ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หลายคนยังแยกไม่ออกระหว่างมะยงชิดกับมะปรางหวาน ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพราะหากมองด้วยตาเปล่าแล้วผลไม้ทั้ง 2 อย่างนี้ มีความเหมือนกันอย่างกับแกะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครหลายคนจะเข้าใจผิดว่ามะปราง คือมะยงชิด หรือมะยงชิด คือมะปราง ดังนั้น ก่อนที่จะทราบถึงเทคนิคการปลูก ผู้เขียนมีวิธีสังเกตง่ายๆ มาฝาก
คือหนึ่งส่วนใหญ่หากเป็นมะปรางจะมีลูกเล็กกว่ามะยงชิด สองสังเกตได้จากสีของผลเมื่อสุกเต็มที่ หากเป็นมะปรางหวานจะสีออกเหลืองนวล มากกว่ามะยงชิดที่ออกสีเหลืองส้ม และสามแตกต่างที่รสชาติ มะปรางจะให้รสชาติหวาน ส่วนมะยงชิดจะให้รสชาติหวานอมเปรี้ยว
คุณกฤษฎา ขุนนามวงษ์ หรือ คุณเดียร์ เจ้าของสวนบุญสพวรรณ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 10 ตำบลรังกาใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา หนุ่มพิมายรักในอาชีพเกษตร สานต่องานสวนของที่บ้านบนพื้นที่กว่า 100 ไร่ เน้นปลูกพืชผสมผสาน มีมะยงชิด-มะปรางหวาน เป็นพืชดาวเด่น พร้อมเปิดสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและแบ่งปัน ไม่ต้องวิ่งออกไปหาลูกค้า ลูกค้าเข้ามาหา นำเงินมาให้เองถึงสวน
คุณเดียร์ เล่าให้ฟังว่า ตนเองประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรมาโดยตลอด ซึ่งเป็นอาชีพที่สานต่อมาจากครอบครัวที่จะเน้นปลูกพืชผสมผสานปลูกมะยงชิด มะปรางหวาน มะขามเปรี้ยวยักษ์ เป็นพืชสร้างรายได้หลัก มีมะม่วง มะพร้าว และสะเดา เป็นพืชสร้างรายได้รองลงมา รวมๆ อยู่บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ โดยจะมีการจัดการแบ่งโซนการปลูกอย่างชัดเจน ดังนี้
โซนที่ 1 ปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์จำนวน 25 ไร่ หรือประมาณ 500 ต้น เป็นการซื้อที่ต่อจากคนเก่าที่ทำไว้ แล้วมาทำต่อจากเจ้าของเดิม
โซนที่ 2 มะยงชิด-มะปรางหวาน ปลูกรวมกันบนพื้นที่ 24 ไร่ แบ่งปลูกซ้าย-ขวา อย่างละครึ่ง
โซนที่ 3 แปลงใหญ่เนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ จัดการปลูกมะพร้าวน้ำหอมไว้รอบสวน ปลูกมะม่วง และสะเดาทวาย ไว้เก็บขายนอกฤดู สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี
มะยงชิด-มะปรางหวาน ปลูกที่โคราช ได้ผลอย่างไร
หลายคนคงมีข้อสงสัยว่า มะยงชิดกับมะปรางหวาน ที่เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดนครนายก เมื่อนำไปปลูกในพื้นที่อื่นจะได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร จะลูกใหญ่ หวาน กรอบ อร่อย เหมือนกับปลูกที่นครนายกเมืองเจ้าถิ่นหรือไม่ คุณเดียร์ อธิบายว่า อันดับแรกคือ มะยงชิดและมะปรางหวานสามารถปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ ทั้งดินทราย ดินลูกรัง ดินร่วนปนทราย ซึ่งสภาพดินของที่สวนก็จะเป็นดินร่วนปนทราย ถือว่าเหมาะสม แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือเรื่องของสภาพอากาศ มะยงชิดเป็นพืชที่ชอบอากาศเย็น เพื่อช่วยให้ในการออกดอกติดผลได้ดียิ่งขึ้น เพราะด้วยสภาพอากาศที่พิมายจะมีอากาศร้อนเป็นส่วนมาก มีช่วงอากาศเย็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ส่งผลให้การติดดอกออกผลได้ไม่เท่ากับทางนครนายก แต่ยังถือเป็นพืชสร้างรายได้ดี ยังมีกำไรจากตรงนี้ ด้วยการปลูกดูแลที่ไม่ยุ่งยาก
