สวนฝรั่งลุงเบิร์ด ชัยนาท การันตีด้วยมาตรฐาน GAP

“คุณเบิร์ด” หรือ คุณยุทธนา คามบุตร ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเจ้าพนักงานการเกษตร ศวพ.เพชรบูรณ์ มาเป็นเกษตรกรทำไร่ทำสวนอย่างเต็มตัว ปลูกฝรั่งพันธุ์กิมจู และฝรั่งพันธุ์หงเป่าสือ บนที่ดิน 3 ไร่ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ภายใต้แบรนด์ “สวนลุงเบิร์ด” มีรายได้เดือนละ 7,000-8,000 บาทตลอดทั้งปี

ผลฝรั่งพันธุ์หงเป่าสือ
คุณเบิร์ด ห่อผลฝรั่ง

 เกษตรกรรุ่นใหม่ (YSF) จังหวัดชัยนาท

“คุณเบิร์ด” วัย 33 ปี นับเป็นเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ของอำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ที่กลับมาสานต่ออาชีพทำไร่ของครอบครัว ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาหลายปี แต่ผลผลิตที่ได้ไม่แน่นอน เนื่องจากขาดการบริหารจัดการน้ำ จึงได้มีการนำความรู้ทางวิชาการ เทคนิควิธีการต่างๆ จากประสบการณ์ในการเรียน และการฝึกงานเกษตรที่ประเทศอิสราเอล ในโครงการจัดการเรียนการสอน พืชศาสตร์ ระบบทวิภาคี ไทย-อิสราเอล (ARAVA) นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้บริหารจัดการฟาร์มได้ดีขึ้น สามารถเพิ่มรอบการผลิตได้มากกว่าเดิม จึงได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำไร่ ระดับจังหวัดชัยนาท ประจำปี 2565

ดอกฝรั่งพันธุ์กิมจู

นอกจากนี้ คุณเบิร์ด ยังเข้าร่วมโครงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer : YSF) ของจังหวัดชัยนาท ได้แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการเกษตรกับเกษตรกรในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียง มีเข้ารับการอบรมเรื่องการจัดทำสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์กิจกรรมการเกษตรของตนเอง และเครือข่าย

เนื่องจากการทำไร่มีความเสี่ยงเรื่องฟ้าฝน หลังหมดฤดูเก็บเกี่ยวพืชไร่ไม่มีรายได้เข้ามา คุณเบิร์ดจึงตัดสินใจปลูกฝรั่ง เพราะเป็นไม้ผลที่สร้างรายได้ตลอดทั้งปี โดยศึกษาดูงานสวนฝรั่งของเพื่อน YSF ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนำความรู้มาใช้ลงทุนทำสวนฝรั่งกิมจู ที่จังหวัดชัยนาท จนประสบความสำเร็จ สร้างอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้ตลอดทั้งปี

ผลฝรั่งมีขนาดเท่าลูกมะนาว ก็เริ่มห่อผลได้แล้ว

 

การปลูกฝรั่ง

Advertisement

คุณเบิร์ด ปลูกฝรั่งพันธุ์กิมจู บนเนื้อที่ 2 ไร่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว ข้างล่างเป็นทางน้ำไหลผ่าน จึงยกร่องลูกฟูก ไม่ให้น้ำขังในแปลงเพาะปลูก โดยปลูกต้นฝรั่งกิมจู 400 กว่าต้น ในระยะห่าง 3×3 เมตร คุณเบิร์ดทำการตัดแต่งกิ่งเป็น 3 รุ่นต่อปี โดยทำการตัดแต่งกิ่งแต่ละรุ่น ห่างกัน 3 สัปดาห์ หลังตัดยอดแล้วจะมียอดใหม่โผล่ขึ้นมา เริ่มติดดอก ดอกบาน และติดผลอ่อน หลังจากห่อผลประมาณ 2 เดือน จึงตัดผลออกมาขาย

