ม.มหิดล – วช. คิดค้นเครื่องมือวัดทักษะสมองขั้นสูงการคิดเชิงบริหาร (Brain Executive Function)

อาจารย์ ดร. นุชนาฏ รักษี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนาแบบวัดความสามารถการบริหารจัดการของสมองชั้นสูง (Brain Executive Function : EF) สำหรับวัยรุ่นไทย” ที่จัดทำโดยสถาบันฯ ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ทำให้ประเทศไทยมีเครื่องมือมาตรฐานในการวัด ทักษะ EF สำหรับเยาวชนเกิดขึ้นครั้งแรก

จากข้อมูลการวิจัย การสำรวจสถานการณ์ทักษะ EF ของเยาวชนไทย ช่วงอายุ 11-18 ปี จำนวน 2,400 คน ในปี 2565 พบว่าทักษะ EF ในภาพรวมส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยระดับปานกลาง ร้อยละ 45.17 ส่วน EF รายด้านพบว่ามี ทักษะ EF ที่อยู่ในระดับ ควรพัฒนาปรับปรุงเร่งด่วน 3 ด้าน คือ ด้านการทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมาย 35.21% ด้านการควบคุมอารมณ์ 34.54% และการยับยั้งชั่งใจ 34.08% ซึ่งความมุ่งมั่นทำงานจนสำเร็จในเวลาที่กำหนด เป็นทักษะที่สามารถทำนายได้ถึงอนาคตของความสำเร็จในการเรียนของเยาวชน และการทำงานในวัยผู้ใหญ่

ในขณะที่ทักษะด้านการควบคุมอารมณ์ และการยับยั้งชั่งใจเป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงความสามารถในการควบคุมตัวเองให้มีสมาธิจดจ่อ ยืดหยุ่น ปรับตัวทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น ซึ่งสามารถปลูกฝังได้จากการฝึกให้เยาวชนรู้จักการตั้งเป้าหมาย และกำหนดเงื่อนเวลาในการทำงาน หรือทำกิจกรรมอย่าง “รู้คิด รู้เขา รู้เรา” ที่จะได้จากการฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น ทำให้อยู่กับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

นอกจากนี้ ควรฝึกให้เด็กจัดการกับ “ความเครียด” เพราะหากเครียดมากๆ เป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อสมองส่วนหน้า ที่คอยควบคุมอารมณ์ ความคิด การกระทำและการตัดสินใจ ดังนั้น จึงควรฝึกให้เยาวชนหาทางออกที่เหมาะสมในการจัดการกับความเครียด ด้วยการพยายามหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย อาทิ ร้องเพลง วาดรูป ดนตรี ฯลฯ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการตีตรา และลงโทษอย่างไม่สมเหตุสมผล

สำหรับเยาวชนที่สนใจประเมินทักษะสมองขั้นสูงการคิดเชิงบริหาร EF ที่ส่งผลต่อ “อภิปัญญา” ในการตระหนักรู้ความคิด ความเข้าใจของตนเอง การแก้ไขปัญหาว่าอยู่ในระดับใด สามารถเข้าไปประเมินทักษะสมองขั้นสูงการคิดเชิงบริหารได้ด้วยตัวเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่www.MUEF-teenager.com ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

ซึ่งการประเมินทำให้เราทราบระดับความสามารถทักษะสมอง EF ทราบจุดเด่นและความบกพร่องของทักษะ EF เนิ่นๆ เพื่อฟื้นฟู พัฒนาได้ตรงจุด ทันท่วงที และนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความพร้อมให้เยาวชนในวันนี้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศของเราต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354