เข็นข้าวโพดหลังนาประชารัฐ รอบแรกไม่เข้าเป้า-คุมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์

เกษตรฯ เข็นโครงการปรับแผนปลูกข้าวโพดหลังนาประชารัฐ เอกชนแห่เข้าร่วม 116 บาท ตั้งเป้า 3 แสนไร่ ห้ามรับซื้อผลผลิตจากพื้นที่ไม่ถูกกฎหมาย จี้กรมวิชาการฯ งัด พ.ร.บ.พันธุ์พืช 2518 คุมเมล็ดพันธุ์

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่าจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายปรับลดพื้นที่การปลูกข้าว ผ่านโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2559/2560 รอบ 2 ให้เหลือจำนวน 6.86 ล้านไร่ เพื่อให้ได้ผลผลิต 4.38 ล้านตันข้าวเปลือก โดยมีเป้าหมายลดพื้นที่ทำนาข้าว ประมาณ 3 ล้านไร่ จึงเกิดโครงการนี้ขึ้น เพื่อทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง โดยมีเป้าหมาย 35 จังหวัด พื้นที่ 2 ล้านไร่ ตั้งเป้าเกษตรกรเข้าร่วม 2 แสนราย โดยใช้งบฯ กลาง 24 ล้านบาท และงบฯ อุดหนุนชดเชยดอกเบี้ย จากการให้สินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไร่ละ 4,000 บาท ซึ่งผลของโครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมเพียง 16,545 ราย พื้นที่ 1.4 แสนไร่ ได้รับเงินสินเชื่อ ธ.ก.ส. 395 ราย วงเงิน 10 ล้านบาท เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวและจำหน่ายแล้ว แต่ปัญหาที่ผ่านมาอาจจะยังไม่ตามเป้า เนื่องจากเกษตรกรไม่ได้รับสินเชื่อ ทำให้ถอนตัวจากการสมัครเข้าร่วมโครงการหรือมีทางเลือกอื่นที่จูงใจกว่า หรือขาดแหล่งรับซื้อผลผลิตในพื้นที่

ดังนั้น จึงได้หารือกับสมาคมการค้าพืชไร่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ถึงแนวทางการปลูกข้าวโพดหลังนารูปแบบประชารัฐ ฤดูการผลิต 2560/2561 หรือในพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวที่มีอยู่ 9 ล้านไร่ ใน 35 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าจะให้เปลี่ยนมาปลูกข้าวโพด 3.36 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่สนับสนุนให้ปลูก 2.5 ล้านไร่ นอกจากจะเพิ่มมาตรการ เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบจ่ายค่าชดเชยให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเบื้องต้นประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยจะจ่ายเงินอุดหนุนไร่ละ 2,000 บาท ต่อไร่ รายละไม่เกิน 15 ไร่ หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ หรือในอัตรา 50% ของต้นทุนการผลิตที่ไร่ละ 4,400 บาท ต่อไร่

นอกจากนี้ ผลผลิตที่ได้ 4.6 ล้านตัน ต่อปี นั้น ให้แยกข้าวโพดในพื้นที่ไม่ถูกกฎหมายออกอย่างชัดเจน เนื่องจากตามข้อตกลงที่ประชุมเอกชนจะไม่รับซื้อข้าวโพดที่ผิดกฎหมาย และต้องการข้าวโพดที่ผ่านการรับรอง GAP เป็นข้อต่อรองการนำเข้าข้าวโพดจากเพื่อนบ้านที่ต้องได้มาตรฐานนี้เช่นกัน โดยเกษตรกรสามารถซื้อเมล็ดพันธุ์จาก 116 บริษัทที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น และต้องเป็นสมาชิกของสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย แม้ในจำนวนนี้มี 99 บริษัทที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ได้

โดยข้าวโพดที่ผลิตจากเมล็ดพันธุ์ลักษณะนี้มีปริมาณกว่า 30% ของผลผลิตโดยรวม ดังนั้น ที่ประชุมจึงเสนอให้มีการยกเลิกทะเบียนกับผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ของทั้ง 99 บริษัท หรือหาแนวทางลดใบอนุญาตจาก 5 ปีเหลือ 2 ปี เพื่อให้มีการตรวจสอบผู้ค้าด้วย ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรจะเชิญบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ใช่สมาชิกของสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยมาทำข้อตกลง โดยจะใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ พ.ร.บ.พันธุ์พืช 2518, 2535 ตรวจจับร้านค้าผู้จำหน่ายที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างเข้มงวด

ขณะที่แหล่งข่าวจากสมาคมการค้าพืชไร่ กล่าวว่า ขอให้ภาครัฐลงทะเบียนเครื่องเกี่ยวนวดข้าวโพด เพื่อควบคุมประสิทธิภาพ และขอให้ยืนมาตรการนำเข้าข้าวสาลีในอัตรา 3 : 1 และควรพิจารณาผลผลิตอื่นๆ ในประเทศก่อนการอนุญาตให้นำเข้า เช่น ปลายข้าว มันสำปะหลัง รวมถึงขอให้เพิ่มเงื่อนไขการนำเข้ากากดีดีจีเอส (DistillersDried Grains-DDGs) ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปมาตรการดังกล่าวภายใน 2 สัปดาห์

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