ผักคราดหัวแหวน ผักเผ็ด รสเด็ดเป็นยา

ชีวิตชาวบ้านธรรมดาเป็นเรื่องปกติ ที่ผู้คนมักมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน วิเศษ วิจิตรพิสดารใดๆ คงเป็นเพราะมองเห็นกันแบบผิวเผิน แต่หากเรามองดูเจาะลึก จะพบกับความมหัศจรรย์ ความไม่ธรรมดา ที่แฝงตัวอยู่ในวิถีชีวิตชาวบ้าน เขาเหล่านั้นมีอะไรอีกมากมายที่ชวนสืบเสาะค้นหา เช่น ชีวิตการเผชิญภัยอันตราย จากความร้ายกาจ ของโรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่รุมล้อมรอบกาย เขาเอาชนะ และอยู่รอดมาได้อย่างไร หลายชีวิตให้คำตอบว่าเพราะ “มียาดี”

ตอนกลางดึกเมื่อหลายคืนก่อน อาการปวดฟันกำเริบ จะอาศัยยาแก้ปวดก็กลัวว่าจะเป็นการกินยาเพิ่มเข้าตัวไปอีก เพราะที่กินอยู่ก็หลายขนาน และท้องว่างแล้ว จึงเปิดไฟส่องเดินหาพืชสมุนไพรที่เคยรู้สรรพคุณ ให้ผลระงับบรรเทาปวดฟัน ก็ได้ “ผักคราดหัวแหวน” เอามาบดผสมเหล้าขาวเล็กน้อย วางอุดบนซี่ฟันที่ปวด และขบย้ำขยำนิดๆ ให้รู้สึกซ่านซ่า ชั่วประเดี๋ยวเดียวอาการปวดหายไป สบายเหงือกสบายฟัน หายปวด ถ้าปวดขึ้นมาอีก เราก็จะใช้ผักคราดหัวแหวน ที่นับเป็นยาดีระงับปวดอีก แล้วค่อยไปหาหมอรักษารากฟัน ในวันที่ไม่มีอาการปวดฟันแล้ว

ทำให้คิด ทฤษฎีร้อน-เย็น (Hot-Cold Theory) เป็นความเชื่อที่เกิดในยุคกรีกโบราณ ถูกแพร่หลายโดยพ่อค้าชาวอาหรับ และชาวสเปน และเป็นความเชื่อพื้นฐานของการแพทย์แบบดั้งเดิม ปัจจุบันแนวคิด และแนวปฏิบัติ ยึดถือปฏิบัติกันทั่วไปใน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย และแถบลาตินอเมริกา การแยกแยะว่าอาหารใดเป็นอาหารร้อน หรืออาหารเย็น ไม่ได้จำแนกตามลักษณะของอาหาร แต่พิจารณาจากการที่อาหารนั้นส่งผลให้แก่ร่างกาย อาหารร้อนมีฤทธิ์กระตุ้น เมื่อร่างกายรับไปจะรู้สึกร้อน อาหารเย็นมีฤทธิ์ยับยั้ง เมื่อกินเข้าไปร่างกายจะรู้สึกเย็น

ผักคราดหัวแหวน เป็นอาหารร้อน ถ้าสภาพอากาศเย็น ได้กินอาหารที่ปรุงด้วยผักคราด จะทำให้ร่างกายอบอุ่น เมื่อร่างกายอบอุ่น ธาตุในกายก็จะสมบูรณ์ ต้านทานโรคหรือภัยที่จะเกิดจากความหนาวเย็นได้ คนที่เกิดธาตุน้ำ และธาตุลมจะมีภัยผลกระทบมากกว่าธาตุอื่น ควรเลือกอาหารให้ถูกกับฤดูกาลหนาวเย็นจัด เช่น ในช่วงปลายมกราคมปีนี้ เย็นยะเยือกผิดปกติ ผักคราดหัวแหวน จะช่วยได้ นำมาปรุงอาหารได้หลายอย่าง ไม่ปรุงเป็นแกง ก็ลวกต้มจิ้มน้ำพริกยังได้เลย

ผักคราดหัวแหวน เป็นพืชในวงศ์ ASTERACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Acmella oleraceae (L) R.K.Jansen เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นยาว 20-50 เซนติเมตร อาจจะตั้งชูลำต้น หรือทอดเลื้อยไปตามดินแล้วจะชูยอดขึ้น เมื่อต้นแก่จะมีรากงอกตามข้อทุกข้อ ลำต้นค่อนข้างกลม อวบน้ำ สีเขียว อาจมีสีม่วงแดงปนเขียว ต้นอ่อนมีขนปกคลุมเล็กน้อย ใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน รูปสามเหลี่ยม หรือรูปไข่ หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ขอบใบหยักฟันเลื่อย แบบหยาบๆ ก้านใบยาว ผิวใบสาก และมีขน

