กศน.ลำพูน ปลื้ม “ชุมชนบ้านป่าดำ” อันดับ 1 ชุมชนจิตอาสาดีเด่นระดับประเทศ

“จิตอาสา” หมายถึง จิตแห่งการให้ความดีงามทั้งปวงแก่เพื่อนมนุษย์โดยเต็มใจ สมัครใจ อิ่มใจ ซาบซึ้งใจ ปีติสุข ที่พร้อมจะเสียสละเวลา แรงกาย แรงสติปัญญา เพื่อสาธารณประโยชน์ในการทำกิจกรรม หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน และมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นจิตที่ไม่นิ่งดูดายเมื่อพบเห็นปัญหา หรือความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับผู้คน เป็นจิตที่มีความสุขเมื่อได้ทำความดีและเห็นน้ำตาเปลี่ยนแปลงเป็นรอยยิ้ม เป็นจิตที่เปี่ยมด้วย “บุญ” คือความสงบเยือกเย็น และพลังแห่งความดี อีกทั้งยังช่วยลด “อัตตา” หรือความเป็นตัวตนของตนเองลงได้

กศน.ตำบลบ้านโฮ่ง ร่วมกับเยาวชนจิตอาสาปลูกพืชผักสวนครัว สู้ภัยโควิด-19

ประกวดจิตอาสา กศน.

นายปรเมศวร์ ศิริรัตน์ รองเลขาธิการ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)  กล่าวว่า สำนักงาน กศน. ได้จัดกิจกรรมการประกวดโครงงานอาสาและชุมชนจิตอาสาต้นแบบ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านจิตอาสา ตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

สำนักงาน กศน. ได้เปิดโอกาสและส่งเสริมให้บุคลากร กศน. นักศึกษา กศน. รวมทั้งเยาวชน ประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมการประกวดชุมชนจิตอาสา เพื่อแสดงผลงานของชุมชนและนำความรู้ไปพัฒนาชุมชนในพื้นที่ให้เกิดผลเชิงประจักษ์ เสริมสร้างชุมชนจิตอาสา ที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนได้รับความรู้ ความเข้าใจ มีจิตสาธารณะ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และความปรองดองสมานฉันท์ เกิดความสมัครสมานสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สามารถนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานด้านจิตอาสามาจัดกิจกรรม และสามารถเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการจิตอาสาชุมชน เพื่อพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันเป็นรากฐานที่เหนียวแน่นในการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญมั่นคง

นายปรเมศวร์ ศิริรัตน์ รองเลขาธิการ กศน.

สำนักงาน กศน. คาดหวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะมีการนำไปปฏิบัติในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จนสามารถเกิดเป็นชุมชนจิตอาสาที่สามารถเป็นต้นแบบของชุมชนจิตอาสาให้แก่ชุมชนอื่นๆ ในระดับประเทศ และนำความรู้เกี่ยวกับจิตอาสา การมีจิตสาธารณะ และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมต่อไป

กศน.อำเภอบ้านโฮ่ง สังกัดสำนักงาน กศน.จังหวัดลำพูน

บ้านป่าดำ อำเภอบ้านโฮ่ง

ชุมชนบ้านป่าดำ ตั้งอยู่หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านโฮ่ง ภายใต้การนำของผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 คือ นายศิลาศักดิ์ วินันต์ เป็นหนึ่งในชุมชนจิตอาสาต้นแบบที่ทำงานเพื่อสังคมและชุมชนโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เพราะสิ่งที่ชาวบ้านได้รับจากการทำงานจิตอาสา คือความสุขใจและความภาคภูมิใจในการทำงานช่วยเหลือสังคมและชุมชนนั่นเอง

ชาวบ้านชุมชนบ้านป่าดำ ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมตามรอยบรรพบุรุษ โดยมีคำขวัญประจำท้องถิ่นว่า “ดอยกานเด่นสง่า ภูมิปัญญาเลิศล้ำ กระเทียมหอมแดงแหล่งเกษตรกรรม น้อมนำวิถีพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข ชุมชนมีสุขด้วยสามัคคีธรรม”

ชุมชนบ้านป่าดำ ชนะเลิศอันดับ 1 ชุมชนจิตอาสาดีเด่น ของสำนักงาน กศน.

ที่ผ่านมา ชุมชนบ้านป่าดำสร้างการรับรู้เรื่องจิตอาสาให้กับชาวบ้านในชุมชนอย่างต่อเนื่องและมีผลงานเชิงประจักษ์ที่โดดเด่นในการปฏิบัติกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความดีด้วยหัวใจ” จิตอาสาเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จิตอาสาภัยพิบัติต่างๆ ในชุมชนโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของส่วนราชการในอำเภอบ้านโฮ่ง และ กศน.อำเภอบ้านโฮ่ง ชุมชนบ้านป่าดำ มีการกำหนดแผนพัฒนาการทำอาหารชุมชนตามฤดูกาล โดยจัดทำปฏิทินอาหารของชุมชนทั้ง 12 เดือน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ ผู้นำชุมชน ร่วมทำงานเป็นนักวิจัยชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ปี 2562 ชุมชนบ้านป่าดำได้รับมอบเกียรติบัตรรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ดีเด่น จากจังหวัดลำพูน ปี 2564 ชุมชนบ้านป่าดำได้รับรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านต้นแบบประชาธิปไตยดีเด่นของจังหวัดลำพูน จากกรมการปกครอง นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลหมู่บ้านสารสนเทศในระดับตำบล ร่วมกับ อบต.เวียงกาน จากจังหวัดลำพูน และได้รับรางวัลระดับเขตภาคเหนือ

