น้อมนำศาสตร์พระราชา พลิกผืนดินลูกรังสู่ “ไร่เข็มทอง”

หลังจากได้เข้าศึกษาดูงานด้านการพัฒนาที่ดิน ที่ โครงการศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวทางพระราชดำริไว้ โดยมี บุญช่วย ช่วยระดม ผู้อำนวยการโครงการศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม คอยให้คำปรึกษานำแนวพระราชดำริของพระองค์ไปประยุกต์ใช้

ทั้ง อาคม เข็มทอง และ นิตยา สว่างวงศ์ สองสามีภรรยาวัย 49 ปีเท่ากัน จึงพากันกลับมาพลิกฟื้น “ไร่เข็มทอง” บนผืนดิน 40 ไร่ ในพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งทั้งคู่ได้ลงทุนซื้อมาในสนนราคา ไร่ละ 70,000 บาท โดยใช้รถไถปรับแปรสภาพจากบ่อลูกรังเสื่อมโทรมริมเชิงเขา เป็นหลุมเป็นบ่อขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง ที่หลายคนคิดว่าไม่น่าจะสามารถปลูกอะไรได้ ให้กลายสภาพเป็นผืนดินเรียบ พร้อมปรับสภาพดินด้วยการใช้ปุ๋ยคอก แล้วช่วยกันปลูกพืชผักและผลไม้มากมายหลากหลายชนิด เช่น หน่อไม้ มะขามยักษ์ สะเดา มะฮอกกานี มะม่วง ส้มโอ น้อยหน่า มะพร้าว กระท้อน กล้วย ขนุน ลำไย หมากเม่า หนำเลียบ กระเจี๊ยบ มะนาว มะกรูด ละมุด เกาลัด

นอกจากนี้ ยังปลูกผักสวนครัวอีกหลายชนิดผสมผสานอยู่ร่วมกัน เป็นพืชผักที่ปลอดสารพิษ ไม่ใช้สารเคมี บางชนิดสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไว้รับประทานได้ตลอดปี ปลูกไว้กิน เหลือก็เอาไปขาย บางชนิดเป็นผักพื้นบ้าน เช่น ต้นหนำเลียบ รวมทั้งลูกหมากเม่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นผลไม้พื้นบ้านมีลักษณะออกผลเป็นพวงเม็ดเล็กๆ มีรสชาติอมเปรี้ยวมักชอบขึ้นอยู่ในป่า หารับประทานได้ยากนำมายำกินเป็นอาหารอร่อย

“นิตยา” บอกว่า เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นบ่อดินลูกรังเก่าปลูกอะไรไม่ได้ผล หลังซื้อมาปรับพื้นที่แล้วจึงทดลองนำต้นไผ่กิมซุงประมาณ 500 หน่อ มาปลูก เพราะเป็นไผ่ที่โตไวปลูกเป็นแนวรั้วสามารถเก็บกินได้เร็วกว่าอย่างอื่น หากมีมากก็จะเก็บหน่อไปขายได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ต้นไผ่ยังเป็นไม้ประเภทยืนต้น ที่สำคัญคือต้องการจะปลูกป่า โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งมองว่าโครงการเขาชะงุ้มสามารถทำได้ตามแนวพระราชดำริของพระองค์ ดังนั้น ประชาชนคนธรรมดาก็น่าจะทำได้เช่นกัน จึงเริ่มปรับปรุงพื้นที่จุดนี้ที่เป็นดินลูกรังให้เป็นที่ว่างเปล่า จากนั้นเริ่มปลูกต้นไม้ทีละต้น ไล่เรียง

จากทุนที่มีน้อย แต่ค่อยๆ ปลูกพืชผักไปเรื่อยๆ จนขณะนี้มีพืชผักผลไม้หลากหลายชนิด

“ส่วนพื้นที่ท้ายไร่เคยปลูกข้าวโพด พอเริ่มจะเก็บเกี่ยวฝักได้ก็เกิดปัญหา มีฝูงลิงจำนวนมากที่อาศัยอยู่บนภูเขาลงมากัดแทะกินเสียหายทั้งหมด จึงพยายามลองคิดหาวิธีการป้องกันฝูงลิงรุกรานพืชไร่ ด้วยการปลูกต้นมะกรูดไว้ประมาณ 500 ต้น เป็นมะกรูดที่เพาะจากเมล็ดมีอายุยืนยาว ปรากฏว่าต้นมะกรูดเป็นพืชที่มีหนามแหลมคม และมีกลิ่นฉุน ทำให้ฝูงลิงไม่เข้ามาในพื้นที่อีก ซึ่งนอกจากปลูกไว้ป้องกันฝูงลิงรุกรานแล้ว และยังสามารถตัดใบมะกรูดส่งขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท โดยมีพ่อค้าแม่ค้ามาตัดเองถึงสวน เพราะใบสวย และปลอดสารเคมี”

