เกษตรกรต้องมีแนวทาง

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน โดยเฉพาะท่านผู้อ่านที่เป็นเกษตรกรไทยเจ้าของแผ่นดินทุกท่าน เทคโนโลยีชาวบ้านฉบับนี้ เราจะขอนำพาทุกท่านให้ช่วยกันมาหาทางเลือกเพื่อนำไปหาทางเลือก ก้าวไปสู่ทางรอด และความเจริญรุ่งเรือง เพื่อสร้างโอกาสเพื่อความเป็นอยู่ เพื่อการกินดีอยู่กันอีกแนวหนึ่ง ด้วยการเตรียมตัวศึกษานโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ที่เตรียมจะนำเสนอให้ประชาชนอย่างเรา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้พิจารณา ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในเร็วๆ วันนี้ อย่างช้าที่สุดก็คงเป็นต้นเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ ตามข่าวที่สื่อสารกันออกมา ซึ่งก็คงเหลือเวลาอีกไม่นานแล้วครับ

ทั้งนี้ เหตุผลที่เราต้องมาศึกษานโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ต้องมารับรู้ มารับทราบ และมาศึกษากันอย่างรอบคอบ ละเอียด และตรงไปตรงมาว่าแต่ละพรรคการเมืองที่เสนอตัวกันมามากมาย เขาได้นำเสนอแนวทางอะไรบ้าง เขาจะพัฒนาอะไรให้ภาคเกษตรบ้าง เขาจะสร้างความยั่งยืนให้ภาคเกษตรได้อย่างไรกันบ้าง ซึ่งนั่นล้วนแล้วแต่เป็นทางรอดและทางเจริญรุ่งเรืองของภาคเกษตรไทยทั้งนั้น เพียงแต่ว่า แต่ละพรรคการเมืองเสนออะไรมาบ้าง ทั้งภาคการผลิตตลอดทั้งห่วงโซ่ ที่ประกอบไปด้วย ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เขานำเสนอแนวคิดอะไร เขาจะทำอย่างไร และมีความเป็นไปได้ไหม เขาจะทำได้จริงไหม หรือเพียงแค่ขายความคิดและขายความฝันเพื่อจูงใจให้เลือกเขาเท่านั้น

ดังนั้น เราจึงควรมาดูกันครับว่าแนวทางที่เขานำเสนอนั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง และที่สำคัญเราต้องพิจารณาอะไรกันบ้างครับ ก่อนจะไปเข้าคูหา หย่อนบัตรลงคะแนนให้พรรคการเมืองใด เราจะได้ไม่หลงทิศทางหลงประเด็น บางครั้งเราพลาดโอกาสที่จะพิจารณาดูเรื่องเหล่านี้ให้ถ่องแท้ เพราะเราไปคิดว่าไม่เกี่ยวกับเรา เป็นเรื่องของรัฐบาล เลือกใครไปก็เหมือนกัน แต่แท้จริงแล้วเรื่องการเมือง เป็นเรื่องของคนทุกคนที่จะช่วยกันกำหนดทิศทางของประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศครับ เราจึงต้องศึกษาว่ามีพรรคการเมืองใดเสนอแนวทางเหล่านี้บ้างหรือไม่อย่างไร เราจึงขอนำเสนอแนวทางที่พรรคที่ดีควรจะมีเรื่องเหล่านี้มานำเสนอครับ

1. การสนับสนุนด้านการผลิต

1.1 การลดต้นทุนการผลิต

ต้องมีการช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพื่อช่วยลดค่าปุ๋ย ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าจ้างเครื่องจักร ค่าเช่าที่ดิน ค่าอาหารสัตว์ เป็นต้น แม้ไม่ได้ลดลงมาก แต่ก็ควรมีนโยบายควบคุมไม่ให้สินค้าเหล่านี้มีราคาแพงเกินไป หรือควรมีนโยบายสนับสนุนต้นทุนอย่างใดอย่างหนึ่งที่ชัดเจน เพราะในปัจจุบันต้นทุนการผลิตสูงมากๆ สูงจนไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน เกษตรกรมีหนี้สินมากจนไม่สามารถชำระได้ เพราะราคาค่าต้นทุนสูงเกินไป ทำการผลิตแล้วก็ขาดทุนนั่นเอง

1.2 การจัดหาแหล่งน้ำ

เรื่องแหล่งน้ำ การชลประทาน การบริหารจัดการน้ำ เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าผู้เสนอนโยบายไม่สนใจที่จะบรรจุสิ่งเหล่านี้ไว้ ถ้ารัฐบาลไม่ได้คิดแก้ไขเรื่องน้ำ เกษตรกรจะมีความเสี่ยงสูงมากๆ เพราะฤดูฝนในประเทศไทยไม่แน่นอนมานานแล้ว ดังนั้น แนวทางการจัดการน้ำจึงจะเป็นความจำเป็นที่ภาคเกษตรยังต้องการทั้งพืชและปศุสัตว์ทั้งสิ้น น้ำน้อยจะทำอย่างไร ถ้าน้ำมากจะกักเก็บแบบไหน น้ำท่วมจะแก้ไขอย่างไร เป็นต้น