ดอกเป็นช่อ ออกตามซอกก้านใบ หรือปลายยอด ดอกย่อยอัดเรียงเป็นกระจุกกลม    สีเหลือง คล้ายหัวแหวน หรือตุ้มหู ดอกย่อย มี 2 วง วงนอกเป็นดอกตัวเมีย วงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ชูตั้งตรงขึ้นโชว์ ผลเป็นผลแห้งรูปไข่ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หรือเด็ดต้นไปปักชำขยาย ออกราก ออกยอดใบได้ง่ายมาก เติบโตไว ชอบขึ้นที่ลุ่มชื้นแฉะ มีแสงมาก หรือแสงรำไร ก็อยู่รอด รูปต้นทรงใบอาจจะแตกต่างกันบ้าง ขึ้นกับดินฟ้าอากาศที่ปลูก แต่ให้สังเกตจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ คือ ดอกสีเหลืองที่เป็นตุ้มกลมๆ ดังหัวแหวนบนนิ้วนวลนาง หรือตุ้มหูที่งดงามส่งประกายข้างแก้มเปล่งปลั่งของนวลน้อง

“ผักคราดหัวแหวน” มีชื่อเรียกที่คุ้นหูทางภาคเหนือคือ ผักเผ็ด ผักเผ็ดน้อย หญ้าตุ้มหู อีสานเรียก ผักฮาด ภาคกลางเรียก ผักคราด หรือผักคราดหัวแหวน ภาคใต้เรียก ผักตุ้มหู ภาษาจีนเรียก โฮ่วซั้วเซ่า หรือ เทียนบุ่งเซ่า หรือ ฮึ้งฮวยเกี้ย เอกลักษณ์เฉพาะตัวของผักคราดหัวแหวน คือดอกที่มีสีเหลือง รูปกลมยอดแหลมคล้ายหัวแหวน ชูก้านดอกงดงาม ดอก ใบ ยอดมีรสเผ็ดร้อน แต่ก็มีพืชหลายอย่างที่มีลักษณะคล้ายกัน ต้องอาศัยประสบการณ์ หรือถามผู้รู้ ก่อนเลือกหามากินมาปลูก

ประโยชน์ทางอาหาร ผักคราด เป็นผักที่ชาวบ้านใช้ใบอ่อนยอดอ่อนรับประทาน ชาวเหนือชาวอีสาน ใช้เป็นผักสดแกล้มน้ำพริก ลาบ ยำ ก้อย แกงเผ็ด และปรุงอาหารเป็น แกงแค แกงอ่อมปลา แกงอ่อมกบ ชาวใต้นิยมแกงหอย แกงปลา เป็นผักปรุงแต่งอาหารได้ กลิ่น รส สีสัน ทำให้อาหารอร่อยมาก รสชาติเผ็ดร้อน ช่วยเจริญอาหาร  ช่วยระบบการย่อยอาหาร แต่แนะนำให้ว่าไม่ควรรับประทานสด หรือรับประทานมาก เพราะเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีสารออกซาเลตสูง เสี่ยงต่อการเป็นนิ่วได้ โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน จะทำให้แท้งลูกได้ ผักคราดหัวแหวน มีคุณค่าทางอาหารมากมาย ปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 32 กิโลแคลอรี เป็นน้ำ 89 กรัม คาร์โบไฮเดรต 7.1 กรัม โปรตีน 1.9 กรัม ไขมัน 0.3 กรัม แคลเซียม 162 มิลลิกรัม เหล็ก 4.0 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 41.0 มิลลิกรัม วิตามินเอ 3917 IU.วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม วิตามินซี 20 มิลลิกรัม

