เกษตรกรยะลา ทำเกษตรอินทรีย์ เน้นปลูกพืชผสมผสาน มีรายได้ตลอดปี

ยะลา เป็นจังหวัดทางทิศใต้ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ภูมิภาคนี้มีสภาพอากาศแบบร้อนชื้น มีด้วยกัน 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม และช่วงฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ การทำเกษตรกรรมของเกษตรกรในพื้นที่มีการปลูกพืชหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะการทำสวนมะพร้าว สวนยางพารา การปลูกทุเรียนก็ได้ผลผลิตที่ดีด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่การเลี้ยงสัตว์เองก็ถือว่าสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

คุณอิสมาแอล ลาเต๊ะ
ผักกวางตุ้งปลูกลงดินแบบอินทรีย์

สำหรับการทำเกษตรผสมผสานเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เกษตรในพื้นที่กำลังให้ความสนใจ เพราะนอกจากจะทดแทนในเรื่องของราคาผลผลิตทางการเกษตรจำพวกพืชเชิงเดี่ยวราคาตก ยังสามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปีจากการทำเกษตรผสมผสาน ซึ่ง คุณอิสมาแอล   ลาเต๊ะ อยู่บ้านเลขที่ 27/2 หมู่ที่ 5 ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ตัดสินใจหันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยการปลูกพืชผักสวนครัวและ ไม้ผลยืนต้น เพื่อให้เกิดรายได้เป็นเงินหมุนเวียน เพื่อที่จะได้นำผลกำไรไปลงทุนในการทำเกษตรด้านอื่นๆ ต่อไป

พืชที่ปลูกแบบมีโรงเรือนคลุม

 

จากอดีตครู  ผันชีวิตมาทำเกษตร

คุณอิสมาแอล เล่าให้ฟังว่า เดิมทีเป็นครูลูกจ้างอยู่ประมาณ 20 ปี เมื่อถึงจุดที่อิ่มตัวจึงได้ลาออกมาทำเกษตร ซึ่งแรงจูงใจที่ผันตัวมาทำเกษตรในครั้งนี้ เกิดจากการที่อยากมีอาชีพเป็นนายตัวเอง มีอิสระทางสร้างรายได้ที่ทำอยู่กับบ้าน หลังจากปี 2560 จึงดำเนินการทำเกษตรอย่างเต็มตัว โดยเน้นทำเกษตรผสมผสานเป็นหลัก มีตั้งแต่การปลูกไม้ผลและพืชผักสวนครัวปลูกสลับกันไป

พื้นที่ภายในสวน

“พอมาทำเกษตรอย่างเต็มตัว ผมอยากจะเน้นเป็นเกษตรผสมผสาน เพื่อกระจายความเสี่ยงของรายได้ พอทำแล้วประสบผลสำเร็จ ด้วยความที่เราเป็นครูมาก่อน ก็เลยอยากจะให้สวนแห่งนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนมาศึกษาดูงาน ต่อมาผมก็ได้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตร ให้นักเรียนทุกระดับชั้น หรือประชาชนทั่วไปที่สนใจ ได้เข้ามาศึกษาดูงาน เพราะอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราทำ และนำไปต่อยอดสร้างเป็นอาชีพได้” คุณอิสมาแอล บอก

ผักสลัดกรีนโอ๊ค

ในช่วงแรกที่ทำการเกษตรใหม่ๆ ยังเน้นเป็นการทำเกษตรปลูกพืชแบบทั่วไป ต่อมาเมื่อศึกษาในเรื่องของความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มตลาดลูกค้ารักสุขภาพ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาทำเป็นเกษตรอินทรีย์ เพราะมองว่าในเรื่องของราคาจำหน่ายสามารถได้ราคาดีกว่าการทำเกษตรแบบทั่วไป

ผักที่ปลูกแบบยกสูงบนโต๊ะ

 

สมัครเป็นหมอดินอาสา ช่วยต่อยอดการทำเกษตรได้ดี  

คุณอิสมาแอล เล่าต่อว่า จากที่ได้เป็นอาสาสมัครหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน ทำให้เขาได้เรียนรู้ในเรื่องของการจัดการดินมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการผสมดินใช้ภายในสวน จากดินที่ไม่มีอินทรียวัตถุก็ปรับปรุงบำรุงให้มีธาตุอาหารที่พืชต้องการ จากพื้นที่ที่มีสภาพดินไม่ดีเมื่อได้นำองค์ความรู้จากการเป็นหมอดินอาสามาใช้ จึงทำให้สภาพดินภายในสวนของเขาดีขึ้นและสามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิด

ผักสวนครัวทำรายได้รายเดือน

โดยพืชที่ปลูกมีตั้งแต่พืชผักสวนครัวที่ปลูกลงดินและยกพื้นสูง ตลอดไปจนถึงปลูกไม้ผลอีกหลายชนิด หลักการปลูกพืชจะดูความต้องการของตลาดเป็นหลัก หรือที่เรียกว่าตลาดนำการผลิตเข้ามาใช้ จึงทำให้สินค้าทั้งหมดที่ปลูกภายในสวนจำหน่ายได้ทุกชนิด

