หลักการสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน สู้ภัยแล้ง

ระบบธนาคารน้ำใต้ดิน คือ อะไร

ระบบธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater Bank) คือ การบริหารจัดการน้ำในลักษณะการใช้น้ำบนดิน ผิวดิน และน้ำฝน ที่ตกลงมาด้วยการนำหลักการเติมน้ำลงใต้ดิน เป็นการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ราบ หรือพื้นที่ลุ่มมีน้ำขัง เมื่อน้ำไหลมารวมกันปริมาณมากๆ ในฤดูน้ำหลาก ต้องทำบ่อเก็บน้ำ เพื่อการส่งน้ำลงใต้ดิน ให้ขุดบ่อถึงชั้นหินอุ้มน้ำ ทำให้มีน้ำจำนวนมากเก็บไว้ใต้ดิน

เป็นกรณีศึกษา การบริหารจัดการน้ำในระดับท้องถิ่นจะมีลำราง ร่องน้ำและคลองเล็กๆ เป็นแหล่งน้ำของหมู่บ้านและเป็นต้นน้ำที่ทำให้เกิดลำห้วย หลายๆ สาย เมื่อฝนตกน้ำฝนทั้งหมดในหมู่บ้านจะไหลรวมกันที่ลำราง ร่องน้ำหรือคลองเล็กๆ ลำรางทุกลำรางเป็นสาขาย่อยของลำห้วยการเก็บน้ำไว้ที่ต้นน้ำทุกลำรางด้วยการทำ “ฝายหยุดน้ำ (Nitessatsanakoon Ground water dams)” เพื่อการส่งน้ำไว้ใต้ดินถึงชั้นหินอุ้มน้ำ (Aquifer) จะทำให้พื้นที่ในหมู่บ้านต้นน้ำไม่เกิดความแห้งแล้ง กลางน้ำและปลายน้ำไม่เกิดน้ำท่วมเมื่อน้ำหลากจากผลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ น้ำผิวดินและน้ำใต้ดินถึงชั้นหินอุ้มน้ำเกิดขึ้นทุกลำราง ลำห้วยจะมีน้ำเต็มตลิ่งตลอดฤดูกาลครบรอบ 12 เดือน

ตัวอย่างการขุดบ่อ 3 บ่อ 1.สระรับน้ำ 2.สระพักน้ำ 3.สระส่งน้ำ

โดยมีการกักเก็บน้ำทั้งหมด 2 ระบบ

1.ระบบเปิด เป็นการขุดลอกลำห้วยและหนองน้ำและเพิ่มเทคนิคในการเติมน้ำลงใต้ดิน เพื่อกักเก็บไว้ใช้ได้ทั้งตำบล

2.ระบบปิด ทำไว้บริหารจัดการน้ำในที่ล้างถ้วยชาม น้ำจากห้องน้ำและน้ำฝนที่ตกลงชายคา เป็นแนวทางการแก้ปัญหาน้ำขัง ก่อเกิดเชื้อโรคและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะไข้เลือดออก

ขั้นตอนการทำธนาคารน้ำใต้ดินแบบระบบเปิด

1.การสร้างบ่อเติมน้ำธนาคารน้ำใต้ดินมีหลายรูปแบบด้วยกัน ขึ้นอยู่กับสภาพทางภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ว่าจะเหมาะกับบ่อแบบไหน หลักการขั้นพื้นฐานคือ ต้องสำรวจและคัดเลือกพื้นที่แหล่งรวมน้ำ เช่น การขุดลำห้วยเป็นบ่อเติมน้ำหลัก ออกแบบให้มีการทำฝายทดน้ำหรือทำพนังกั้นน้ำเป็นช่วงๆ

บ่อที่ 1 เป็นบ่อรับน้ำ เป็นบ่อแรกที่รับน้ำปริมาณมหาศาลที่ไหลมาจากทั่วทุกทิศ เรียกว่าบ่อตกตะกอนที่แยกของแข็งหรือกลุ่มตะกอนออกจากของเหลว โดยใช้หลักเคลื่อนที่ทางวิทยาศาสตร์และแรงโน้มถ่วงของโลก และบ่อนี้ยังช่วยลดความเร็วความแรงของน้ำ ลดปัญหาน้ำท่วมขังฉับพลัน ลดความเสียหายทางโครงสร้างพื้นฐาน ยังช่วยให้คุณภาพน้ำดีขึ้น เป็นกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำต้นทางก่อนลงสู่บ่อเติมน้ำลงใต้ดิน ขนาดของบ่อตกตะกอนนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำฝนต้นทุนหรือแหล่งน้ำต้นทางเข้าสู่

บ่อที่ 2 บ่อพักน้ำ

บ่อที่ 3 บ่อเติมน้ำลงใต้ดิน (Ground water Recharge) คือเป็นบ่อหลัก บ่อแรกที่ใช้เติมน้ำลงสู่ชั้นใต้ดินหรือการระบายน้ำลึกการซึมลึกเป็นกระบวนการทางอุทกวิทยา เป็นกระบวนการทำให้น้ำมีน้ำหนัก ทำให้น้ำเลื่อนลงมาจากผิวดินลงสู่น้ำบาดาล และที่ขาดไม่ได้เลยคือ บ่อลมหรือบ่อเครือข่าย คือบ่อที่ช่วยเปิดอากาศและยังช่วยสร้างทิศทางการไหลของน้ำใต้ดิน บ่อนี้เป็นบ่อที่นำน้ำจากบ่อเติมน้ำลงใต้ดิน (บ่อหลัก) มาหาบ่อลมเป็นการดึงน้ำมาจากบ่อเติมน้ำเป็นบ่อหลักเหมือนการวางท่อน้ำตามธรรมชาติ (น้ำใต้ดินอากาศเป็นตัวนำพา เปรียบคล้ายการเจาะเปิดกระป๋องนมข้นหวาน เจาะรูเดียวแล้วเทออกยากที่จะไหล แต่พอเจาะอีกหนึ่งรูนมข้นหวานไหลออกทันที) ซึ่งกระบวนการที่ทำบ่อเติมน้ำทั้งบ่อตกตะกอน (บ่อพักน้ำ) บ่อรับน้ำ บ่อส่งน้ำลงใต้ดินและบ่อลม การวางตำแหน่งบ่อนั้นเป็นบ่อที่น้ำไหลรวมกันทั้งหมดและระยะห่างกันไม่เกิน 1.5 กิโลเมตร และความลึกแล้วแต่บริบทของพื้นที่ ขอให้ถึงหินซับน้ำ หินอุ้มน้ำ  (Aquifer)