กิ่งพันธุ์ฝรั่งหงเป่าสือ

กว่าจะมาเป็นฝรั่งที่แสนอร่อยให้ได้ทาน ตั้งแต่เริ่มเป็นดอกไปจนถึงเก็บผล ใช้เวลาเกือบ 4 เดือนเลยทีเดียว หลังจากเก็บผลผลิตหมดแล้ว ก็ทำความสะอาดแปลง ตัดแต่งกิ่ง เพื่อเตรียมห่อผลในรุ่นต่อไป เพื่อให้มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดตลอดทั้งปี ปัจจุบัน สวนแห่งนี้ผลิตฝรั่งกิมจู สด ใหม่ ปลอดภัย การันตีด้วยมาตรฐาน GAP ซึ่งใบรับรองมาตรฐาน GAP ไม่ใช่แค่เครื่องมือในการต่อรองราคา แต่เป็นเครื่องการันตีว่า ทุกกระบวนการผลิตมีคุณภาพและปลอดภัย สำหรับผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ผลิตอีกด้วย

Advertisement

 

การดูแลจัดการ

สำหรับการจัดการแปลงปลูกฝรั่งในช่วงฤดูแล้ง ใช้วิธีการห่มดินเพื่อรักษาความชื้นในดิน ซึ่งเทคนิคการห่มดินของคุณเบิร์ด ไม่ใช่แค่การนำใบไม้หรือเศษวัสดุที่เหลือจากการเกษตร มาคลุมที่โคนต้นไม้เพราะมีขั้นตอนมากกว่านั้น ขั้นแรก ตัดแต่งกิ่ง ก้านใบ กาบใบ ส่วนที่แห้งออกไปก่อน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลง ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกขึ้น

หลังจากตัดแต่งกิ่งแล้ว ทำการถากหญ้ารอบๆ โคนต้น และทำคันดินล้อมโคนต้นไม้ ความกว้างประมาณ 1.5 เมตร รอบโคนต้น เพื่อเป็นคันดินกักเก็บน้ำไม่ให้ไหลออกไปข้างนอกทรงพุ่ม หลังจากนั้น นำใบไม้หรือเศษวัสดุที่เหลือจากการเกษตรมาคลุมรอบๆ โคนต้นไม้ และรดน้ำให้ชุ่ม ซึ่งการคลุมดินนั้นจะช่วยลดการระเหยของน้ำได้มาก

คุณเบิร์ด หรือ คุณยุทธนา คามบุตร

คุณเบิร์ด ตระหนักดีว่า การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากจะปลอดภัยแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการใช้สารเคมีได้อีกทาง สวนฝรั่งแห่งนี้ จึงฉีดยาป้องกันเพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ ไรแดง แล้วเว้นไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนห่อผล เพื่อให้สารเคมีสลายตัวและไม่เกิดการตกค้างในผลฝรั่ง เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และก่อนฉีดยาจะทำการสำรวจในแปลงก่อน หากไม่เจอการระบาดของเพลี้ยต่างๆ ก็ไม่ฉีด เพื่อความประหยัดต้นทุน

คุณเบิร์ด บอกว่า การปลูกฝรั่งเพื่อทำผลนั้น มักพบปัญหาในฤดูฝนมากเป็นพิเศษ เนื่องจากปัญหาลมและฝนที่ตกแรง ทำให้กิ่งหักหรือต้นล้มได้ แถมรสชาติฝรั่งหวานน้อยกว่าปกติ เพราะต้นฝรั่งดูดน้ำเข้าไปมากในช่วงฝนตก ปุ๋ยสูตรเดิม (20-8-20) ที่ใช้เพิ่มความหวานได้น้อย จึงต้องใช้ปุ๋ยสูตร 12-6-30 ที่ให้ธาตุอาหารสูง ช่วยให้ความหวานเพิ่มขึ้นต่างจากเดิมค่อนข้างมาก

