก และปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เกษตรกร ทำใครทำมัน ต่างคนต่างขาย ส่งผลต่อคุณภาพ มาตรฐานของผลผลิต ไม่ตรงตามความต้องการของตลาด มีผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่

การสลัดน้ำผึ้งออกจากแผ่นเก็บน้ำผึ้ง

ที่จังหวัดแพร่ ผู้เขียนได้ติดตามการดำเนินงานของกลุ่มแปลงใหญ่ผึ้ง ที่มีผลงานโดดเด่น ด้านการผลิต แปรรูป และการตลาด จึงเดินทางไปพบคณะกรรมการขอศึกษาการทำธุรกิจ ใน 9 ประเด็น คือ ลักษณะสินค้าและบริการ กลุ่มลูกค้า ช่องทางการจำหน่าย วิธีการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า การใช้ทรัพยากรหลัก กิจกรรมหลัก พันธมิตรทางการค้า รายได้หลัก และโครงสร้างต้นทุนการผลิต

ผู้เขียนได้กล่าวอ้างถึงกรมส่งเสริมการเกษตร ตอนต้นนั้น ในส่วนภูมิภาคมีสำนักงานเกษตรจังหวัด เป็นศูนย์กลางในการบริหารและส่งเสริมการเกษตรของจังหวัด ผู้เขียนจึงติดต่อ คุณประภาส สานอูป เกษตรจังหวัดแพร่ ขอข้อมูลและการส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ในจังหวัดแพร่ จึงนำมาเผยแพร่รวมทั้งแปลงใหญ่ผึ้งด้วย

คุณประภาสได้ให้รายละเอียดถึงโครงการเกษตรแบบแปลงใหญ่โดยภาพรวมตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า “โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่” เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเกษตร มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรชนิดเดียวกัน ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ใกล้เคียงมีการรวมตัวกันเพื่อร่วมกันผลิตสินค้าเกษตร ร่วมกันบริหารจัดการ รวมถึงร่วมกันจำหน่าย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เชื่อมโยงตลาดได้มากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยมีหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน โดยทั้งหมดได้รับการส่งเสริมและพัฒนาตามแผนที่กำหนดในแต่ละปี เช่น การจัดเวทีวิเคราะห์ศักยภาพ ร่วมกับทีมผู้จัดการแปลงและเกษตรกรสมาชิก วิเคราะห์จัดทำแผนรายแปลง/จัดทำแผนธุรกิจ และถอดบทเรียนเพื่อการขยายผลแปลงใหญ่ที่มีผลงานดีเด่นในการส่งเสริมและเผยแพร่เป็นตัวอย่างแก่กลุ่มอื่นๆ

คณะกรรมการแปลงใหญ่ผึ้งและเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ ร่วมให้ข้อมูล

 

พัฒนาเกษตรแบบแปลงใหญ่จากอดีตสู่เป้าหมายในอนาคตที่ดีกว่า

คุณประภาส เผยว่า ในปัจจุบัน กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่จากระยะแรก (ปี 2559-2564) ซึ่งเน้นการพัฒนาการรวมกลุ่ม รวมกันผลิตและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร เข้าสู่ระยะที่สอง (ปี 2565-2570) เพื่อพัฒนาการเกษตรแบบสมัยใหม่ โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรมและแนวทางเกษตรต่างๆ ได้แก่ เกษตรอัจฉริยะ เกษตรแม่นยำ รวมถึงทำการวิเคราะห์เชิงลึกต่อความต้องการของกลุ่มสมาชิกเพื่อจัดทำแผนธุรกิจและรูปแบบการถ่ายทอดองค์ความรู้เน้นด้านการลดต้นทุน การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่ Smart Farmer และเชื่อมโยงตลาด กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพด้านการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ โดยเฉพาะสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มรายได้ของเกษตรกร พร้อมผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการผลิตร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม

 

ยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ มุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการ

 

ดอกลำไย

คุณประภาส กล่าวเน้นถึงการพัฒนาเกษตรแบบแปลงใหญ่ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการยกระดับแปลงใหญ่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19 โดยเน้นหลักการพัฒนากลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ที่มีการพัฒนาเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตรภายใต้กฎหมายนิติบุคคล 3 ด้าน ได้แก่

