“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรแฟร์เทรดศรีสะเกษ” ปลูกพริกอินทรีย์ส่งโรงงานแปรรูป สร้างรายได้ตลอดปี

“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรแฟร์เทรดศรีสะเกษ” นำพืชผลทางการเกษตรในกลุ่มที่มีทั้งสมุนไพรเครื่องเทศหลายอย่าง เช่น พริก หอมแดง กระเทียม รวมถึง ขิง ข่า ตะไคร้ มาสร้างมูลค่าผ่านกระบวนการปลูกแบบอินทรีย์ตามมาตรฐาน จนได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับมาตรฐานของประเทศ

สินค้าที่น่าสนใจและเป็นพืชหลักของกลุ่มนี้คือ การผลิตพริกใหญ่อินทรีย์ (พริกใหญ่พันธุ์พิจิตร 2) เพื่อส่งเข้าโรงงานแปรรูปสำหรับการส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ โดย คุณสุคนธ์ กุษาเดช บ้านเลขที่ 45/4 หมู่ที่ 5 ตำบลละทาย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ โทรศัพท์ 089-848-5277 เป็นเกษตรกรแกนนำของกลุ่มที่ปัจจุบันปลูกพืชสมุนไพรเครื่องเทศแบบผสมโดยปลูกพริกเป็นหลัก และปลูกพืชสมุนไพรอย่างหอมแดง กระเทียม ขิง ข่า ตะไคร้ เป็นพืชเสริมแบบหมุนเวียน โดยใช้แนวทางปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ จึงมีรายได้ตลอดทั้งปี

คุณสุคนธ์ กุษาเดช

พริกที่คุณสุคนธ์และกลุ่มใช้ปลูกเป็นพริกใหญ่ที่นำมาแปรรูปเป็นซอสพริก มีผลสุกสีแดงเข้ม เนื้อหนา ขนาดใหญ่ ยาว มีความเผ็ดน้อย ทั้งนี้ พริกใหญ่พันธุ์พิจิตร 2 ได้จากการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีผสมข้ามพันธุ์ ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมือง มีลำต้นสูงสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว ผลมีขนาดใหญ่ เนื้อหนา สีแดงเข้ม และเผ็ดน้อย ตรงกับความต้องการของตลาด

อีกทั้งพริกใหญ่พันธุ์พิจิตร 2 เป็นพันธุ์ผสมเปิด เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ปลูกในรุ่นต่อไปได้ ปลูกในฤดูหนาว จะทำให้พริกมีคุณภาพดี ผลมีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมากขึ้น สีแดงสด และมีแมลงศัตรูพริกน้อยกว่าฤดูอื่น

ปลูกหอมแดงกับกระเทียมระหว่างรอพริกโต

คุณสุคนธ์ใช้พื้นที่ปลูกพริกรวม 5 ไร่ แบ่งการปลูกเป็น 2 แบบ คือ ปลูกในโรงเรือน มีจำนวน 6 โรงเรือน ขนาด 6 คูณ 30 เมตร ปลูก 2 ครั้งต่อปี เพราะในโรงเรือนมีความปลอดภัยเรื่องโรคและแมลง อีกแบบคือปลูกกลางแจ้งเก็บเกี่ยวผลผลิตเพียงปีละครั้ง

การปลูกทั้งสองแบบจะใช้วัสดุปลูกเหมือนกัน ต้องปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ทั้งที่ทางกลุ่มผลิตโดยได้รับรองมาตรฐานและปุ๋ยที่ทาง EU และ USDA รับรอง เพราะเป็นพืช ORGANIC

เด็ดก้านและคัดคุณภาพ

หลักการปลูกพืชอินทรีย์ตามแนวทางมาตรฐานนั้นกำหนดให้ต้องปลูกในพื้นที่ปลอดภัยและไม่เคยมีการปลูกพืชใดมาก่อนแล้วยังต้องเป็นพื้นที่ปลอดเคมี ดังนั้น ตามนิยามนี้จึงต้องปลูกในพื้นที่ป่าที่ถูกกฎหมายเป็นป่าที่มีโฉนด

หลังจากรื้อถางป่าออกจนโล่ง แม้ต้องใช้ปุ๋ยตามเกณฑ์สากล แต่การปรับปรุงดินของชาวบ้านในพื้นที่นี้ยังคงยึดวิธีตามภูมิปัญญาดั้งเดิมด้วยการใช้จอมปลวกที่มีในที่ดินแปลงนั้นมาโรยทับหน้าดินหนาประมาณ 10-15 เซนติเมตร คุณสมบัติจอมปลวกมีโพแทสเซียมที่เกิดจากน้ำลายปลวกและจุลินทรีย์หลายชนิด

คุณสุคนธ์ กุษาเดช (ซ้าย) กับ คุณอัครพล แสงอรุณ นักวิชาการ สนก.กันทรารมย์ (ขวา)

เมื่อตีแปลงเรียบร้อยให้ใส่โดโลไมท์ (ที่ได้รับรองใช้ในการปลูกพืชอินทรีย์) จำนวน 200 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วไถกลบ ทิ้งไว้ 15 วัน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เป็นขี้เค้กที่ได้รับรองเช่นกันลงในแปลงจำนวน 400-600 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วไถปั่นอีก จากนั้น 3-4 สัปดาห์จึงเตรียมขึ้นแปลงพร้อมกำจัดวัชพืชออกด้วย แล้วยกร่องกว้าง 2 เมตร ยาว 80 เมตร จำนวน 60 แปลง พริกที่ปลูกกลางแจ้งจะเริ่มปลูกปลายเดือนตุลาคม แล้วเก็บผลผลิตเพียงปีละครั้ง