“การปลูกมะยงชิดของที่สวนในช่วง 6-7 ปีแรก ไม่ค่อยได้ผลผลิต แต่จะติดเพียงหลัก 150-200 กิโลกรัม ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด 24 ไร่ แต่ช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ ผลผลิตก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะความพร้อมของต้นเขาด้วย ต้นเริ่มใหญ่ขึ้นก็เริ่มให้ผลผลิตเยอะขึ้น และหลักๆ ที่นี่จะประสบกับปัญหาสภาพอากาศ อากาศไม่เหมือนกับนครนายกที่ปลูกกันอย่างจริงจัง ด้วยอำเภอพิมายมีอากาศร้อนเป็นส่วนมาก เวลาดอกออกมา เจอร้อนดอกก็จะสลัดไม่ค่อยติดผลเท่าที่ควร ซึ่งการปลูกในช่วงแรกๆ ก็ต้องทำใจหน่อย เราก็บำรุงไปตามสภาพที่เราทำได้ แต่ในช่วงหลังๆ ผมว่าคุ้มครับ อย่างปีที่แล้วได้ผลผลิตกว่า 5 ตัน ถือว่าเป็นผลผลิตที่เยอะสำหรับที่ปลูกในพื้นที่ไม่น่าจะปลูกได้”
โดยที่สวนปลูกมะยงชิด-มะปรางหวาน มาเป็นเวลากว่า 11 ปีแล้ว สำหรับมะยงชิดเลือกปลูกพันธุ์ทูลเกล้า มีจุดเด่น รสชาติหวานอมเปรี้ยว ติดผลดก ขนาดผลเสมอกันทุกพวง เมล็ดลีบเนื้อเยอะ ส่วนมะปรางหวานปลูกพันธุ์สุวรรณบาตร จุดเด่น เนื้อเยอะ เปลือกบาง รสชาติหวานกรอบ ผลขนาดใหญ่ ติดผลดก ซึ่งลักษณะภายนอกอาจจะไม่แตกต่างกันมา
แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือมะยงชิดจะดูแลยากกว่ามะปรางหวาน ในส่วนของแมลงและกระรอกที่จะชอบเข้ามากินมะยงชิดมากกว่า
มะปรางหวานจะไม่ค่อยมีแมลงหรือสัตว์มารบกวนเท่าไหร่ แต่จะติดผลน้อยกว่ามะยงชิด ก็ถือว่ามีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป
วิธีการปลูก
มะยงชิด-มะปรางหวาน จะมีวิธีการปลูกที่คล้ายกัน ช่วงแรกๆ จะต้องใช้ซาแรนสีดำคลุมพรางแสงให้กับมะยงชิด-มะปรางหวานทุกต้น จากนั้นก็เริ่มปลูกกล้วยแซมเป็นพืชพี่เลี้ยง เมื่อเวลาผ่านไป มะยงชิดเริ่มเจริญเติบโตขึ้น ก็จะตัดต้นกล้วยทิ้ง เพื่อให้มะยงชิด-มะปรางหวานเจริญเติบโตได้เต็มที่
การเตรียมดิน ไถพรวน บำรุงดินก่อนช่วงแรก แล้วขุดหลุม เตรียมระยะปลูก ใส่ปุ๋ยมูลวัวผสมกับปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 รองก้นหลุม นำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูกในระยะห่างที่เหมาะสม ที่แนะนำคือ 8×8 เมตร เพื่อให้ดูแลจัดการง่าย ไม่เป็นแหล่งสะสมโรค และในอนาคตเมื่อต้นเริ่มโตแตกกิ่งก้านสาขา จะไม่ทำให้เกิดปัญหาต้นชนกัน แสงแดดส่องไม่ถึงด้านล่าง ที่นับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุทำให้ผลผลิตออกน้อย
การดูแลรดน้ำ ช่วง 3 ปีแรก ดูแลเหมือนลูก รดน้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์อย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อต้นเริ่มสมบูรณ์แข็งแรง ให้ผลผลิตแล้ว ที่สวนจึงเริ่มเปลี่ยนระบบการให้น้ำ จากระบบสปริงเกลอร์ เป็นการรดน้ำด้วยสายยางแทน เนื่องจากที่สวนจะรดน้ำเพียงปีละ 2 ครั้ง การปล่อยสปริงเกลอร์ไว้ทำให้เกิดการชำรุด เสียหายบ่อยๆ จากสัตว์หลายชนิดที่เข้ามากัดทำลายสาย ทำให้ที่สวนต้องมีการซื้ออุปกรณ์มาซ่อมแซมแบบนี้ทุกปี
โดยหลังจากที่ต้นเริ่มให้ผลผลิต มะยงชิด-มะปรางหวานจะไม่ต้องดูแลอะไรมาก เน้นอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติช่วยดูแล แล้วจะมาเน้นดูแลรดน้ำช่วงที่เริ่มติดดอก คือช่วงเดือนธันวาคม หลังจากดอกบานเริ่มจะติดผล จะเริ่มรดน้ำวันเว้นวัน เพราะถ้าช่วงนี้ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ น้ำไม่รดเลยดอกจะไม่มีความชื้น ดังนั้น จึงต้องรดน้ำไปเพิ่มความชื้นเพื่อไม่ให้สลัดผลทิ้ง