ตำราแพทย์ไทยบันทึกไว้ว่า ผักคราดหัวแหวน เป็นผักที่มีคุณค่าทางยา ต้นสดตำผสมเหล้า หรือน้ำส้มสายชู ดอกตำกับเกลือ ใช้อมแก้ฝีในลำคอ ต่อมน้ำลายอักเสบ หรือตำผสมเหล้าโรงชุบสำลีอุด แก้ปวดฟัน รักษาฝีในลำคอ ต่อมทอลซินอักเสบ คันคอ ดอกมีรสเผ็ด ชาลิ้น เป็นยาขับน้ำลาย รักษาโรคในลำคอ รักษาแผลในปาก ใช้อม เช่นเดียวกับใบ เอาใบมาเคี้ยว มีรสหวาน เอียน เบื่อเล็กน้อย ชาลิ้น รสเฝื่อนเล็กน้อย สรรพคุณแก้พิษตามทวาร แก้ริดสีดวง แก้ผอมเหลือง แก้เด็กตัวร้อน แก้เด็กท้องอืด ใช้เป็นยาผายลมเด็ก เด็กสำรอก แก้ไข้ ช่วยเจริญอาหาร ขับลม ช่วยย่อยอาหาร รักษาแผลพุพอง ตกเลือด มึนงง แก้ตาฝ้าฟาง ปวดหัว โลหิตเป็นพิษ ฝีดาษ อัมพาต ใช้ทั้งต้น มีรสเอียนเบื่อ แก้พิษซางตาลขโมย ริดสีดวง ผอมเหลือง บิด เลือดออกตามไรฟัน ใช้กวาดคอเด็กตัวร้อน ขับปัสสาวะ หอบ ไอ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปอดบวม ไอกรน ไขข้ออักเสบ ตับอักเสบ ดีซ่าน ตำพอกแก้พิษปวดบวมจากงู หรือสุนัขกัด ต้มน้ำดื่มแก้ปวดท้องหลังคลอด ช้ำใน ปวดสีข้าง ราก ใช้เคี้ยวแก้ปวดฟัน ต้มอมบ้วนปากแก้อักเสบ เจ็บคอ เป็นยาระบาย แก้ปวดหัว แก้คันผิวหนัง ผล ใช้แก้ร้อนใน เมล็ด ใช้เคี้ยวแก้ปากแห้ง ช่วยขับน้ำลาย และผักคราดหัวแหวน ยังมีประโยชน์อื่นๆ เช่น ตำทาแขนขา หรือเผาไฟกันยุงได้ดี ฆ่าตัวอ่อนยุง เมื่อสมัยก่อนใช้เบื่อปลา หาปลามาทำอาหารได้

จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ พบว่าช่อดอกผักคราดหัวแหวน และก้านดอกมีสาร Spilanthol ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ และสารสกัดผักคราดหัวแหวนด้วยแอลกอฮอล์ เปรียบเทียบกับยาชา Lidocaine จะออกฤทธิ์เร็วกว่า แต่ระยะเวลาออกฤทธิ์สั้นกว่า เป็นพืชสมุนไพรที่มีศักยภาพในการจะพัฒนาเป็นยาชารักษาอาการปวดฟันได้ ซึ่งจนกระทั่งถึงวันนี้ คงมีการสกัดสาร จากผักคราดหัวแหวน ไปเป็นส่วนผสมของยาชา หรือเพิ่มฤทธิ์ยา หรือสกัดยารักษาโรคอีกหลายชนิดแล้ว ย้ำอีกครั้ง การใช้เป็นสมุนไพร ซึ่งได้ผลต่อคนเราดีมาก ขอแต่อย่าใช้ติดต่อกันนานเกินไป อันตรายจะเกิดแก่ร่างกายทั้งระบบภูมิคุ้มกัน ระบบขับถ่าย หรือแม้แต่ระบบสืบพันธุ์ได้

ผักคราดหัวแหวน เชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาใต้ แต่ผู้เขียนเองมีความเห็นว่า น่าจะเป็นพืชที่มีอยู่ในเขตร้อนทั่วไป แถบทวีปเอเชีย ก็เป็นเขตที่เชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของผักคราดหัวแหวน เช่นกัน เพียงแต่การเผยแพร่ข้อความบันทึกประวัติ มักมีแต่ฝรั่งที่เดินทางล่าอาณานิคมเขียนไว้ให้เชื่อ และศึกษา เผลอๆ ผักคราดหัวแหวน และหลายๆ พืชที่ว่าต้นกำเนิดมาจากอเมริกาใต้ ลุ่มน้ำอาเมซอน อาจจะเป็นลูกไม้ใต้แผ่นดินลุ่มเจ้าพระยาก็ได้นะ

ผักคราดหัวแหวน เป็นไม้ที่ชอบขึ้นที่ลุ่ม และมีความชุ่มชื้น พบมากตามป่าธรรมชาติ ป่าละเมาะ ตามสวน ริมคลอง ร่องน้ำ ใต้ร่มไม้ ในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น หรือช่วงฝนตก ผักคราดจะแตกยอดอ่อนมากมาย ศัตรูร้ายที่คอยกัดกินคือ “หอยทาก” ต้องหมั่นตรวจดูพุ่มต้น ถ้าเจอต้องรีบกำจัดหอยทาก เพราะถ้าหอยทากแพร่ตัวออกหากิน จะกัดกินยอดกินต้นใบผักคราด ไม่เหลือเลย และผักคราดหัวแหวน ก็จะยุบทรุดตาย อายุการเป็นผักให้เก็บกินก็หมดไป ขยายพันธุ์เร็วก็จริง แต่เจอหอยทากทำลายไม่เหลือเลย