1.3 การเพิ่มผลผลิต

เรื่องเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อการผลิต งานนวัตกรรมเพื่อการเกษตร การพัฒนาพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์มีความจำเป็นยิ่ง งานวิจัยต่างๆ ต้องมีเพื่อช่วยให้ภาคเกษตรพัฒนาและทันสมัยมากขึ้น สามารถเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรได้

2. การสนับสนุนแหล่งเงินทุน

2.1 เงินทุนดอกเบี้ยต่ำ

ปัจจุบันภายหลังจากประเทศไทยและทั่วโลก ประสบปัญหาจากไวรัสโควิด-19 มาหลายปี จนทำให้กระทบกับรายได้-รายจ่ายของเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรจำนวนมากที่มีศักยภาพลดลง อาจจะมีภาระหนี้สินตามมา

ดังนั้น ในส่วนของทุนในการผลิต เงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน ลดหย่อนหลักประกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรด้วย เพราะเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ขาดเงินทุน และเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน จึงขาดโอกาสในการพัฒนาการผลิต ซึ่งจะส่งผลถึงความสามารถในการแข่งขันของทั้งภาคเกษตรและของประเทศไทยเราด้วย

2.2 การแก้ไขหนี้สิน

เรื่องหนี้สินเดิมของเกษตรกรก็สำคัญยิ่ง เพราะบางรายมีหนี้ทั้งในระบบ นอกระบบ หนี้ธนาคาร หนี้กองทุนต่างๆ หนี้กองทุนหมู่บ้าน และแหล่งต่างๆ จนไม่สามารถจะไปกู้ยืมที่ไหนมาทำทุนได้อีก ดังนั้น การช่วยแก้ไขหนี้ การมีนโยบายปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกรเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ เพื่อทำให้เกษตรกรมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น จนสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ตามปกติ

3. การสนับสนุนการแปรรูป

3.1 การช่วยเหลือด้านการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต

เรื่องการเพิ่มมูลค่าหรือเพิ่ม Productivity ก็นับเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มตั้งแต่การเพิ่มน้ำหนักหรือปริมาณต่อหน่วยผลิตก็เป็นเรื่องจำเป็น ตัวอย่างการเพิ่มผล เช่น การยกระดับผลผลิตมันสำปะหลังจากไร่ละ 3-4 ตัน เป็นไร่ละ 8-10 ตัน เป็นต้น พื้นที่เท่าเดิม แต่ถ้าผลผลิตสูงขึ้นก็จะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น รัฐจำเป็นต้องสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย หรือกรณีมันสำปะหลังเช่นเดิม ควรสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำมันเส้นสะอาดขายมากกว่าการขายหัวมันสด เพียงแต่รัฐต้องสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีทางทางเลือกมากกว่าการขายผลผลิตต้นน้ำเพียงอย่างเดียว

3.2 การสนับสนุนเครื่องมือ

จากข้อ 3.1 หากรัฐมีแนวนโยบายการยกระดับดังกล่าว ก็ต้องมีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการจัดหาเครื่องจักร โรงเก็บ ลานตาก หรือเครื่องมืออื่นใดที่จำเป็นให้เกษตรกรด้วย รวมทั้งให้ความรู้คู่กับการสนับสนุนดังกล่าวควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้พร้อมมีเครื่องมือไปดำเนินการเองได้ด้วย

4. การสนับสนุนการตลาด

4.1 การเพิ่มช่องทางการขาย

การตลาดนับว่าสำคัญยิ่ง ดังนั้น คำว่าตลาดนำ หรือตลาดนำการผลิตเป็นเรื่องสำคัญ รัฐพึ่งสนับสนุนการเชื่อมโยงการผลิตกับการตลาดเพื่อสนับสนุนเกษตรบ้างในยามจำเป็น ลำพังเกษตรกรเองอาจจะไม่สามารถแบกรับต้นทุนในการที่จะเริ่มไปหาช่องทางการตลาดได้เองทุกราย รัฐจำเป็นต้องเข้ามาสนับสนุน อาจจะผ่านองค์กรเกษตรกร ผ่านเครือข่ายสถาบันเกษตรกร เช่น กลุ่มองค์กรผู้ปลูกมันสำปะหลังรวมตัวกันทำมันเส้นสะอาด ส่งขายให้กลุ่มองค์กรเลี้ยงสัตว์ที่ทำอาหารสัตว์เอง หรือนำไปจำหน่ายต่ออีกทอดหนึ่งก็ตาม แต่รัฐต้องสนับสนุนการเชื่อมโยงโดยอาศัยส่วนงานภาครัฐ เช่น พาณิชย์จังหวัด สหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั้งในภูมิภาคเดียวกันหรือต่างภูมิภาคก็ได้ตามแต่ว่าจะมีอุปสงค์และอุปทานระหว่างกันอย่างไรได้บ้าง นี่คืออีกแนวทางหนึ่งที่ต้องค้นหาว่าพรรคการเมืองใดจะมาเสนอแนวนโยบายแบบนี้ได้บ้าง