การใส่ปุ๋ย หลังจากเก็บผลผลิตเสร็จแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งที่เสียออก แล้วใส่ปุ๋ยบำรุงต้นให้เตรียมความพร้อมให้ผลผลิตในรอบต่อไป ด้วยสูตร 8-24-24 ใส่ปริมาณต้นละ 1/2 กิโลกรัม บริเวณรอบโคนต้น ใส่ช่วงเดือนตุลาคมเพียง 1 ครั้ง
จากนั้นจะมาเริ่มฉีดพ่นทางใบอีกครั้งก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะว่าใส่ปุ๋ยกับต้นไว้น้อย จึงต้องมาเน้นการให้ฮอร์โมน แคลเซียม และปุ๋ยทางใบ ฉีดพ่นอาทิตย์ละครั้งในช่วงนี้
“คือผมจะฉีดชุดแรกเป็นฮอร์โมน ก่อนที่เขาจะออกดอก แล้วพอเริ่มติดดอกเราจะมีผสมยาไล่แมลงลงไปนิดหน่อย เพราะว่าถ้าไม่ใส่เลย แมลงจะมากัดกินดอกของเราทำให้ดอกเราขาด เราจะไม่ได้ผลผลิต แล้วหลังจากนั้นจะมีแคลเซียมและปุ๋ยทางใบ ให้มาจนถึงเริ่มเป็นลูก เราก็จะหยุดให้ แล้วก็รดน้ำ รอเก็บผลผลิต”
ปริมาณผลผลิต อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าปัจจัยสำคัญในการติดผลของมะยงชิดอยู่ที่อากาศ ซึ่งอากาศในแต่ละปีจะไม่เหมือนกัน อย่างปีที่ผ่านๆ มาไม่เคยได้ผลผลิตในชุดแรก แต่มาปีนี้โชคดีหน่อยได้ผลผลิตเยอะกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะอากาศปีนี้ค่อนข้างหนาวเย็นกว่าทุกปี ปีนี้จึงสามารถเก็บผลผลิตได้ 2 ชุด คือเก็บผลผลิตชุดแรกต้นเดือนมกราคม ส่วนชุดที่2 เก็บเกี่ยวช่วงเดือนมีนาคมตามฤดูของมะยงชิด-มะปรางหวาน
ปริมาณผลผลิตที่เก็บได้ประมาณปีละ 5 ตัน โดยเฉลี่ยขนาดผลอยู่ที่จำนวน 20-22 ลูกต่อกิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 100 บาท เท่ากันทั้งมะยงชิดและมะปรางหวาน เพราะทางสวนตั้งใจขายในราคาไม่แพง ผู้บริโภคทุกกลุ่มสามารถจับต้องได้ และจะมีรูปแบบการขายแบบกึ่งเกษตรเชิงท่องเที่ยวและเกษตรเชิงแบ่งปัน
คือเกษตรเชิงท่องเที่ยวก็หมายถึง การเปิดสวนให้คนภายนอกได้เข้ามาเยี่ยมชมสวน เปิดให้ชิมฟรี และเลือกเก็บเกี่ยวมะยงชิด-มะปรางหวานได้เองตามใจชอบ ที่สวนจะมีอุปกรณ์ไว้ให้ ทั้งตะกร้อสอยผลไม้และตะกร้าไว้สำหรับใส่ผลไม้ มาที่จุดคิดเงินเพียงจุดเดียวที่อยู่ภายในสวน
ส่วนเกษตรเชิงแบ่งปันคืออะไร คือทางสวนไม่หวงว่าในระหว่างทางที่ลูกค้าเดินเก็บจะกินผลไม้ของที่สวนไปมากแค่ไหน ลูกค้าสามารถชิมได้ตามใจชอบเลย แล้วส่วนที่อยากซื้อกลับบ้านก็ค่อยมาชั่งกิโลจ่ายเงินกับเรา
“ก่อนที่จะมาทำแบบนี้ ผมโพสต์ขายในเพจเฟซบุ๊กมาก่อน แล้วเราจะวิ่งไปส่งทีละ 50-100 กิโลกรัม ทีนี้เราเริ่มส่งไม่ไหว เราเหนื่อย เราก็เลยลองเปิดสวนให้เข้ามาชิม ลูกค้าก็เริ่มมา แล้วก็เริ่มบอกต่อกัน เขาก็นัดกันมาซื้อที่สวนเลย ตอนนี้ก็กลายเป็นว่าเราขายในรูปแบบนี้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ มีการขายออนไลน์บ้าง ก็มีลูกค้าเข้ามาเรื่อยๆ ช่วงหน้าที่มะยงชิดออกจะขายได้อยู่ประมาณวันละ 200-300 กิโลกรัมต่อวัน รายได้ปีที่แล้วประมาณ 5 แสนกว่าบาท รายจ่ายไม่น่าจะถึง 2 แสนบาท ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน แต่สำหรับมือใหม่ที่อยากจะทดลองปลูกคือต้องมีความอดทน เพราะมะยงชิดต้องใช้ระยะเวลาในการปลูก 4-5 ปีกว่าจะให้ผลผลิต ในช่วงระหว่างรอเก็บผลผลิตแนะนำให้หาพืชผลอย่างอื่นมาปลูกแซมสร้างรายได้ไปก่อนถือว่าไม่เสียหาย และเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย” คุณเดียร์ กล่าวทิ้งท้าย
ท่านใดสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 098-434-1501 หรือติดต่อได้ที่เฟซบุ๊ก : กฤษฎา ขุนนามวงษ์