“ปกติฝรั่งของเรามีค่าความหวานอยู่ที่ 13-15 บริกซ์ แต่ความหวานสูงสุดที่เคยทำได้ คือ 19 บริกซ์ ซึ่งเกิดจากปัจจัยเรื่องการจัดการดิน น้ำ ปุ๋ย และฤดูกาล ช่วงปลายฝนต้นหนาวเป็นช่วงที่ฝรั่งรสชาติดีที่สุด โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ผลฝรั่งจะมีค่าความหวานดีที่สุด” คุณเบิร์ด กล่าว

วางระบบน้ำหยด

 

ด้านตลาด

ปัจจุบัน สวนลุงเบิร์ดจำหน่ายผลฝรั่งสด, น้ำฝรั่ง เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และกิ่งพันธุ์ฝรั่งผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ และตลาดในท้องถิ่น เช่น ตลาดนัดวัดเขาดิน อำเภอหนองมะโมง หน่วยงานราชการในจังหวัดชัยนาท เป็นต้น

ฝรั่งสวนลุงเบิร์ดไม่ได้มีแค่ความอร่อย แต่ใส่ใจในทุกกระบวนการผลิต คุณเบิร์ดมุ่งมั่น ตั้งใจผลิตฝรั่งดี มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ฝรั่งกิมจูและฝรั่งหงเป่าสือ ที่ตั้งใจปลูกดูแลรักษาให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ปลอดภัยกับลูกค้า การันตีด้วยมาตรฐาน GAP พร้อมส่งทั่วไทย คิดค่าส่งตามจริง

แปลงปลูกฝรั่งกิมจู

เนื่องจากฝรั่งเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องตลอดทั้งปี คุณเบิร์ดจึงขยายพื้นที่เพาะปลูกฝรั่งพันธุ์หงเป่าสือ จาก 1 งาน ขยายเป็น 2 ไร่ ปลูกเพิ่มเป็น 210 ต้น หงเป่าสือ เป็นฝรั่งไต้หวันไส้แดง ที่โดดเด่นเรื่องรสชาติที่จัดจ้านมาก เนื้อเยอะ เมล็ดน้อยจนแทบไร้เมล็ด มีรสชาติกรอบ รสหวานซ่อนเปรี้ยวแบบลงตัวมาก และที่สำคัญขายได้ราคาดี 120 บาท ต่อกิโลกรัม และในปี 2566 คุณเบิร์ดเตรียมเปิดขายสินค้าตัวใหม่ พุทราน้ำอ้อย เบอร์ 12 ซึ่งเป็นพุทราสายพันธุ์ไต้หวัน ผลดก ลูกใหญ่ รสชาติหวาน กลิ่นหอมเหมือนน้ำอ้อย ให้ลูกค้าได้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยกัน

ในระยะยาว คุณเบิร์ดตั้งเป้าหมายพัฒนาสวนแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพราะที่นี่ปลูกไม้ผลหลากหลายชนิด สามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกไม้ผลแต่ละชนิดรวมทั้งการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้แก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจได้เข้ามาชมและเลือกซื้อสินค้าต่างๆ เป็นของขวัญของฝาก รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจต่อยอดธุรกิจให้แก่เกษตรกรทั่วไปได้ในอนาคต

ภาพมุมสูงของแปลงฝรั่งกิมจูสวนลุงเบิร์ด
ผลฝรั่งพันธุ์กิมจู

หากใครสนใจสั่งซื้อสินค้า สวนลุงเบิร์ด หรืออยากเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการปลูกฝรั่งและการบริหารจัดการฟาร์มเกษตร ติดต่อ คุณเบิร์ด หรือ คุณยุทธนา คามบุตร ได้ที่ สวนลุงเบิร์ด บ้านเลขที่ หมู่ที่ 5 บ้านพุน้อย ตำบลสะพานหิน อำเภอหนองมะโมง ชัยนาท โทร. 097-462-5498 หรือติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของสวนลุงเบิร์ด ได้ทาง Facebook : Yutthana Khambut และเพจ Facebook สวนลุงเบิร์ด