  1. 1. ด้านการผลิต ต่อยอดเกษตรสมัยใหม่ โดยใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีต่างๆ
  2. ด้านการพัฒนาคุณภาพ/มาตรฐาน เข้าสู่การตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตตามมาตรฐานสากลและการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
  3. ด้านการตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ สร้างแบรนด์สินค้า รวมถึงพัฒนาตลาดแบบออนไลน์ (E-marketplace) ตามแนวคิดการตลาดนำการผลิต

โดยจังหวัดแพร่มีกลุ่มแปลงใหญ่เข้าร่วมโครงการ 20 กลุ่ม งบประมาณ 53 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการจัดหาครุภัณฑ์ ยานพาหนะ สิ่งก่อสร้าง ปัจจัยการผลิตและบรรจุภัณฑ์ มีการผลิตและตลาดสินค้าเกษตรให้สอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งให้ความสำคัญกับการผลิตที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง ใช้การตลาดสมัยใหม่ เพื่อให้ไทยเป็น 1 ใน 7 ประเทศสำคัญของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงของโลกภายในปี 2580 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

คุณประภาส สานอูป (ขวามือ) ร่วมถ่ายทำสารคดีแปลงใหญ่ผึ้งเผยแพร่ผลงานของกลุ่ม
ผู้เขียนและคณะกรรมการกลุ่มแปลงใหญ่ผึ้ง

 

ภาพรวมการก่อเกิดเกษตรแปลงใหญ่ของจังหวัดแพร่

คุณตุลย์ แก่นหอม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ผู้รับผิดชอบงานเกษตรแปลงใหญ่ระดับจังหวัด กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่เป็นหน่วยงานที่ดูแลแปลงใหญ่ด้านพืชและแมลงเศรษฐกิจ ร่วมกับหน่วยงานภาคีส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมดำเนินโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ในพื้นที่จังหวัดแพร่ มีเกษตรแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 82 แปลง จำนวนเกษตรกร 4,790 ราย พื้นที่เข้าร่วมโครงการ 38,419 ไร่

โดยในช่วงแรกเริ่ม ได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรด้านสินค้าเกษตรเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดแพร่ กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีจำนวนเกษตรกรรวมกลุ่มอย่างน้อย 30 ราย และพื้นที่อย่างน้อย 300 ไร่ขึ้นไป เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส้มเขียวหวาน ยางพารา และต่อมากรมส่งเสริมการเกษตรได้ปรับหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น จึงได้มีสินค้าเกษตรทางเลือกซึ่งได้พัฒนาขึ้นมาเป็นสินค้าสำคัญของจังหวัดแพร่ เข้าร่วมโครงการ เช่น พริก ลำไย ส้มโอ แก้วมังกร ไผ่ พืชผักผสมผสาน โคเนื้อ ปลากดหลวง รวมถึง แปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจ อย่างแปลงใหญ่ผึ้ง หมู่ที่ 4 ตำบลวังธง อำเภอเมืองแพร่ ซึ่งเป็นตัวอย่างและต้นแบบการเป็นแปลงใหญ่ที่มีศักยภาพ มีการบริหารกลุ่มอย่างเข้มแข็ง ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปที่หลากหลาย

กิจกรรมหลัก การตั้งรังผึ้งในสวนลำไย

 

แปลงใหญ่ผึ้งต้นแบบแปลงที่มีศักยภาพ

คุณลินดา เรืองจันทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ (ผู้รับผิดชอบงานเกษตรแปลงใหญ่ระดับอำเภอ) และ คุณดวงกมล สิทธิมงคล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ (เกษตรตำบลผู้รับผิดชอบตำบลวังธง) สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองแพร่ กล่าวว่า แปลงใหญ่ผึ้ง หมู่ที่ 4 ตำบลวังธง อำเภอเมืองแพร่ ครั้งแรกได้มีการก่อตั้งและรวมกลุ่มดำเนินการในปี 2560 ปัจจุบันมีสมาชิก 36 ราย ความต้องการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ขณะนั้น เกิดจากพื้นที่ตำบลวังธง มีสวนป่าและสวนผลไม้จำนวนมาก จึงมีเกษตรกรนำผึ้งมาเลี้ยง แต่ในการผลิตน้ำผึ้งแบบรายเดี่ยว ทำใครทำมัน ทำให้เกิดปัญหาด้านการตลาดและคุณภาพของน้ำผึ้งที่ไม่ได้มาตรฐาน ขายไม่ได้ราคา ประสบภาวะขาดทุน สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่และสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองแพร่ ได้ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มสู่การเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อร่วมวางแผนการผลิต การตลาด สินค้าน้ำผึ้ง ให้เกิดการพัฒนาตามแนวทางการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ 5 ด้าน ได้แก่

