ผักนอกสายตา แต่ ราคาถูก (ใจ) เพาะถั่วงอกสร้างรายได้ ของยุวเกษตรกรตรัง

ถั่วงอก ต้นถั่วที่มีรากงอกจากเมล็ด เช่น ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วเหลือง (ถั่วงอกหัวโต) ถั่วลันเตา (โต้วเหมี่ยว) อายุเก็บเกี่ยวสั้น เป็นผักชนิดหนึ่งและมีคุณค่าทางอาหารสูง ได้แก่ โปรตีน วิตามินบี วิตามินซี ใยอาหาร เหล็ก และเกลือแร่ นอกจากนี้ ถั่วงอกยังมีแคลอรีต่ำอีกด้วย 

คุณครูสร้อยนัดดา ใจคง และ คุณครูวันชัย สันหยี สอนการติดตั้งระบบน้ำและอุปกรณ์ให้แก่สมาชิกยุวเกษตรกร

ถั่วงอกมักถูกมองข้าม เพราะบางคนก็เหม็นเขียวกลิ่นถั่วงอก ทั้งที่จริงๆ แล้วสรรพคุณของถั่วงอกนั้นไม่ใช่ย่อยเลย ดีต่อสุขภาพหลายประการ มีสรรพคุณมากมาย อาทิ

  1. มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง
  2. มีส่วนช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก ช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนได้
  3. วิตามินซีจากถั่วงอกเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างมากในการสร้างฮอร์โมนระงับความเครียดต่างๆ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนวัยทำงาน
  4. ช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน หรือโรคลักปิดลักเปิด
  5. ถั่วงอกเป็นผักที่ย่อยง่ายมากๆ การรับประทานถั่วงอกจะช่วยประหยัดเวลาการทำงานของระบบการย่อยอาหารได้ และทำให้ขับถ่ายได้สะดวก
  6. ช่วยในการขับปัสสาวะ
  7. ช่วยลดและกำจัดของเสีย หรือสิ่งตกค้างในร่างกายได้ (Toxin)
วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ

และอื่นๆ อีกนานัปการ ทั้งยังมีประโยชน์สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักเป็นพิเศษ เนื่องจากถั่วงอกมีน้ำตาลที่น้อยมากๆ ธาตุซิลิกาในถั่วงอกมีส่วนช่วยป้องกันการหลุดร่วงของเส้นผมได้เป็นอย่างดี

หน้าตาของถังเพาะถั่วงอกระบบการให้น้ำอัตโนมัติ

คุณครูสร้อยนัดดา ใจคง และ คุณครูวันชัย สันหยี ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านทุ่งขี้เหล็ก หมู่ที่ 6 ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เล่าว่า สืบเนื่องมาจากการประกวดโครงงานของนักเรียนในโรงเรียน ที่มองเห็นถึงความสำคัญของถั่วงอก ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวันในโรงเรียน นักเรียนเป็นผู้คิดริเริ่มในการปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะถั่วงอกแบบเดิมๆ เพราะประสบปัญหาเกี่ยวกับวัสดุซับน้ำที่ใช้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาระบบการให้น้ำถั่วงอกอัตโนมัติ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สู่กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านทุ่งขี้เหล็ก ณ ปัจจุบัน

ผลผลิตที่ได้ ประหยัดแรงงานและเวลา หน้าตาสวยงาม

ในการเพาะถั่วงอกนั้นปกติจะใช้กระสอบป่านเป็นวัสดุซับน้ำ เพราะสามารถดูดซับน้ำได้ดีส่งผลให้เมล็ดถั่วน้อยๆ เติบโตกลายเป็นถั่วงอกได้ แต่เมื่อใช้ซ้ำกันหลายๆ ครั้ง หากซักทำความสะอาดไม่ดีจะก่อให้เกิดเชื้อรา ส่งผลเสียหายต่อผลผลิต ทั้งยังเสียเวลาในการซักด้วย แนวคิดหลักของเด็กๆ คือ ปัจจัยหลักในการเพาะถั่วงอกคือความชื้น หรือน้ำนั่นเอง ทำอย่างไรให้ความชื้นเพียงพอ ลดเวลาในการรดน้ำ สะดวก ไม่เกิดเชื้อรา อัตโนมัติคือคำตอบของเด็กๆ ระบบการให้น้ำถั่วงอกอัตโนมัติ จึงเกิดขึ้น ณ โรงเรียนบ้านทุ่งขี้เหล็ก อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง

คนละไม้คนละมือช่วยกันเพาะ

วัสดุอุปกรณ์ เริ่มต้นครั้งแรกใช้เงินลงทุนไม่เกิน 2,000 บาท ประกอบไปด้วย

  1. ถังพลาสติกสีดำมีฝาปิด
  2. กะละมัง
  3. ปั๊มน้ำ
  4. หัวสปริงเกลอร์
  5. สายยาง
  6. ตะแกรงตาข่ายพลาสติก
  7. เคเบิ้ลไทร์
  8. ท่อพีวีซี
  9. ข้องอ 90 องศา
  10. ไทม์เมอร์
ช่วยกันตัดรากถั่วงอกที่เพาะ

โดยจะตั้งเวลารดน้ำทุก 1 ชั่วโมง นานครั้งละ 20 นาที เว้น 1 ชั่วโมง ใช้เวลาแค่ 3-5 วัน ก็จะได้ถั่วงอกสีขาวหน้าตาน่ารับประทานแล้ว

ซึ่งถั่วเขียว 1 กิโลกรัม เพาะได้ถั่วงอก 5-6 กิโลกรัม ทางกลุ่มยุวเกษตรกรจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 25 บาท ยอดการจำหน่ายต่อสัปดาห์ประมาณ 1,200-1,500 บาท (เพาะได้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์) ซึ่งผลผลิตที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ที่มีทั้งตลาดชุมชนและร้านอาหารที่สั่งจองกันล่วงหน้า เพราะถั่วงอกของเด็กๆ ปลอดภัย สะอาด สด

คุณครูสร้อยนัดดา ใจคง

จากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวของสมาชิกยุวเกษตรกรภายใต้การดูแลของครูที่ปรึกษา การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งขี้เหล็ก และความร่วมมือของสำนักงานเกษตรอำเภอสิเกา และสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง ได้ขยายผลการใช้นวัตกรรมดังกล่าวไปยังกลุ่มยุวเกษตรกรภายในจังหวัดที่มีความสนใจแล้วจำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านควนยาง อำเภอย่านตาขาว และกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนวัดเชี่ยวชาญกิจ อำเภอเมืองตรัง นอกจากจะเป็นการขยายผลแล้วยังเป็นการสร้างเครือข่ายให้แก่กลุ่มยุวเกษตรกรอีกด้วย

เห็นไหมล่ะว่า ถั่วงอกเป็นได้มากกว่าผักที่ใส่ในก๋วยเตี๋ยว แต่ยังสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และสร้างเครือข่ายได้อีกเยอะเลย

ผอ.จินทนา เหมะรักษ์

หากท่านใดสนใจจะเรียนรู้วิธีการติดตั้งระบบและอุปกรณ์ไว้ปลูกเองถั่วงอกเอง หรือจะสนับสนุนผลผลิตจากสมาชิกยุวเกษตรกร ติดต่อได้ที่ ผอ.จินทนา เหมะรักษ์ เบอร์โทร. 081-088-4439 และ คุณครูสร้อยนัดดา ใจคง เบอร์โทร. 089-464-9737

……………………………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354