ห้วยทรายโมเดล วิสาหกิจชุมชน จ.สุราษฎร์ธานี ต้นแบบเกษตรแปรรูปครบวงจร

นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลสำเร็จการดำเนินงานของ วิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยทราย หมู่ที่ 3 ตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นกลุ่มต้นแบบในการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มีศักยภาพการผลิตในพื้นที่ และบริหารจัดการกลุ่มอย่างเป็นระบบ ดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรอย่างครบวงจร ภายใต้แนวคิด “อยู่ดี มีสุข ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้และมีเงินออม” โดยในปี 2564 ได้รับรางวัลชมเชยการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับประเทศ จากคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร

ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยทราย บริหารจัดการกลุ่มในรูปแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด มีเกษตรกรสมาชิก รวม 226 ราย เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2559 โดยมี นายกิตติศักดิ์ นาคกุล เป็นประธานกลุ่ม

ปัจจุบัน ทางกลุ่มมีกิจกรรมด้านการเกษตรและอื่นๆ ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจำนวน 11 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โรงสีชุมชน โรงน้ำดื่มชุมชน กลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร กลุ่มเลี้ยงผึ้ง กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มน้ำยางสด กลุ่มเลี้ยงกบ กลุ่มปุ๋ยหมัก กลุ่มปุ๋ยสั่งตัด และกลุ่มเลี้ยงปลาน้ำจืด ซึ่งสมาชิกจะกระจายอยู่ในกลุ่มต่างๆ ตามความถนัดและพื้นที่ของตนเอง โดยกิจกรรมที่มีความโดดเด่น สร้างรายได้ดี และประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม มีดังนี้

กลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า จำหน่ายเห็ดสดและแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นข้าวเกรียบเห็ดนางฟ้า ใน 1 ปี สามารถปลูกเห็ดได้ 4 รอบ ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 75 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 700 กิโลกรัม/รอบการผลิต ราคาเห็ดสดเฉลี่ย 50 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรจำหน่ายให้พ่อค้าภายในจังหวัดเพื่อส่งไปยังจังหวัดภูเก็ต เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 140,000 บาท/คน/ปี หรือคิดเป็นรายได้รวมของกลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้าอยู่ที่ 560,000 บาท/ปี

กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์สบู่น้ำผึ้ง เกษตรกรรับน้ำผึ้งมาจากกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งแล้วนำมาแปรรูปเป็นสบู่ ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 60 จำหน่ายให้ผู้มาศึกษาดูงานและผลิตตามคำสั่งซื้อ ส่วนร้อยละ 40 จำหน่ายทางออนไลน์ผ่าน Facebook และ Line ของเกษตรกรเอง ราคาขายอยู่ที่ 59 บาท/ก้อน เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 35,400 บาท/คน/ปี หรือคิดเป็นรายได้รวมของกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์สบู่น้ำผึ้งอยู่ที่ 212,400 บาท/ปี

และ กลุ่มเพาะเลี้ยงและแปรรูปปลาเม็ง ภายใต้การรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปลาเม็ง ตำบลทรัพย์ทวี เกษตรกรจะซื้อลูกพันธุ์มาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี ในราคาตัวละ 2 บาท ใน 1 ปี สามารถเลี้ยงปลาเม็งได้ 2 รุ่น ซึ่งในแต่ละรุ่นจะเลี้ยงประมาณ 500 ตัว โดยใช้อาหารปลาดุกสำเร็จรูป ปลาเม็งใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 18 เดือน เมื่อได้น้ำหนักตามมาตรฐานแล้วจึงจับขายหรือนำมาแปรรูปเป็นต้มโคล้งปลาเม็ง ยำปลาเม็งกึ่งสำเร็จรูปบรรจุกล่อง ส่งจำหน่ายให้แก่ผู้รวบรวมและตลาดในพื้นที่ และจำหน่ายผ่านเพจ “ปลาเม็งสุราษฎร์ธานี” และ “ปลาเม็ง Pla Meng” เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 16,000 บาท/คน/ปี ทั้งนี้ หากคิดเป็นรายได้รวมทั้ง 11 กลุ่ม จะเฉลี่ยอยู่ที่ 4.67 ล้านบาท/ปี

หากท่านในสนใจข้อมูลและผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยทราย หรือต้องการขอคำปรึกษา ศึกษาดูงาน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายกิตติศักดิ์ นาคกุล ประธานกลุ่ม โทร. 089-973-1779


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354