เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ GI จ.ร้อยเอ็ด ประยุกต์ใช้ “โดรน” รักษาคุณภาพ เพิ่มผลผลิต

นายนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศท.4 ได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ (GI) จังหวัดร้อยเอ็ด ในพื้นที่อำเภอเกษตรวิสัย โดยลงพื้นที่สำรวจเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างที่นำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ในการผลิตข้าว กับเกษตรกรที่ไม่มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตข้าว จำนวนกลุ่มละ 32 ราย พบว่า เทคโนโลยีโดรนมาใช้ในการผลิตข้าว โดยนำมาใช้ในการฉีดพ่นยา/สารเคมีพ่นปุ๋ยน้ำ หรือฮอร์โมน ซึ่งการใช้โดรนจะทำให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตที่ดี การฉีดพ่นกระจายตัวได้อย่างทั่วถึง ลดการเหยียบย่ำในแปลงนาข้าว ลดความเสียหายของผลผลิต ลดผลกระทบจากการสัมผัสสารเคมีและปัญหาด้านสุขภาพของเกษตรกร รวมถึงลดระยะเวลาในการทำงาน และสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานอีกด้วย

ทั้งนี้ ผลสำเร็จของการใช้เทคโนโลยีโดรนในการผลิตข้าว ส่งผลให้เกษตรกรได้ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 393 กิโลกรัม/ไร่/ปี ในขณะที่เกษตรกรที่ไม่มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตข้าว ได้ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 342 กิโลกรัม/ไร่/ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยีโดรนในการผลิตข้าว มีผลผลิตต่อไร่มากกว่าร้อยละ 15

ด้านราคาขายข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ GI จังหวัดร้อยเอ็ด ราคาเฉลี่ยปี 2564 ความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา เฉลี่ยอยู่ที่ 10.3 บาท/กิโลกรัม ในส่วนของการแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุง (ขนาดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม) ราคาเฉลี่ย 40-45 บาท/ถุง และข้าวกล้องบรรจุถุงสุญญากาศ ราคาเฉลี่ย 60-75 บาท/ถุง

ส่วนผลผลิตร้อยละ 44 แบ่งเป็น ร้อยละ 33 เก็บไว้บริโภคในครัวเรือน และร้อยละ 12 เก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ ทั้งนี้ เนื่องจากในปี 2564 เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้น และราคาข้าวเปลือกตกต่ำ เกษตรกรจึงเลือกที่จะเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์และบริโภคเป็นจำนวนมาก สำหรับปีเพาะปลูก 2564/65 เกษตรกรเริ่มปลูกตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565

สำหรับข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ GI จังหวัดร้อยเอ็ด (ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด ปี 2564) ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกรวม 20,112 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอปทุมรัตต์ อำเภอสุวรรณภูมิ และอำเภอโพนทราย ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อปี 2549 ซึ่งนับเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ ขึ้นชื่อเรื่องความหอม ความยาว ความขาว และความนุ่ม ซึ่งเป็นการยกระดับสินค้าชุมชนให้เป็นสินค้าข้าวคุณภาพที่ได้มาตรฐานการผลิต สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในด้านคุณภาพและความปลอดภัย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการท้องถิ่น

หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิต ต้นทุน และผลตอบแทนของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ GI จังหวัดร้อยเอ็ด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สศท.4 โทร. 043-261-513 ต่อ 17 หรืออีเมล zone HYPERLINK “mailto:[email protected]”4 HYPERLINK “mailto:[email protected]”@oae.go.th