การปลูกพริกในโรงเรือนสามารถให้ผลผลิตได้เกือบทั้งปีแล้วยังมีคุณภาพได้ปริมาณมากเพราะคุมโรคและแมลงศัตรูได้ แม้ต้องลงทุนโรงเรือนแต่คุ้มค่า พริกในโรงเรือนจะปลูกช่วงปลายฝนต้นหนาว โรงเรือนแต่ละหลังปลูกพริกได้จำนวน 720 ต้น ได้ผลผลิตเฉลี่ย 500 กิโลกรัมต่อโรง หรือประมาณ 3,000 กิโลกรัมทั้ง 6 โรง

พริกใหญ่สำหรับใช้แปรรูปซอส

คุณสุคนธ์ บอกว่า ก่อนเริ่มต้นปลูกพริกจะต้องปลูกหอมแดงกับกระเทียมก่อน ในระหว่าง 25 วันที่รอหอมแดงและกระเทียมโต ให้เตรียมต้นกล้าพริกพร้อมที่จะลงปลูกแซม เมื่อครบ 60 วันเก็บหอมแดงและกระเทียมออก ช่วงนั้นต้นพริกเป็นทรงพุ่มสูง แล้วให้กำจัดวัชพืชออกไปพร้อมกัน เมื่อพริกมีอายุ 90 วัน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อีกรอบทรงพุ่มจำนวน 4-5 กระสอบต่อไร่ ใส่ทุก 25 วัน โดยจะลดปริมาณปุ๋ยลงตามระยะเวลา ส่วนน้ำรด 2 วันต่อครั้ง ใช้ระบบสปริงเกลอร์ เมื่อเข้าเดือนที่ 4-5 พริกเริ่มแดงจึงทยอยเก็บ

นอกจากนั้น ในแปลงเดียวกันนี้ยังปลูกข่าเหลืองกับตะไคร้ไว้บริเวณขอบนอกแปลงโดยปลูกไว้พร้อมพริก สามารถตัดเก็บผลผลิตได้ในช่วง 9-12 เดือน

แปลงพริกอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน

ดังนั้น ภายหลังเก็บหอมแดงกับกระเทียมเสร็จ ตามด้วยเก็บพริก แล้วต่อด้วยข่าเหลืองกับตะไคร้ จึงทำให้การปลูกพืชในแปลงสร้างรายได้ตลอดทั้งปี ถือเป็นอาชีพที่มั่นคง คุณสุคนธ์ทำเกษตรกรรมแนวนี้มาตั้งแต่ปี 2545 ถือเป็นคนแรกที่บุกเบิกการปลูกพืชสมุนไพรผสมผสานที่ประสบความสำเร็จทำให้ได้รับรางวัลเกษตรกรยอดเยี่ยม

หลังจากเก็บผลผลิตพริกแล้วนำไปเด็ดก้าน คัดแยกคุณภาพ ผลผลิตของสมาชิกแต่ละรายจะส่งให้กลุ่มกับส่งให้โรงงานแปรรูปเพื่อผลิตเป็นซอสส่งขายทั้งในและต่างประเทศ โดยผ่านกระบวนการดูแลของคณะกรรมการกลุ่ม พริกที่ส่งเข้าโรงงานต้องได้ตามเกณฑ์ความสมบูรณ์ที่กำหนดทั้งขนาด สี ส่วนที่ไม่ได้ตามเกณฑ์จะนำไปตากแห้งในโรงงานของกลุ่ม

แปลงปลูกพริกกลางแจ้ง

คุณสุคนธ์ชี้ว่า แนวทางปลูกพริกอินทรีย์ต้องมีความรับผิดชอบสูง มีความเอาใจใส่และใกล้ชิดทุกขั้นตอน นอกจากจะใช้วัสดุปลูกตามมาตรฐานอินทรีย์ กระบวนการปลูกจะต้องมีมาตรฐานสอดคล้องกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิธีปลูก การดูแล ไปจนถึงการเก็บผลผลิตส่งเข้าโรงงาน ทั้งนี้ สมาชิกทุกคนต้องผ่านการอบรมเรียนรู้วิธีปลูกแบบอินทรีย์เพื่อให้ยึดถือเป็นแนวทางเดียวกันอย่างเคร่งครัด

“ดินต้องตรวจสอบคุณภาพก่อนปลูก แปลงปลูกต้องมีเขตแดนที่ปลอดภัย มีกำแพงตามธรรมชาติ รวมถึงคุณภาพน้ำ เมล็ดพันธุ์ที่ต้องซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่กำหนด ตลอดจนบริเวณพื้นที่ปลูกต้องสะอาด มีถังใส่ขยะ ผู้ปฏิบัติงานต้องรักษาความสะอาด”

ชั่งพริกเตรียมส่งเข้าโรงงาน

ก่อนมาปลูกพืชแบบอินทรีย์ คุณสุคนธ์ทำเกษตรกรรมแบบมีมาตรฐาน GAP มาก่อน จึงทำให้เข้าใจระบบการทำเกษตรแนวอินทรีย์ได้ไม่ยาก ส่วนเหตุผลที่เปลี่ยนมาเป็นแนวอินทรีย์นั้น คุณสุคนธ์ชี้ว่า แนวทางนี้มีคนทำน้อยเพราะมีความยุ่งยาก ละเอียด ต้องใช้ความอดทนมาก แต่ตลาดซื้อมีกว้างมากเช่นกัน เมื่อมีผู้ผลิตน้อย ตลาดต้องการมาก ส่งผลต่อราคาขายที่สูงกว่าพืชทั่วไป 3-4 เท่า

……………………………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ.2565