วว. จับมือ วช. เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง จัดกิจกรรมปลูกป่า “90 ไร่ 9,000 ต้น”

นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “ปลูกป่า 90 ไร่ 9,000 ต้น” ณ สถานีวิจัยลำตะคอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนสะแกราชรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนทรัพยากรธรรมชาติ ดำเนินงานโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งสอดรับการดำเนินโครงการ ASEAN Green Initiative และกิจกรรม CSR ของ วว. โดยใช้เทคโนโลยีการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา ได้แก่ เห็ดตับเต่า เห็ดระโงก เห็ดเผาะ เป็นต้น ร่วมกับการปลูกต้นไม้ ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและเห็ดแบบเกื้อกูลกัน สร้างต้นแบบพื้นที่การปลูกไม้ยืนต้น/ไม้กินได้ เพิ่มพื้นที่และฟื้นฟูป่าชุ่มน้ำ ในพื้นที่ใกล้ลำน้ำลำตะคอง พร้อมทั้งปล่อยพันธุ์ปลาตะเพียน ปลายี่สก จำนวน 19,000 ตัว

นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ กล่าวต่อว่า จังหวัดนครราชสีมาถือเป็นจังหวัดที่มีความวิกฤตรุนแรงด้านการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยเป็น 1 ใน 3 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็น 1 ใน 12 จังหวัดของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง ซึ่งเป็นไม้ที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูงและมีราคาแพง พบมากในบริเวณเขตอุทยานแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อเป็นพื้นที่ทำกินและใช้ประโยชน์อื่นๆ ดังนั้น จังหวัดนครราชสีมาจึงให้ความสำคัญในการฟื้นฟูผืนป่า และส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ อย่างเช่น วว. ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ โดยดำเนินงานผ่านโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักและจิตสำนึกให้ชุมชนในพื้นที่ ได้มีแนวคิดในการร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่คู่กับประเทศไทยตราบนานเท่านาน

นายสมพร มั่งมี กรรมการบริหาร วว. กล่าวแสดงเจตนารมณ์ในการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติปลูกป่า “90 ไร่ 9,000 ต้น” ของ วว. ว่า มุ่งให้เกิดพื้นที่ต้นแบบป่านิเวศ ป่ากินได้ ป่าเศรษฐกิจ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้นแบบสำหรับการสร้างป่าครัวเรือน เพื่อแหล่งอาหารและสร้างรายได้ และยังเป็นการร่วมสนองพระปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การเสริมสร้างและปลูกฝังให้ราษฎรเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ โดย วว. นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ยกระดับการปลูกป่าร่วมกับเห็ดไมคอร์ไรซา ให้พึ่งพากับต้นไม้ชนิดที่เป็นพืชอาศัยแบบเกื้อกูลกันและยังช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตพืช ที่ผ่านมา วว. ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกไม้เศรษฐกิจ ร่วมกับเทคโนโลยีเห็ดป่าไมคอร์ไรซาในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ เช่น จังหวัดเชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ นครราชสีมา ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว และสงขลา ผลจากการดำเนินงานพบว่า พืชเจริญเติบโต แข็งแรง สมบูรณ์มากกว่าพืชที่ไม่ได้ใส่เชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา 2-3 เท่า อีกทั้งเกษตรกร/ชุมชนในพื้นที่ยังได้ผลผลิตของเห็ดป่าที่เพาะร่วมกับต้นไม้ นับเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้ยั่งยืน

ดร.จิตรา ชัยวิมล รองผู้ว่าการบริหาร วว. กล่าวสรุปเพิ่มเติมถึงการดำเนินโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติของ วว. ว่า กำหนดจัดกิจกรรมในพื้นที่ปลูกป่า ณ วว. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยคัดเลือกพรรณไม้ที่เหมาะสมพร้อมกับเสริมเทคโนโลยีเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา (ซึ่งมีจุดเด่นคือ ช่วยให้พืชเจริญเติบโตแบบเกื้อกูลกัน) เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กิจกรรมปลูกป่า ณ สถานีวิจัยลำตะคอง เป็นการปลูกไม้ยืนต้น ไม้กินได้ ร่วมกับการเสริมเทคโนโลยีเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา โดยถือเป็นการสร้างต้นแบบการปลูกไม้ยืนต้น/ไม้กินได้ เพื่อเพิ่มพื้นที่และฟื้นฟูป่าชุ่มน้ำ ใกล้กับลำน้ำลำตะคอง ตลอดจนใช้เป็นแหล่งเรียนรู้การอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตและการใช้ประโยชน์พืชพื้นเมืองร่วมกับเห็ด เป็นต้นแบบสำหรับการปลูกป่าเพื่อสร้างรายได้และสร้างแหล่งอาหาร พร้อมทั้งสามารถคำนวณปริมาณการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 capture) และขายคาร์บอนเครดิต เป็นการสนับสนุนเป้าหมายที่มุ่งสู่ Net Zero Emissions ของประเทศ