แผ่นเทียมรังผึ้ง
โรงงานผลิตน้ำผึ้งตามมาตรฐาน GMP
  1. ด้านการลดต้นทุนการผลิต โดยร่วมกลุ่มแปลงใหญ่ ร่วมกันซื้อปัจจัยการผลิตในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด และได้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โดยรัฐบาลอุดหนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องจักรกลโรงงาน ครุภัณฑ์ และยานพาหนะทางการเกษตรต่างๆ ทำให้สามารถลดต้นทุนในการผลิตน้ำผึ้ง ได้แก่ ต้นทุนการผลิตน้ำผึ้งลดลง เกิดจากค่าขนย้ายลดลง ร้อยละ 30 ค่าลดความชื้นน้ำผึ้งลดลง ร้อยละ 10 จากเดิมต้องขนย้ายน้ำผึ้งจากจังหวัดแพร่ ไปเข้าเครื่องลดความชื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และต้นทุนการซื้อปัจจัยการผลิตลดลง ร้อยละ 10
  2. ด้านการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีหน่วยงานภาครัฐและสถานศึกษา เข้าร่วมถ่ายทอดความรู้ด้านการเพิ่มผลผลิตและให้สมาชิกมีความชำนาญในการเลี้ยงผึ้ง เช่น ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ่ายทอดและสนับสนุนเทคโนโลยี ได้แก่ การดูแลและการเพิ่มจำนวนประชากรผึ้ง เพื่อทำให้เก็บน้ำผึ้งได้มากขึ้น
  3. พัฒนาคุณภาพ/มาตรฐานสินค้าเกษตร โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อให้น้ำผึ้งมีคุณภาพมากขึ้น และพัฒนามาตรฐานโรงงานผลิตน้ำผึ้งตามมาตรฐาน GMP รวมถึงการขอใบรับรองมาตรฐาน อย. ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพ คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า และในส่วนของเกษตรกรอยู่ในระหว่างการขอประเมินมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย GAP ด้านแมลงเศรษฐกิจ
  4. ด้านการบริหารจัดการ กลุ่มแปลงใหญ่ผึ้งมีการพัฒนากระบวนการรวมกลุ่มสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตรตามลำดับขั้น โดยได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในการรวบรวมผลผลิตน้ำผึ้งแก่สมาชิก ซึ่งบ่งบอกถึงความสามารถในการบริหารจัดการ และการทำงานแบบกลุ่ม มีการแบ่งหน้าที่ในกลุ่มด้านต่างๆ เช่น ด้านการบริหาร ด้านเครื่องจักรกล ด้านแปรรูป ด้านการตลาด อย่างชัดเจน
  5. ด้านการตลาด มีการวางแผน จัดทำแผนธุรกิจและแผนการตลาดของกลุ่ม ร่วมกับหน่วยงานภาคี ภาคเอกชนในการจำหน่ายสินค้าทั้งช่องทางออนไลน์ (เฟซบุ๊กเพจ : แปลงใหญ่ผึ้งตำบลวังธง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่) มีการนำสินค้าไปจำหน่ายตามงานแสดงสินค้าต่างๆ โดยกำหนดราคา น้ำผึ้งขนาดบรรจุ 1,000 กรัม จำหน่ายในราคา 180-200 บาท ขนาดบรรจุ 350 กรัม ราคา 80-100 บาท และขนาดบรรจุ 250 กรัม ราคา 70-80 บาท