ปฏิทินอาหารตามฤดูกาล ทั้ง 12 เดือน ของบ้านป่าดำ

ใช้ที่ว่างสร้างครัวชุมชน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่ออาชีพและรายได้ของชาวบ้าน จึงเกิดข้อตกลงร่วมกันในชุมชนบ้านป่าดำในการใช้พื้นที่ว่างเปล่าของโรงเรียนเก่าบ้านป่าดำเดิมให้เป็น “ครัวชุมชน” สอดรับกับนโยบาย Lamphun Go Green ที่ว่างสร้างอาหาร ของแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำพูน เพื่อให้คนในชุมชนใช้พื้นที่ว่างเปล่าในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการปลูกพืชผักปลอดสารพิษ ผักอินทรีย์ ผลผลิตที่ได้ถูกนำมาแบ่งปันให้กับชาวบ้านในชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และเป็นจุดนัดพบของคนสามวัย ให้ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

ยามเจ็บป่วยในช่วงวิกฤตโควิด กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ชาวบ้านชุมชนบ้านป่าดำไม่ทิ้งกัน แกนนำชุมชน อสม. อบต. ผู้สูงอายุ และเยาวชนจิตอาสาบ้านป่าดำส่งมอบอาหาร ขนม ผลไม้ อาหารสำเร็จรูป จากการบริจาคของคนในชุมชนบ้านป่าดำ และผักสดจากครัวชุมชนให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดและรักษามาตรการกักตัวในชุมชน และหมู่บ้านใกล้เคียง

กิจกรรม “จิตอาสา สร้างป่า รักษ์น้ำ” เฉลิมพระเกียรติฯ พระราชินี

อนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร

ป่าต้นน้ำ (ห้วยต้นปุย) เป็นแหล่งกำเนิดของตาน้ำธรรมชาติ ซึ่งพี่น้องประชาชนบ้านป่าดำได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างระบบประปาภูเขา นำน้ำจากตาน้ำธรรมชาติแห่งนี้ไปใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคมาแต่อดีต เริ่มแรกชาวบ้านใช้ไม้ไผ่ผ่าครึ่งทำเป็นรางน้ำไหลจากตาน้ำลงไปจนถึงจุดพักน้ำของหมู่บ้านที่อยู่ด้านล่าง การใช้ไม้ไผ่เพื่อลำเลียงน้ำไม่ทนทานต้องซ่อมแซมทุกปี ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2508 ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการใช้ท่อประปาเหล็ก จำนวน 300 กว่าท่อน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากอำเภอบ้านโฮ่งและการบริจาคของคนในชุมชน

ช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี มีประเพณีการล้างท่อประปาภูเขา และประเพณีการเลี้ยงผีขุนน้ำ ที่ทำหน้าที่ปกปักรักษาป่าไม้อันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นการปลูกฝังวิธีคิดและวิธีการอนุรักษ์สืบสานการดูแลป่าต้นน้ำที่สืบทอดกันมาแต่อดีต ให้มีการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ไม่ทำลายระบบนิเวศ เป็นการอยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

กิจกรรมการบวชป่า บริเวณป่าต้นน้ำ (ห้วยต้นปุย) บ้านป่าดำ

2 มิถุนายน 2565 นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเวียงกานต์อาสาปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ “จิตอาสา สร้างป่า รักษ์น้ำ” บริเวณป่าต้นน้ำ (ห้วยต้นปุย) หมู่ที่ 3 บ้านป่าดำ ตำบลบ้านโฮ่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2565 ประกอบด้วย กิจกรรมการปลูกป่า กิจกรรมการบวชป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับชุมชน และกิจกรรมการสร้างฝ่ายชะลอน้ำ เพื่อบำรุงรักษาป่าต้นน้ำ

ชาวบ้านชุมชนบ้านป่าดำ หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านโฮ่ง ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทำเสวียนไม้ไผ่ สำหรับเก็บใบไม้ กิ่งไม้ และลดการเผาเศษใบไม้ เพื่อเป็นการป้องกันและลดปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ณ ที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่ง ช่วงต้นฤดูแล้งของทุกปี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ -เมษายน ชาวบ้านมักรวมกลุ่มจิตอาสาออกปฏิบัติการลาดตระเวนทำแนวกันไฟป่า เพื่อทำความสะอาดพื้นที่ให้โล่งเตียนจนถึงชั้นหน้าดินเป็นแนวยาวในป่า เพื่อกำจัดใบไม้ กิ่งไม้แห้ง หญ้า วัชพืช ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงบนพื้นป่าและเป็นแนวตั้งรับในการดับไฟป่า

โครงการโรงเรียนผู้สูงอายุ ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านป่าดำ หมู่ที่ 13

อันดับ 1 จิตอาสาระดับประเทศ

ในปีนี้ กศน.อำเภอบ้านโฮ่ง สังกัดสำนักงาน กศน.จังหวัดลำพูน ได้นำเสนอชื่อ “ชุมชนบ้านป่าดำ” เข้าประกวดโครงการชุมชนจิตอาสา คณะกรรมการประเมินการตัดสินเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ให้ชุมชนจิตอาสาบ้านป่าดำ ชนะเลิศเป็นตัวแทนภาคเหนือ เข้าประกวดระดับประเทศ โดยนำเสนอผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings เนื่องจากชุมชนบ้านป่าดำมีความโดดเด่นในการดำเนินกิจกรรมจิตอาสาในชุมชน ผ่านเครือข่ายคนสามวัย และการดำเนินการโดยกลุ่มเยาวชนจิตอาสา ส่งผลทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ชุมชนจิตอาสาต้นแบบระดับประเทศ ขอแสดงความยินดีมา ณ โอกาสนี้

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจากสำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน กศน.จังหวัดลำพูน กศน.อำเภอบ้านโฮ่ง สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลำพูน และเฟซบุ๊กบ้านป่าดำ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

……………………………………………………

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354