วช.หนุนงานวิจัยผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงจากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร

พืชผลทางการเกษตรของประเทศไทยนับว่าเป็นแหล่งสินค้าส่งออกและบริโภคภายในประเทศที่สำคัญ มีความพยายามผลักดันนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก หวังสร้างรายได้เข้าประเทศและเสริมศักยภาพให้กับเกษตรกร ให้มีทักษะในการพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้ได้มาตรฐาน ปัจจัยสำคัญที่เข้าไปเกี่ยวข้องนั่นก็คือต้นทุนของปุ๋ยที่นำใช้ในการเกษตร และปัญหาวัตถุดิบที่เหลือใช้จากการเกษตรกลับกลายมาเป็นขยะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้ทำให้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้ร่วมกันในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงจากวัตถุดิบที่เหลือใช้จากภาคการเกษตรมาพัฒนาโดยวิธีทางเทคโนโลยีชีวภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช. ) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบเหลือใช้จากการเกษตร ลดปัญหามลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นองค์กรสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนเสริมศักยภาพงานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้และสามารถนำมาต่อยอดใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและในเชิงพาณิชย์เป็นจำนวนมาก เพื่อเสริมสร้างรายได้และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ในปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์พืชผลทางการเกษตรออกสู่ตลาดแล้วอย่างต่อเนื่อง นอกจากคุณภาพของสินค้าและต้นทุนการผลิต สิ่งที่ตามมาอย่างหนึ่งก็คือมลภาวะจากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร จึงมีผลงานการวิจัยกระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงจากสิ่งเหลือใช้นี้นำมาก่อประโยชน์กลับไปสู่วงจรการเกษตรอีกครั้งอย่างครบวงจรผศ.ดร.ปริชาติ ดิษฐกิจ อาจารย์สาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ร่วมกับทีมวิจัยจากสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และกลุ่มงานวิจัยและพัฒนาหมอดินอาสาและบริหารจัดการเครือข่าย กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ได้นำเสนอโครงการการยกระดับผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงจากของเหลือใช้ทางการเกษตรเชิงธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจและวิสาหกิจชุมชนบ้านสารภี จังหวัดสมุทรสงคราม

โดยการสนับสนุนจาก วช. ด้วยแนวคิดที่ต้องการให้ระบบการผลิตทางการเกษตรปลอดวัสดุเหลือใช้ หรือ Zero Waste Agriculture ตามค่านิยมใหม่ในปัจจุบัน เนื่องจากประชากรที่เพิ่มขึ้น และทำให้อัตราการบริโภคเพิ่มขึ้นด้วย โดยยึดหลักขยะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล สำหรับชุมชนต้นแบบของโครงการ วิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจ จังหวัดสมุทรสงคราม เกษตรกรมีการรวมตัวกันนำกล้วยเมืองสามน้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ซึ่งมีเนื้อแน่น ไส้กล้วยไม่เปรี้ยว มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยตาก กล้วยอบแห้ง และกล้วยผง เป็นต้น

ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัด ที่รู้จักกันดีว่า ตลาดน้ำอัมพวา ส่วนอีกแห่งเป็นวิสาหกิจชุมชนบ้านสารภี ในจังหวัดสมุทรสงครามเช่นกัน ชาวบ้านได้ทำเกษตรแบบผสมผสาน นำพืชผลทางการเกษตรอย่างมะพร้าว มาแปรรูปเป็นน้ำตาลสด น้ำตาลมะพร้าว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มช่วยแก้ปัญหาผลกระทบในช่วงราคาพืชผลตกต่ำ ซึ่งทั้ง 2 แห่ง จะเจอปัญหาวัสดุเหลือใช้ไม่ว่าจะเป็นเปลือกกล้วย แกนเครือกล้วยที่ย่อยสลายได้ช้า ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและขยะจากทางมะพร้าว เปลือกมะพร้าว กะลามะพร้าว ซึ่งมีปริมาณมาก คณะนักวิจัยที่ลงพื้นที่สำรวจได้นำเทคโนโลยีทางชีวภาพ เพื่อนำวัตถุดิบทางการการเกษตรที่เหลือใช้จากวิสาหกิจชุมชน 2 แห่งมาสู่กระบวนการทำปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพสูง

เปลือกกล้วยน้ำว้าที่มีปริมาณเยื่อใยและไขมันค่อนข้างสูง รวมไปถึงสารไนโตรเจนฟรีเอกซ์แทรก แคลเซียม ฟอสฟอรัส และน้ำเป็นองค์ประกอบถึง 78 % คาร์บอน 37.99% ไนโตรเจน 1.33% และ C/N ratio 28.56 มีประสิทธิภาพสูงที่จะนำไปสู่กระบวนการทำปุ๋ยหมัก

ขณะที่ทางมะพร้าว เปลือกมะพร้าว และกะลามะพร้าว จะนำไปสู่กระบวนการทำเป็นถ่านชีวภาพ และเป็นส่วนผสมของปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง เนื่องจากถ่านชีวภาพจากกะลามะพร้าว มีสมบัติทางเคมี ได้แก่ มีปริมาณอินทรียวัตถุ 23.30% อินทรีย์คาร์บอน 13.50% ไนโตรเจน 1.17 % ฟอสฟอรัส 262.00 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ โพแทสเซียม 32,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มีความสามารถอุ้มน้ำได้ 100% จึงมีประสิทธิภาพในการช่วยปรับปรุงดิน

Advertisement

เมื่อนำไปผสมกับปุ๋มหมัก จะได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงมีธาตุอาหารหลักของพืชครบถ้วน ตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตร งานวิจัยนี้นับว่าเป็นประโยชน์กับเกษตรกรเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพ และการกำจัดขยะทางเกษตรเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าจากของเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย ถือว่าเป็นองค์ความรู้ในการที่จะนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีทางชีวภาพนี้ ขยายผลต่อยอดเพื่อประโยชน์แก่ชาวเกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป