“ลูกหยี” ต้นไม้ใหญ่สูงค่า ที่บ้านป่าพะยอม ธรรมชาติเปลี่ยนชีวิตเป็นผลิตภัณฑ์

เด็กสาวชาวบ้านป่าพะยอม ที่ภาคใต้ จังหวัดพัทลุง ตัวดำผมหยิก ต้องจากบ้านป่าเพื่อมาศึกษาหาความรู้ จนเรียนจบปริญญาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (ชื่อเดิม) และก็ได้ทำงานในห้องแอร์เย็นๆ สบายๆ เป็นมนุษย์เงินเดือนไม่เดือดร้อน

“หนูเล็ก” คุณณฤดี ช่วยแก้ว กับผลิตภัณฑ์ลูกหยี ที่นำมาแสดงออกร้านของกระทรวงพาณิชย์

จนมาวันหนึ่ง นึกขึ้นได้ว่าเราทำงานสบายๆ ขณะที่พ่อแม่ยังคงลำบากอยู่ที่บ้านป่าพะยอม ต้องตากแดดตากลมหาเงินส่งเราเรียนจนจบปริญญา ขณะที่พวกเขาก็ยังคงอยู่ที่บ้านป่าพะยอมทำงานตากแดดกรีดยางอยู่เหมือนเดิมในสวนยางและสวนป่าไม้ลูกหยีที่อุดมสมบูรณ์ หลายสิบไร่

เด็กสาวตัวเล็กๆ ที่พ่อแม่เรียกว่า “หนูเล็ก” คุณณฤดี ช่วยเเก้ว จึงเปลี่ยนชีวิตตัวเองลาออกจากงานในห้องแอร์ แล้วกลับไปอยู่บ้าน เพื่อสร้างชุมชนบ้านป่าพะยอมให้เข้มแข็ง ด้วยอุดมการณ์ที่แน่วแน่และสานต่องานจากพ่อเพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้และธรรมชาติ ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่าง “ต้นลูกหยีป่า” ในพื้นที่บ้านป่าพะยอม หมู่ที่ 9 ตำบลลานข่อย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง

ผลไม้ลูกหยีที่สุกจากต้น พร้อมด้วยต้นกล้าลูกหยีที่นำมาแสดงในงานออกร้านของกระทรวงพาณิชย์

ต้นลูกหยี ที่ว่านี้ เป็นไม้เนื้อแข็งยืนต้น ขนาดสูงใหญ่ ลำต้นตั้งตรงสง่า กิ่งจะบานพุ่มที่ปลายยอด และด้วยคุณลักษณะพิเศษของผลไม้ลูกหยีนั้น สรรพคุณมากด้วยคุณค่าทางอาหาร มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน และหากินได้ยาก

จนมาวันนี้ “ลูกหยี” มีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่จะเผยโฉมความเป็นตัวตนจากชุมชนบ้านป่าพะยอม ออกมาสู่ท้องตลาดแล้ว

ผู้เขียนได้พบเจอหนูเล็ก ภายใต้แบรนด์ ผลิตภัณฑ์ “ลูกหยี” เข้ามาสู่เวทีงานออกร้านของกระทรวงพาณิชย์ตามสถานที่ต่างๆ และสิ่งที่เห็นแปลกตาที่ผู้เขียนไม่เคยพบเคยเห็นก็คือ “ผลไม้ลูกหยี” สีดำๆ ปนน้ำตาล พร้อมด้วยต้นกล้าลูกหยี ที่วางอยู่ข้างๆ และยังมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย อาทิ น้ำผลไม้ลูกหยี ลูกหยีปั่นนมสด และลูกหยีฉาบคลุกน้ำตาล หลากหลายแบบ เป็นต้น

ลูกหยีป่า สูงเสียดฟ้า พร้อมด้วยบันไดไม้ไผ่เพื่อปีนขึ้นไปเก็บผลลูกหยีที่อยู่บนยอด  

หนูเล็ก เล่าว่า บ้านฉันอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีป่าไม้ที่บริสุทธิ์ ทุกคนเคยชินอยู่กับการพึ่งพาอาศัยกัน และใช้ชีวิตที่เรียบง่ายมีอะไรก็แบ่งปัน เช่น ถ้าผลไม้บ้านใครออกก่อนก็เก็บมาฝากแบ่งกันกิน และรวมถึงพืชผักพื้นบ้าน ผักบุ้งริมคลอง กล้วย และมะพร้าว ตามร่องสวน และพืชผักอื่นๆ ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เก็บมาได้ก็แบ่งปันเจือจุน

