กรมวิทย์ฯ วิจัยพบสารสกัดจาก ‘หม่อน’ เพิ่มสมรรถภาพทางกายและจิต

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากหม่อนแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูกจนถึงการวิจัยทางคลินิก โดยพัฒนาแหล่งเพาะปลูกหม่อนที่สวนสมุนไพรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดระยอง ซึ่งได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agricultural Practice; GAP) จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน และทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดหม่อนแคปซูล และ ได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง “ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพที่มีสารสกัดจากใบหม่อนเป็นส่วนประกอบ”

จากการวิจัยพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพนี้มีผลต่อการเพิ่มคุณภาพชีวิตของอาสาสมัครวัยกลางคนและผู้สูงอายุ โดยเพิ่มสมรรถภาพทางกาย ทำให้กล้ามเนื้อแขน และกล้ามเนื้อต้นขามีความแข็งแรงมากขึ้น ช่วยให้การทรงตัวดีขึ้น เพิ่มสมรรถภาพทางจิต ทำให้มีความสงบมากขึ้น ลดกลุ่มอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล และเพิ่มการเรียนรู้และความจำ ทำให้เพิ่มความจำได้ดี และหลังจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรไทยตามนโยบายของรัฐบาล

“สำหรับแนวทางการยกระดับศักยภาพสมุนไพรสู่นวัตกรรม จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์แบบสหสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่การคัดเลือกชนิดสมุนไพร การจัดหา สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดี มีสารสำคัญสูง ทนทานต่อโรคและสิ่งแวดล้อม การปลูกและเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม การ แปรรูป การควบคุมคุณภาพเพื่อให้ได้วัตถุดิบหรือสารสกัดสมุนไพรที่ดี เพื่อนำไปศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและด้านความปลอดภัยทั้งหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง รวมถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ตลอดจนการบรรจุและเก็บรักษาให้มีคุณภาพดี และมีความคงสภาพตลอดอายุที่ระบุในฉลาก ซึ่งสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีโครงการ”คุณภาพสมุนไพรไทย” เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศให้มีมาตรฐานสากล สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและตอบสนองนโยบาย ประเทศไทย 4.0 ได้”นพ.สุขุม กล่าว