ตลาดน้ำลำพญา

แม่น้ำลำคลองในสมัยก่อนถือเป็นเส้นทางการจราจรที่สำคัญที่สุดมากกว่าทางบกและใช้เวลาน้อยกว่า ส่วนการสัญจรทางบกชาวบ้านจะใช้การเดินเท้าและเทียมเกวียนเป็นส่วนใหญ่ การใช้ม้าและช้างเป็นพาหนะเป็นเรื่องของชนชั้นสูง ชุมชนในสมัยโบราณจึงมักตั้งอยู่แถบริมน้ำเพราะการไปไหนมาไหนสะดวก ด้วยการสัญจรทางเรือเหมือนกับบ้านอยู่ติดถนนในปัจจุบัน ใช้รถยนต์สัญจร

ป้ายบนบก
ป้ายในน้ำ

 ประวัติวัดลำพญา

วัดวาอารามในสมัยก่อนก็จะสร้างอุโบสถหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเพื่อจะให้เห็นเด่นสง่ายามสัญจร แต่ในปัจจุบันอุโบสถจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามความเชื่อใหม่ วัดลำพญาเป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2404 ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงปัจจุบันมีอายุ 159 ปี ตั้งอยู่ที่ตำบลลำพญา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

ป.ปุ๋ยแกงโบราณ

ชื่อลำพญานี้เล่าขานกันว่า มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่ระดับพระยา พร้อมใจกันมาบวชที่วัดแห่งนี้ โดยลงเรือกันมาเต็มลำเรือ เลยเรียกว่า ลำพญา บ้างก็ว่าเป็นเพราะให้พระยาท่านหนึ่งมาขุดลอกคลองจึงเรียกแถบนี้ว่า ลำพญา ซึ่งวัดลำพญาตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำนครชัยศรี ที่แยกออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ชัยนาท ผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร ก่อนจะไหลออกสู่อ่าวไทยมีความยาวทั้งสิ้น 325 กิโลเมตร และมีชื่อเรียกหลายชื่อ เมื่อแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ชัยนาทเรียก คลองมะขามเฒ่า ผ่านสุพรรณบุรี เรียก แม่น้ำสุพรรณบุรี ผ่านนครปฐม เรียก แม่น้ำนครชัยศรี จนไปสิ้นสุดที่สมุทรสาคร เรียกว่า แม่น้ำท่าจีน

คิวแน่นขนัด
ให้อาหารปลาตามธรรมเนียม

ตลาดน้ำวัดลำพญาเริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกเป็นปฐมฤกษ์ ในวันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2542 โดยจะเปิดบริการเฉพาะวันอาทิตย์ ต่อมาได้เพิ่มเป็นวันเสาร์ อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่หกโมงเช้าถึงบ่ายสามโมง โดยมีเกษตรกรในตำบลลำพญาทั้ง 11 หมู่บ้าน และตำบลใกล้เคียง เช่น ตำบลบางภาษี ตำบลคลองนกกระทุง ตำบลบางระกำ ตำบลนราภิรมย์ และต่างอำเภอในนครปฐม ตลาดน้ำวัดลำพญาถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้พักผ่อนและชื่นชมธรรมชาติบริเวณตลาดน้ำแล้ว ทางตลาดน้ำยังได้จัดเรือเพื่อบริการท่องเที่ยวชมลำน้ำไว้หลายอย่าง เช่น บริการล่องเรือแจวโบราณ บริการล่องแพชมธรรมชาติ ด้านทิศใต้และทิศเหนือ เพื่อชมธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำและวิถีชาวบ้าน รวมทั้งเป็นการทัศนศึกษาสถานที่สำคัญบริเวณตำบลใกล้เคียง นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าในตลาดน้ำวัดลำพญาที่มีสินค้าหลากหลายชนิด จากร้านค้าจำนวน 40 ร้าน เมื่อแรกเริ่มจนปัจจุบันมีร้านค้ากว่า 300 ร้าน ต่างนำผลผลิตที่ปลูกเองในสวนมาจำหน่ายในราคาไม่แพง ผักที่นำมาจะเป็นผักสดและค่อนข้างปลอดภัย ส่วนร้านค้าที่ขายอาหารพร้อมกินหรือซื้อกลับบ้านจะเป็นอาหารพื้นบ้านเก่าๆ ที่หาได้ยากในตลาดในเมือง ร้อยละ 80 ของชาวตำบลลำพญาประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้สินค้าส่วนมากที่วางจำหน่ายในตลาดน้ำเป็นสินค้าทางการเกษตร