ในส่วนของการดำเนินธุรกิจกลุ่มแปลงใหญ่ผึ้งนั้น เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ ต้องไปที่ที่ทำการกลุ่มครับ ผู้เขียนขอแนะนำการเดินทาง เริ่มจากตัวจังหวัดแพร่ ขับรถมุ่งไปทางทิศตะวันตก ตามถนนสาย แพร่-ลอง เพียง 1 กิโลเมตร ข้ามสะพานแม่น้ำยม ก็จะเจอสี่แยกสัญญาณไฟจราจร (แยกน้ำโค้ง) เลี้ยวขวาไปตามถนนบ้านสุพรรณ-หัวเมือง ถนนเส้นนี้จะขนานไปตามแม่น้ำยมจนถึงที่ทำการกลุ่มระยะทาง 11 กิโลเมตร

สินค้าหลัก น้ำผึ้งดอกลำไยและผลิตภัณฑ์แปรรูปน้ำผึ้งมะนาวกระชายป่า สบู่น้ำผึ้ง

ผู้เขียนได้พบกับ คุณเกียรติ เทียมแสน และ คุณสาธิต ธงสิบเก้า คุณจำนงค์ กาศเจริญ มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองแพร่ คุณดวงกมล สิทธิมงคล ร่วมให้ข้อมูลด้วย ได้ข้อมูลการดำเนินธุรกิจทั้ง 9 ด้าน ดังนี้ครับ

สินค้าและบริการ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่มแปลงใหญ่ผึ้งตำบลวังธง มีทั้งน้ำผึ้ง ตัวอ่อนผึ้ง สบู่น้ำผึ้ง และให้บริการจัดหาวัตถุดิบให้แก่สมาชิก สินค้าของกลุ่ม ล้วนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือมีมูลค่าสูง และมีจุดเด่นของผลิตภัณฑ์อยู่ในตัวสินค้าที่ก่อเกิดประโยชน์แก่ลูกค้า เพราะเป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งแท้เป็นธรรมชาติ จึงมีความหอม รสชาติหวานอร่อย ลูกค้าจึงตัดสินใจซื้อ ซึ่งทุกคนก็รู้ถึงประโยชน์และคุณค่าของน้ำผึ้ง สินค้านี้จึงตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งในด้านสุขภาพและความงาม ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทุกคนนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ และยิ่งในปัจจุบัน มีการนำน้ำผึ้งมาใช้เป็นสรรพคุณทั้งทางยาและความสวยงาม จากท่ามกลางกระแสนิยม “น้ำผึ้ง” กลุ่มแปลงใหญ่ผึ้งจึงได้โอกาสในการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปเป็นสินค้าอื่นๆ

ด้านความงามมีผลิตภัณฑ์ สบู่น้ำผึ้ง สบู่น้ำผึ้งสูตรโสมเกาหลี

เมื่อกลุ่มแปลงใหญ่ผึ้งได้ผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย ก็ต้องมี กลุ่มลูกค้า มีทั้งกลุ่มลูกค้าทั่วไป กลุ่มลูกค้าเฉพาะในประเทศ ได้แก่ กลุ่มผู้รักษาสุขภาพ ประมาณร้อยละ 20 เป็นช่วงอายุ 40-60 ปี แต่ปัจจุบัน เริ่มมีกลุ่มเยาวชนเข้ามาเป็นกลุ่มลูกค้าด้วย อีกร้อยละ 80 เป็นกลุ่มพ่อค้าคนกลาง ซึ่งเป็นพันธมิตรกันในด้านการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ

คุณเกียรติ กล่าวถึงช่องทางในการจำหน่ายว่า การจำหน่ายสินค้าให้เข้าถึงลูกค้า ทางกลุ่มแปลงใหญ่ผึ้งมีวิธีการที่หลากหลายทั้งขายเองโดยตรง การประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางให้ลูกค้าสนใจ จดจำในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และเขานึกถึงน้ำผึ้ง จึงตัดสินใจซื้อ ลูกค้ากลุ่มนี้ทางกลุ่มแปลงใหญ่ผึ้งจะดำเนินการจัดส่งให้ทันที ลูกค้าก็มีส่วนช่วยในการกล่าวต่อๆ กันไปปากต่อปากถึงตัวสินค้า และก็มีหน่วยงานราชการช่วยประชาสัมพันธ์หรือให้นำสินค้าไปออกงานในงานเทศกาลต่างๆ