2.หลักการเติมน้ำใต้ดิน ใช้พื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่ หรือบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพิ่มเทคนิคด้วยการเจาะสะดือให้ลึก เฉลี่ยประมาณ 7 เมตร ขึ้นไป หรือตามแต่ลักษณะบริบทของพื้นที่ ต้องเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกและบ่อเติมน้ำต้องเป็นแหล่งรวมน้ำ ไม่มีขอบบ่อเพื่อเพิ่มพลังในการอัดน้ำลงสู่บ่อเติมน้ำและน้ำในบ่อเติมน้ำใต้ดินดังกล่าวจะซึมลงสู่ชั้นหินอุ้มน้ำ ซึ่งพบว่า ระดับน้ำใต้ดินจากเดิมอยู่ที่ความลึกประมาณ 8 เมตร ปัจจุบัน ระดับน้ำใต้ดินเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4 เมตร การทำระบบเปิดแบบนี้ต้องใช้งบประมาณมากพอสมควร ยากแก่การบริหารจัดการ ชาวบ้านมีเงินมากพอสามารถทำได้หรือไม่ ก็ทำโครงการขอรับการสนับสนุนจาก อบต. เทศบาล หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบใกล้ประชาชนมากที่สุด

การวางตำแหน่งธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบเปิด และบ่อลม

รูปแบบการขุดสระ

แบบที่ 1 บ่อธนาคารน้ำใต้ดินแบบทรงกรวย และทรงกลม เหมาะสำหรับพื้นที่มีน้ำเค็ม น้ำสนิม น้ำกร่อย ช่วยในการป้องกันการทลายของหน้าดิน ช่วยให้น้ำฝนไหลลงด้านล่างแรงขึ้น ช่วยให้น้ำกระจายได้ง่ายขึ้น

แบบที่ 2 บ่อธนาคารน้ำใต้ดินแบบสี่เหลี่ยมขุดในพื้นที่ไม่มีปัญหาน้ำเค็ม น้ำจืด

วิธีการนำน้ำขึ้นมาใช้ ชาวบ้านสามารถเจาะบ่อบาดาลสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ตลอดทั้งปีและใช้พลังงานสะอาด

รูปแบบบ่อธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด

ขั้นตอนการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด

ระบบปิด ชาวบ้านทั่วไปสามารถทำธนาคารน้ำระบบปิดไว้ใช้ในครัวเรือนได้ โดยมีต้นทุนการทำเพียงหลักพันบาทหรือไม่ใช้เลยถ้ามีวัสดุเอง โดยใช้หลักการง่ายๆ มีน้ำท่วมขังตรงไหน ให้ขุดทำตรงนั้น ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคและยุงลายเป็นพาหะโรคไข้เลือดออก และยังช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในบริเวณที่อยู่อาศัย เป็นการบริหารจัดการน้ำที่ต้นทางหรือหาแหล่งที่อยู่ให้กับน้ำในพื้นที่อยู่อาศัยของตน ไม่ให้เป็นภาระของคนอื่นๆ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างสุขภาวะในชุมชนให้ดีอีกด้วย ขั้นตอนการทำเลือกพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ขุดลึกลงไป 1.5-2 เมตร ให้เจาะสะดือเพิ่มลึกลงไปอีก 50 เซนติเมตร แล้วใส่หิน 3/4 หรือหินกรวดลงไป ชั้นที่ 1 และวางท่อ พีวีซี ขนาด 2 นิ้ว ลงไป จากนั้นใส่หิน ชั้นที่ 2 ใส่หินลิบแลบหรือเศษอิฐ ขนาด 15-20 เซนติเมตร (1 เมตร) ชั้นที่ 3 ก้อนอีเอ็ม 70 เซนติเมตร ชั้นที่ 4 ถ่าน 20 เซนติเมตร ชั้นที่ 5 จีโอเท็กซ์ไทล์ หรือผ้าทุ้ง ชั้นที่ 6 หิน 3/4 หรือหินกรวดหนา 10 เซนติเมตร

(ถ้าบริเวณที่อยู่อาศัยเป็นดินเหนียว ส่วนมากน้ำไม่ซึม ให้ขุดเพิ่มอีก 1 บ่อ ขนาด 1+1 เมตร เพื่อเพิ่มช่องอากาศในการซึมของน้ำอีกทาง)

รูปแบบบ่อธนาคารน้ำใต้ดินแบบทรงสี่เหลี่ยม

ขอเชิญร่วมฟังเวทีเสวนา ในหัวข้อ ความยั่งยืนด้านน้ำด้วยวิทยาศาสตร์ จากระดับโลกสู่ระดับท้องถิ่น (Thai & Eng) “Global to Local: Sustainability of Water by Science” ในวันที่ 30 กันยายน 2565 ที่งาน SX 2022 จัดระหว่างวันที่ 26 กันยายน- 2 ตุลาคม 2565 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354