“นิตยา” ระบุด้วยว่า พืชผักในไร่เข็มทองจะใส่ปุ๋ยมูลคอก ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงจึงปลอดสารพิษทุกอย่าง สังเกตได้จากมีผึ้งมาเกาะอาศัยทำรังตามต้นลำไย ต้นมะตูมเป็นจำนวนมาก และที่นี่ยังอนุรักษ์เลี้ยงควายไทยไว้ 3 ตัว

ซึ่งปัจจุบันจะพบควายอยู่ในท้องถิ่นน้อยลงแล้ว โดยใช้มูลควายไปเป็นปุ๋ยใส่พืชผักเจริญงอกงามดี อย่างขนุนมีลูกห้อยติดดินเลย ยอมรับว่าศาสตร์ของพระราชาสามารถนำมาใช้ได้ผลดีมาก จะเห็นว่าหลายภาคส่วนรวมทั้งประชาชนจำนวนมาก ที่ได้นำแนวพระราชดำริของพระองค์มาทดลองใช้ปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ดู ปรากฏว่าได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง

ด้าน “บุญช่วย” เผยว่า จากการลงสำรวจพื้นที่ทราบว่าใกล้เคียงกับโครงการเขาชะงุ้ม มีสภาพเป็นดินลูกรังแทบจะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย แต่ด้วยความเข้าใจและความสนใจของประชาชนและเกษตรกร ได้เข้ามาเรียนรู้ที่โครงการ ได้เห็นในพื้นที่โครงการว่าแม้จะเป็นพื้นที่ดินเสื่อมโทรมใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่พระองค์ได้มีแนวพระราชดำริให้เห็นเป็นรูปธรรม จากพื้นที่ดินเสื่อมโทรมที่จะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ สามารถที่จะนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เกษตรกรหลายคนที่ได้เข้ามาเรียนรู้ จึงน้อมนำเอาศาสตร์ของพระราชา นำผลสำเร็จที่ได้จากเขาชะงุ้มนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเอง เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงดินที่เสื่อมโทรม เป็นดินลูกรังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ นำไม้ไผ่ ไม้ป่ามาปลูก

“จนถึงวันนี้เป็นข้อพิสูจน์ได้แล้วว่าเกษตรกรสามารถทำได้เป็นจริง ตามศาสตร์ของพระราชาจนประสบความสำเร็จ จากพื้นที่แห้งแล้งเคยเป็นดินลูกรัง กลับมาเป็นพื้นที่ที่เขียวขจีจากไม้ป่า มีไม้ที่กินได้ ไม้ผล มีความหลากหลายเกิดขึ้น หลังจากเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ที่ปลูกพืชผักไม่ได้ผล แต่วันนี้กลับกลายมาเป็นแหล่งพักผ่อน แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร”

ผอ.โครงการเขาชะงุ้มบอกด้วยว่า หากนักท่องเที่ยวหรือประชาชนที่สนใจจะเข้าไปศึกษาวิธีการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ หรือจะเข้าไปพักผ่อนในช่วงวันหยุด สามารถเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวได้ตลอดทุกวัน และยังสามารถแวะเลือกซื้อพืชผัก ผลไม้ หรือเที่ยวชมไร่เข็มทองได้ อีกทั้งยังมีเมนูอาหารที่มาจากพืชผักของไร่ปลอดสารมาประกอบอาหารไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชิมลิ้มลองและรับประทาน

“นอกจากนี้ที่ไร่เข็มทองแห่งนี้ยังมีต้นมะขามยักษ์ 2 ต้นคู่กันอยู่ด้านหน้าสวน หากใครอยากจิบกาแฟสดบนต้นมะขามยักษ์ ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม ตามที่ทางไร่ได้พัฒนาก่อสร้างทำเป็นสถานที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจรับแขกที่มาเยือนได้อย่างมีความสุข ใครที่อยากสัมผัสบรรยากาศภายในไร่แห่งนี้ ลองสอบถามได้ โทร. (081) 857-2807”

 

ขอบคุณข้อมูลจาก พันธุ์ แก้วนุ้ย