เตรียมแปลงก่อนปลูกผักครั้งถัดไป

“จังหวัดยะลา ลูกค้าส่วนใหญ่ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพเป็นอย่างมาก จึงทำให้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ค่อนข้างเป็นที่ต้องการ ผมจึงได้เริ่มต้นมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ซึ่งผักกินใบอย่างผักสลัด เช่น ผักสลัดกรีนโอ๊ค ผักสลัดเรดโอ๊ค และอีกหลายๆ ตัว เป็นสินค้าที่ขายดีมาก ส่วนผักสวนครัวอย่างผักบุ้ง แตงกวา คะน้า กวางตุ้งผมก็ปลูก เรียกได้ว่าเกษตรผสมผสาน ตอบโจทย์ในเรื่องของการทำรายได้เป็นอย่างมาก” คุณอิสมาแอล บอก

ต้นกล้าผักสลัดที่เพาะไว้

สำหรับการเตรียมแปลงปลูกผักให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว จะเตรียมแปลงปลูกใหม่ด้วยการโรยปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อและตากแปลงทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นนำมูลสัตว์เข้ามาผสมภายในแปลงปลูก พร้อมทั้งวัดค่า pH ของดินอยู่เสมอ เมื่อแปลงปลูกมีความพร้อมสำหรับปลูกแล้ว จึงนำต้นกล้าที่เพาะไว้มาลงปลูกภายในแปลงปลูกได้ทันที จากนั้นดูแลรดน้ำไปจนผักได้อายุ 30-45 วัน ซึ่งผักแต่ละชนิดก็มีอายุเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกันไป เมื่อครบอายุที่กำหนดสามารถเก็บเกี่ยวจำหน่ายได้ทันที

ผักสลัดบัตเตอร์เฮด

การกำจัดแมลงศัตรูพืชและโรคพืชที่อยู่ในแปลงผักนั้น คุณอิสมาแอล บอกว่า ได้มีการทำ      น้ำหมักสำหรับไล่แมลงไว้ใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นน้ำหมักจากใบสะเดา ใบขี้เหล็ก หรือบางช่วงก็มี การใช้สารชีวภัณฑ์เข้ามาช่วย อาทิ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เชื้อราบิวเวอเรีย ถือเป็นสารชีวภัณฑ์ที่นอกจากช่วยประหยัดต้นทุนแล้ว ยังปลอดภัยทั้งกับผู้ปลูกไปจนถึงผู้บริโภคอีกด้วย

ไม้ผลสร้างรายได้รายปี

 

เกษตรผสมผสาน ช่วยเกิดรายได้ตลอดปี

เมื่อมาลงมือทำเกษตรผสมผสานเป็นเกษตรที่ปลอดภัย คุณอิสมาแอล บอกว่า ในเรื่องของช่องทางการสร้างรายได้ตอบโจทย์เป็นอย่างมาก เพราะพืชผักสวนครัวอย่างพืชกินใบเมื่อปลูกตามแผนที่ผลิต สามารถเก็บจำหน่ายเป็นรายได้รายวัน ส่วนพืชผักที่ใช้เวลาอย่างแตงกวาและถั่วฝักยาวใช้เวลาปลูกมากกว่า ก็สามารถเก็บผลผลิตสร้างเป็นรายได้รายเดือน และผลผลิตออกตามฤดูกาลอย่างไม้ผลต่างๆ สร้างเป็นรายได้รายปี

ผักกวางตุ้งปลูกลงดินแบบอินทรีย์

โดยราคาที่จำหน่ายผลผลิตภายในสวนทั้งหมด ราคาก็จะแตกต่างไปจากปลูกพืชไม่อินทรีย์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ผักอินทรีย์มีราคาจำหน่ายที่สูงกว่าพืชผักทั่วไป เพราะผักที่ผลิตปลอดภัยมีมาตรฐานรองรับในเรื่องของคุณภาพ จึงทำให้ลูกค้ามั่นใจ อย่างเช่น ผักสลัดอินทรีย์ราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท และพืชผักสวนครัวทั่วไปที่ไม่ใช่ผักสลัดราคาก็สูงขึ้นกว่าผักทั่วไปเล็กน้อย

สอนการปลูกพืชให้ผู้สนใจ

“ลูกค้าที่มีความรู้ในเรื่องของการปลูกผักอินทรีย์ เขาก็จะเข้าใจราคาขายว่าราคาจะสูงกว่าผักทั่วไป พอยิ่งมาทำการเกษตรที่ปลอดภัย ก็ยิ่งเข้าใจว่าเรื่องสุขภาพนั้นสำคัญ เพราะฉะนั้นก็อยากจะฝากถึงคนที่สนใจ อยากจะเข้ามาทำการเกษตรว่า สิ่งแรกที่ต้องมองคือในเรื่องของการตลาด ต้องใช้ตลาดนำการผลิต แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดจะเป็นในเรื่องของใจรัก ต้องชอบที่อยากจะทำจริงๆ ก็อยากให้ถามใจตัวเองว่าอยากทำจริงไหม ถ้ารักจริงชอบจริงรับรองว่าประสบผลสำเร็จแน่นอน เพราะองค์ความรู้ต่างๆ มันจะตามมา และให้เรามองเห็นถึงความยั่งยืนที่ไม่ใช่การทำเพื่อกระแสเท่านั้น” คุณอิสมาแอล บอก

ผักสลัดกรีนโอ๊ค
ผลผลิตต่างๆ
ผักสลัดเรดโอ๊ค
ผักเคล

สำหรับท่านใดที่สนใจหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำเกษตรผสมผสาน หรือ   การทำเกษตรอินทรีย์ให้ได้ผลผลิตตามที่ตลาดต้องการ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณ  อิสมาแอล ลาเต๊ะ หมายเลขโทรศัพท์ 080-037-0794