ฎีกาชาวบ้าน : อย่าเบี้ยว

คุณโผงเป็นลูกค้าผู้ซื้ออะไหล่รถยนต์ของคุณจำนูญผู้ขายมาหลายปี

คุณจำนูญกู้เงินจากคุณโผง 270,000 บาท ทำหลักฐานเป็นหนังสือว่าคุณจำนูญรับเงินไปแล้ว ลงลายมือคุณจำนูญผู้กู้ไว้ ตกลงดอกเบี้ย ร้อยละ 15 ต่อปี มีกำหนดชำระเงินระบุไว้ชัดเจน

สัญญาข้อ 6 มีว่า “คู่สัญญาตกลงกันว่า ผู้กู้จะชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระเงินไม่ได้เป็นอันขาด”

แล้วคุณจำนูญสั่งจ่ายเช็ค จำนวนเงิน 270,000 บาท ลงวันที่ 28 เมษายน 2554 อันเป็นวันครบกำหนดมอบไว้แก่คุณโผง

ถึงวันกำหนด คุณโผงนำเช็คไปเข้าบัญชี ธนาคารปฏิเสธจ่ายเงิน ด้วยเหตุผล-เงินในบัญชีไม่พอจ่าย

คุณโผงนำเช็คและหนังสือที่คุณจำนูญลงลายมือชื่อว่าได้กู้ยืมเงินคุณโผงและรับเงินไปแล้วนั้น มาฟ้องคุณจำนูญเป็นคดีแพ่ง ขอให้ศาลบังคับคุณจำนูญชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา ร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

คุณจำนูญต่อสู้คดี และนำสืบว่า ได้มีการตกลงด้วยวาจาเพิ่มเติมจากสัญญากู้ยืมเงินนั้น ให้คุณจำนูญส่งอะไหล่รถยนต์แก่คุณโผงตามจำนวนเงินที่กู้ยืม เป็นการชำระหนี้แก่คุณโผงแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้คุณจำนูญชำระเงิน 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา ร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันที่ 29 เมษายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

คุณโผงอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คุณจำนูญชำระเงิน 270,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 29 เมษายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่คุณโผง

คุณจำนูญฎีกาคดี ว่าสัญญาข้อ 6 มีเงื่อนไขที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะ เพราะคุณโผงยอมรับอะไหล่รถยนต์มูลค่า 270,345 บาท จากคุณจำนูญไปแล้ว จึงต้องถือว่าคุณจำนูญได้ชำระหนี้ให้คุณโผงแล้วบางส่วน ตามมาตรา 656 วรรคสอง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 ก็ดี มาตรา 656 วรรคสองก็ดี ล้วนมีองค์ประกอบสำคัญว่า ต้องเป็นกรณีที่ เจ้าหนี้หรือผู้ให้กู้ยืมยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ทั้งสิ้น ซึ่งตามมาตรา 656 วรรคสาม มีบทบัญญัติว่า “ความตกลงอย่างใดๆ ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ” นั้น มีความหมายว่า เมื่อผู้ให้กู้ยืมยินยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมแล้ว   หากมีข้อตกลงให้คิดมูลค่าสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่ชำระนอกเหนือไปจากจำนวนราคาตามท้องตลาดในเวลา และ ณ สถานที่ส่งมอบ ก็ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะ

ดังนี้ การยินยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมจึงเป็นสิทธิของผู้ให้กู้ยืมฝ่ายเดียวที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้ สัญญากู้ยืมเงินข้อ 6 มิได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด จึงหาเป็นโมฆะดังที่คุณจำนูญอ้างมาในฎีกาไม่

ส่วนกรณีที่คุณจำนูญนำสืบอ้างว่า เป็นเจ้าหนี้ค่าอะไหล่รถยนต์ที่ส่งให้คุณโผงจริงก็เป็นเรื่องที่คุณจำนูญต้องว่ากล่าวเป็นคดีอื่น

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คุณจำนูญยังไม่ได้ชำระหนี้แก่คุณโผงตามฟ้อง

พิพากษายืน

 

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13678/2558)

—————————————-

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 321 ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

ถ้าเพื่อที่จะทำให้พอแก่ใจเจ้าหนี้นั้น ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อเจ้าหนี้ไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านมิให้สันนิษฐานว่าลูกหนี้ได้ก่อหนี้นั้นขึ้นแทนการชำระหนี้

ถ้าชำระหนี้ด้วยออก-ด้วยโอน-หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว

มาตรา 656 ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลา และ ณ สถานที่ส่งมอบ

ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลา และ ณ สถานที่ส่งมอบ

ความตกลงกันอย่างใดๆ ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