4.2 การจัดการตลาดเพิ่มเติม หรือตลาดนำการผลิต

เรื่องการตลาดสำรองนี้สำคัญมาก เพราะการค้าขายก็ต้องมีการขยายตัว ถ้าจะมีเพียงตลาดเดิม ไม่มีตลาดใหม่ๆ บ้าง โอกาสเสี่ยงจะสูงมาก ดังนั้น รัฐบาลต้องมีการแสวงหาตลาดใหม่ๆ คู่ค้าใหม่ๆ ในตลาดต่างประเทศไว้สนับสนุนภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรด้วย เพราะหากเกษตรกรมีการขยายการผลิต และมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทำให้มีผลผลิตสูงขึ้น ตลาดเดิมไม่เพียงพอ หากไม่เตรียมความพร้อมในการช่วยหาตลาดใหม่ๆ ไว้รองรับ ราคาผลผลิตก็ตกต่ำเช่นเดิม เรื่องนี้นับว่ามีความสำคัญยิ่งเลยทีเดียว ลองสืบหาว่าใครที่อาสามาบริหารบ้านเมืองที่มีแนวทางการค้าขายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมบ้าง

5. การสนับสนุนองค์กรของเกษตรกร

5.1 พัฒนาสหกรณ์/องค์กรเกษตรกรให้เข้มแข็ง

เรื่องสถาบันเกษตรกร หรือองค์กรของเกษตรกรไทย ต้องมีการพัฒนาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เป็นที่พึ่งพาของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง ต้องไม่ใช่องค์กรราชการ การรวมกลุ่มการผลิตเป็นรูปบริษัท นิติบุคคล หรือรูปกลุ่มไม่เป็นทางการก็ตาม มีความสำคัญยิ่ง เพราะลำพังเกษตรกรรายคน ไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลย จำเป็นต้องมีการสนับสนุนการรวมตัวเพื่อให้มีพลังและอำนาจต่อรองด้วย รวมกันซื้อปัจจัยการผลิต รวมกันขายผลิตผล รวมกันแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่ม แต่ทั้งนี้ถ้าภาครัฐไม่มีแนวทางที่ชัดเจนก็จะเกิดขึ้นได้ยาก เราจึงต้องการรัฐบาลที่มาจากผู้เสนอและผู้อาสาที่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ด้วย

5.2 เสริมเงินทุนให้องค์กรเกษตรกร

เมื่อมีการสนับสนุนการรวมตัวกันแล้ว เริ่มแรกรัฐก็จำเป็นต้องมีการสนับสนุนเงินทุนตั้งต้นให้ด้วย เพราะเกษตรกรส่วนมากมีฐานะยากจน รัฐจำเป็นต้องสนับสนุนก่อน การสนับสนุนทุนต้องทำควบคู่ไปกับการสนับสนุนความรู้ในการบริหารจัดการทุนด้วย จึงจะทำให้มีความยั่งยืนในระยะยาว แนวนโยบายเช่นนี้จึงนับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อภาคเกษตรไทย

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะมาถึงในเร็วๆ นี้ ผู้เขียนจึงอยากจะนำเสนอให้เกษตรกรไทยที่เป็นคนส่วนใหญ่ได้รับรู้และแสวงหาด้วยว่ามีพรรคการเมืองใดที่มีแนวคิดที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าวบ้าง เพื่อหาทางเลือกที่ดีกว่าให้ตนเองกันครับ ผู้เขียนไม่ได้เคยเป็นนักการเมือง ไม่เคยเป็นสมาชิกการเมืองใดๆ เลยทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นเจ้าของสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่งเท่านั้น ที่จะเชิญชวนเกษตรกรให้พิจารณาว่ามีใครนำเสนอแนวโยบายที่จะช่วยเหลือภาคเกษตรไทยชัดเจนบ้างหรือไม่ เพื่อเราจะได้มีทางเลือกที่ดีแก่ตนเองต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ครับ

ขอขอบคุณ และพบกันใหม่ในฉบับหน้าครับ