ไหลบัว
ส้มโอขึ้นชื่อ 

ร้านอาหารไทยพื้นเมืองอร่อยสุด

วันนี้ที่ผู้เขียนพาทุกท่านมาเที่ยวที่ตลาดน้ำลำพญาเพราะตลาดแห่งนี้ผู้เขียนมาบ่อย เนื่องจากมีร้านขายอาหารไทยเจ้าหนึ่งที่ติดใจมาก ตั้งใจมาทุกครั้งคือต้องหอบหิ้วไปแช่ในช่องแช่แข็งไว้จนแน่นตู้ คือ “ร้าน ป.ปุ๋ย แกงโบราณ” มีอาหารไทยโบราณหลายอย่างตามป้าย มี ปูหลน เต้าเจี้ยวหลน ปลาอินทรีหลน ห่อหมกปลาช่อนนา น้ำแกงส้ม แกงขี้เหล็ก แกงบอน แกงหน่อไม้ แกงปลากราย มัสมั่น และน้ำยาขนมจีน โดยเฉพาะของหลนอร่อยทั้งสามอย่าง แต่ที่ผมชอบที่สุดคือ ปลาอินทรีเค็มหลน รองลงมาเป็นปูเค็มหลนและเต้าเจี้ยวหลน ทางร้านใช้ปลาอินทรีที่ดีและน้ำกะทิสดจึงทำให้หลนออกมามีกลิ่นหอมและอร่อยมาก ทุกครั้งที่มีอะไรหลนก็ซื้อมาหมด น้ำแกงส้มและน้ำยาขนมจีน สามอย่างนี้น่าสนใจที่สุด แต่อย่าไปเกินเที่ยง ของค่อนข้างหมดเร็ว

บัวสวยงาม
ผักไชยา

แถบจังหวัดที่ลุ่มภาคกลางนิยมกินเป็ดกันมาก เราจะเห็นเป็ดย่างสีแดง เป็ดพะโล้แขวนเรียงรายอยู่หลายเจ้า มีขายทั้งตัว ครึ่งตัว ชิ้นส่วน หรือข้าวหน้าเป็ด บะหมี่เป็ดรสชาติดีแทบทุกราย แต่ส่วนใหญ่ผู้เขียนจะซื้อบั้นท้ายเป็ดมาเป็นประจำ ถ้ายังเคี้ยวได้ง่ายๆ เมนูแนะนำคือไส้เป็ดคืออาหารกับแกล้มชั้นดี พร้อมคอเป็ดอีกต่างหาก

เป็ดย่างของชอบ
ย่างกันในเรือจ้า 

ผักและผลไม้จากสวนแท้

ผักและผลไม้ส่วนใหญ่จะเป็นผลผลิตจากชาวบ้านบริเวณนั้น ผักบางชนิดเราไม่ค่อยเห็นในตลาดซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาดนัดข้างบ้าน เช่น สายบัว ซึ่งผมมักซื้อมาใส่น้ำแกงส้ม ถือว่าเป็นอาหารโบราณชั้นเลิศ ตะลิงปลิง ดอกกระเจี๊ยบสด ใบกระเจี๊ยบแดง ผักปลัง กุยช่าย ไม่ได้สวยงามมากเนื่องจากการปลูกแบบชาวบ้านซึ่งค่อนข้างปลอดภัยต่อสารเคมียาฆ่าแมลง และที่น่าภูมิใจอีกอย่างผลงานการเขียนเรื่องผักไชยาเมื่อหลายปีก่อนทำให้ผักไชยากระจายไปตามสวนเกษตรกรต่างๆ จนปัจจุบันเห็นผักไชยากำขาย กำละ 5 บาท 10 บาทโดยทั่วไป ตลาดน้ำลำพญาก็เช่นกัน ผลไม้ตามฤดูกาลก็มีเช่นกัน ส้มโอนครปฐมเป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อมีขายในฤดู ส่วนกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอม และที่ไม่ค่อยเห็นมาขายกันในตลาดอื่นก็คือกล้วยหักมุกซึ่งนิยมเอามาย่างกินในสมัยก่อน สมัยนี้มักนำกล้วยน้ำว้ามาย่างแทน เพราะกล้วยหักมุกค่อนข้างหายาก สมัยหลายสิบปีก่อนแถววังบูรพา สนามหลวง คลองหลอด มีขายหลายเจ้า ปัจจุบันน่าจะเหลืออยู่ที่วังบูรพาเจ้าเดียว กล้วยหักมุกพอเริ่มสุกเอามาย่างทั้งเปลือกอร่อยมากกว่ากล้วยน้ำว้าที่กินกันอยู่ในปัจจุบัน ผลไม้แปลกๆ ตามฤดูกาลอีกหลายอย่าง เช่น ชมพู่น้ำดอกไม้ สมซ่า ฝรั่งขี้นก ส้มเช้ง ส้มจี๊ด ลูกอัมพวา ฝักบัว