กลุ่มแปลงใหญ่ผึ้งจัดตั้งมาเป็นเวลานานหลายปี จึงมีวิธีการสร้างความสัมพันธ์ กับลูกค้าทั้งกลุ่มลูกค้าในประเทศและคู่ค้าต่างประเทศ วิธีการก็คือ การสร้างสมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยกลุ่มแปลงใหญ่ผึ้งมุ่งมั่นกระบวนการผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เพราะมีธรรมชาติเป็นหุ้นส่วนอยู่แล้ว ฝ่ายลูกค้ามีความรู้สึกที่ดีต่อสินค้าจึงมีการซื้อซ้ำ ทั้งจากลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ มีการจัดโปรโมชั่น ซื้อโหลได้ส่วนลด นอกจากนี้ ก็ต้องอาศัยคุณภาพของตัวสินค้าเป็นของแท้แน่นอน พร้อมกับแบรนด์ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

“ความซื่อตรง ตรงไปตรงมา ไม่ก่อเกิดการหวาดระแวงก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าแล้ว” คุณเกียรติ กล่าว

ในกระบวนการผลิตสินค้าจากผึ้งของกลุ่มแปลงใหญ่ผึ้ง ต้องมีการใช้ ทรัพยากรหลัก หลายชนิด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ ออกมาดูดี เป็นที่พึงพอใจ ประทับใจ ถูกใจลูกค้า ทั้งทรัพยากรที่มีตัวตน อย่างอาคารสถานที่ เครื่องจักร โรงพักก่อนการระบาย ทรัพยากรที่เป็นนามธรรม ได้แก่ แบรนด์สินค้า นอกจากที่กล่าวมาก็ยังมีทรัพยากรคนงาน องค์ความรู้ด้านการเลี้ยงผึ้ง การวางแผนการผลิต การตลาด การประชาสัมพันธ์ บัญชี การใช้เครื่องจักร เครื่องอบ เครื่องวัดตรวจสอบความชื้นน้ำผึ้ง วัตถุดิบที่เป็นน้ำผึ้งบริสุทธิ์จากดอกลำไย

นอกจากทรัพยากรต่างๆ ที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ แล้วยังเกิดจาก กิจกรรมหลัก ที่ต้องทำ เพื่อก่อเกิดคุณค่าแก่ลูกค้า ส่งผลต่อยอดขาย ได้แก่ การวางแผนการผลิต การผลิต การพัฒนาสินค้า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ ประชาสัมพันธ์ การตลาด การซ่อมบำรุงเครื่องจักร

คุณเกียรติ กล่าวว่า ยอดจำหน่ายสินค้าน้ำผึ้ง ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง มีปริมาณมากขึ้น นอกจากการขายตรง ทั้งขายปลีกและขายส่ง ส่วนหนึ่งมาจากการเห็นความสำคัญของระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ จึงเกิด พันธมิตรทางธุรกิจ ที่ให้ความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ และเอกชน การมีพันธมิตรทางการค้าหรือธุรกิจจะช่วยให้กิจการพุ่งเร็ว กว่าการทำธุรกิจด้วยตนเองโดยลำพัง กลุ่มแปลงใหญ่ผึ้งก็เช่นกัน มีทั้งประเภทพันธมิตรด้านการผลิต และสนับสนุน ทั้งคนและองค์กร

พันธมิตรที่สำคัญของแปลงใหญ่ผึ้ง มีดังนี้

– สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ ร่วมมือและช่วยเหลือในเรื่องการประชาสัมพันธ์ สนับสนุนให้นำสินค้าไปออกงาน เป็นหน่วยงานให้คำปรึกษา สนับสนุนงบประมาณและวัสดุ ประสานความร่วมมือให้หน่วยงานอื่นมาถ่ายทอดความรู้การเลี้ยงผึ้ง

– สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองแพร่ ส่งเสริมและประสานถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิต การจัดการผลผลิต และการตลาด

– สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์แพร่ ให้คำปรึกษาแนะนำ ให้ความรู้ด้านการบริหารการเงิน การบัญชี

– สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่ ด้านการทำการตลาด การประชาสัมพันธ์

– ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นพันธมิตรที่ให้แหล่งเงินทุนแก่สมาชิกกลุ่ม

– บริษัทขนส่ง ช่วยในการส่งสินค้า พัสดุไปยังลูกค้าที่รวดเร็วและปลอดภัย

 

– เกษตรกรสมาชิก เป็นผู้ผลิตน้ำผึ้งจากดอกลำไย ส่งมอบให้แก่กลุ่มแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นน้ำผึ้งจากธรรมชาติแท้ การได้มาซึ่งผลผลิตน้ำผึ้ง ทั้งสมาชิกและกลุ่มแปลงใหญ่ต้องมีการตกลงกัน โดยสมาชิกต้องมีองค์ความรู้การจัดการการเลี้ยงผึ้ง ชีววิทยาสังคม ธรรมชาติของผึ้ง

จากการผลิตสินค้าน้ำผึ้งออกไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าด้วยช่องทางต่างๆ การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า การนำทรัพยากรต่างๆ มาเป็นปัจจัยร่วมกับการทำกิจกรรมหลัก จนเกิดพันธมิตรที่นำสินค้าออกสู่ลูกค้าได้ ก็จะเกิด รายได้ ให้แก่กลุ่มแปลงใหญ่ผึ้ง ซึ่งรายได้หลัก ได้แก่

– ขายน้ำผึ้ง ร้อยละ 90

– ขายผลิตภัณฑ์แปรรูป ร้อยละ 5

– ตัวอ่อนผึ้ง ร้อยละ 5

ด้วยระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ มุ่งกระบวนการผลิตสู่เป้าหมาย 5 ด้าน คือ การลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพ การตลาด และการบริหารจัดการ กลุ่มแปลงใหญ่ผึ้ง จึงใช้หลักการบริหารต้นทุน อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีโครงสร้างต้นทุน ประกอบด้วย

– ต้นทุนการผลิต ร้อยละ 80

– ต้นทุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 10

– ต้นทุนการตลาด ร้อยละ 5

– ต้นทุนการประชาสัมพันธ์ ร้อยละ 5

โรงงานผลิตน้ำผึ้งตามมาตรฐาน GMP

เมื่อ บวก-ลบ รายได้กับค่าใช้จ่ายแล้ว ธุรกิจของกลุ่มแปลงใหญ่ผึ้งยังมีผลกำไรเพียงพอที่จะนำไปขยายกิจการในอนาคต

คุณเกียรติ กล่าวแสดงความรู้สึกว่า “ผลประกอบการทั้งหมดนี้ ยังไม่ได้กล่าวถึงมุมมองทางด้านการประกอบกิจการของกลุ่มแปลงใหญ่ผึ้งที่มุ่งเน้นประโยชน์เชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม แม้กิจการเท่าทุนก็ยังถือว่า กำไร”

คุณเกียรติ ได้แสดงทัศนะและกล่าวถึงภาพในอนาคตของตลาดน้ำผึ้งว่า “เมื่อผ่านพ้นอุปสรรคจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็จะเจอปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทางกลุ่มแปลงใหญ่ผึ้งต้องมุ่งหารายได้ทางอื่นเพิ่ม ส่วนจะเป็นช่องทางไหนบ้าง ก็ต้องระดมความคิดกับผู้เกี่ยวข้อง เราจะต้องมาบริหารจัดการแบบสมัยใหม่ จะทำแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว เพื่อให้กิจการดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน และนำประโยชน์มาสู่สมาชิก กลุ่มแปลงใหญ่ผึ้ง และประโยชน์เชิงสังคมต่อไป”

ท่านที่สนใจสินค้า ผลิตภัณฑ์ ของกลุ่มแปลงใหญ่ผึ้ง มีช่องทางการติดต่อทางเฟซบุ๊กเพจ : แปลงใหญ่ผึ้ง ตำบลวังธง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ หรือทางโทรศัพท์ 081-111-3677 คุณเกียรติ เทียมแสน ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ผึ้ง

ขอบคุณภาพประกอบ : คุณดวงกมล สิทธิมงคล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองแพร่


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354