พร้อมๆ กัน อร่อย
สดๆ จากสวน

ส่วนที่ขายดอกไม้ดูเด่นก็จะเป็นร้านบัว มีอยู่ร้านเดียวที่ขายมายาวนาน บัวของร้านมีค่อนข้างหลากหลายสี เมื่อวางเรียงรายให้ชมรู้สึกอยากได้บัวไปปลูก เลือกสีที่เราชอบ ผู้เขียนชอบนำมาปลูกเพราะบัวถูกเลี้ยงในภาชนะเก็บน้ำ ไม่ต้องกังวลเรื่องรดน้ำ ใส่น้ำให้เพียงพอก็สามารถอยู่ได้เป็นเดือน ที่นี่ไม่มีต้นกล้วยไม้ขายเหมือนตลาดน้ำดอนหวาย แต่กล้วยไม้กำพอมีบ้างประปราย

5 บาท กับ 10 บาท
บัวหลากสี
กล้วยน้ำว้าราคาถูก

ร้านขายอาหารกินเล่นหรือกินจริงพร้อมเครื่องดื่มในแพจะเรียงกันเป็นสี่แถว มีซ้าย ขวา และตรงกลางหันหลังชน หรือบางส่วนเว้นเป็นที่ว่างสำหรับวางโต๊ะเก้าอี้ถือเป็นส่วนกลาง เราซื้ออาหารจากร้านไหนก็นำมากินได้ บางส่วนของโต๊ะอยู่ติดน้ำทำให้กินไปดูปลาดูคนให้อาหารปลาเพลินเพลินไป หมูสะเต๊ะ ทอดมันปลา ข้าวหมูแดง ขาหมู ก๋วยเตี๋ยว กุ้งเผา ขนมจีบ ขนมจีนน้ำยา กุ้งทอด ปลาตะเพียนไร้ก้าง ปลาทูซาเตี๊ยะ กระเพาะปลา ห่อหมกปลาช่อน เรียงรายสองข้าง ส่วนอาหารกินเล่นซื้อกลับบ้านก็มีจำนวนมากเหมือนกัน จาระไนไม่หมด ลืมเขียนบอกอีกอย่างในวัดจะมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแสดงข้าวของเครื่องใช้ของชาวบ้านบริเวณลุ่มน้ำนี้ด้วย

มาลัยเตยหอม
พิพิธภัณฑ์ของใช้พื้นบ้าน
กล้วยหักมุก

ตลาดน้ำใกล้กรุงเทพฯ เช่น ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ตลาดน้ำดอนหวาย ตลาดน้ำนครเนื่องเขตต์ (เดี๋ยวนี้คนน้อยมากแต่ยังคงเอกลักษณ์ของตัวเองไว้) ตลาด 100 ปีเมืองแปดริ้ว อยู่ในรัศมีพอไปกลับได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ตลาดน้ำลำพญาก็ไม่ถือว่าเป็นตลาดใหม่ แต่ถ้าใครยังไม่เคยไปลองไปดูนะครับ ส่วนเส้นทางไปปัจจุบันนี้ไม่มีการบอกทางกันอีกเพราะกูเกิ้ลแมปสามารถนำทางได้เป็นอย่างดี เสาร์อาทิตย์นี้ว่างเชิญชวนไปเที่ยวตลาดน้ำลำพญากันนะครับ ช่วยอุดหนุนสินค้าเกษตรจากสวนของเกษตรกรในพื้นที่เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน ดีกว่าซื้อของในห้างอุดหนุนให้นายทุนรวยเป็นไหนๆ