Advertisement
ต้นลูกหยีป่า ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ขนาด 4 คนโอบ ในป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง

อย่าง “ผลไม้ลูกหยี” ก็เช่นเดียวกันที่อยู่ในป่าลึกและพบมากตามป่าเชิงเขาในภาคใต้ และส่วนหนึ่งก็มีอยู่ในสวนยางที่พ่ออนุรักษ์ไว้หลายสิบไร่ ยังมีหลงเหลือให้เห็นอยู่ และปลูกแซมเพิ่มเติมขึ้นทุกๆ ปี แต่กว่าลูกหยีจะให้ผลผลิตและเจริญเติบโตได้ก็ต้องใช้เวลานานนับถึง 10 ปี และใน 1 ปี ลูกหยีก็ให้ผลผลิตเพียงครั้งเดียว

ครอบครัวของหนูเล็ก รู้ทั้งรู้ว่า การปลูกต้นกล้าลูกหยีแต่ละปีต้องรอเวลานานแสนนานกว่าจะเจริญเติบโตและให้ผลผลิต แต่ด้วยใจที่อยากจะอนุรักษ์ต้นไม้ลูกหยีเป็นทุนเดิม ก็ต้องเพาะขยายต้นไม้ลูกหยีไปเรื่อยๆ เพราะเป็นต้นไม้ที่หายากใกล้สูญพันธุ์

Advertisement

หนูเล็ก เล่าความในใจว่า เป็นครั้งแรกที่คุณพ่อและลุงพาเดินเข้าไปในป่า ลุยเขา ด้วยความยากลำบากและต้องอดทน เมื่อสายตาได้ปะทะกับต้นลูกหยีป่า ต้นใหญ่ๆ ขนาด 4 คนโอบ ก็ทำเอาน้ำตาซึมเพราะตั้งแต่เด็กๆ เกิดมาก็ไม่เคยเห็นต้นลูกหยีขนาดใหญ่มหึมา ได้แต่กินอย่างเดียว และในชีวิตก็ไม่คิดว่าจะได้เจอต้นลูกหยีขนาดใหญ่ๆ อย่างนี้

ช่อดอกและผลลูกหยีดิบ มีลักษณะเป็นพวงอยู่บนยอดสูงเสียดฟ้า

ต้นลูกหยีต้นนี้คุณลุงขึ้นอยู่เป็นประจำ จึงตระเตรียมที่จะปีนขึ้นไปบนยอดให้หนูเล็กดู ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคุณลุงที่น่าทึ่งมากๆ และสืบทอดกันมา

เมื่อได้เห็นด้วยตาของตัวเองแล้ว หนูเล็กจึงอยากจะอนุรักษ์ต้นลูกหยีป่าเป็นที่สุด โดยเฉพาะกรรมวิธีการทำแค่ หรือบันไดไม้ไผ่ ที่อยากให้คนรุ่นหลังได้เห็น การผูก ตรึง ยึด ด้วยเถาวัลย์พันรอบๆ ต้น เพื่อให้บันไดไม้ไผ่มีความแข็งแรงทนต่อการรับน้ำหนักที่ต้องฝากชีวิตไว้ และอีกเทคนิคการเชื่อมต่อบันไดไม้ไผ่จากลำหนึ่งไปสู่อีกลำเชื่อมต่อกันไป จนถึงปลายยอดต้นลูกหยีที่สูงเสียดฟ้า ดูแล้วไม่ง่ายเลย

หลายๆ คนถามฉันทำไมจึงชอบต้นไม้ลูกหยี เก็บก็ยากต้องปีนป่ายความเสี่ยงก็สูง ก็เพราะด้วยความยากนี้เอง ใจถึงอยากอนุรักษ์ อยากทำผลิตภัณฑ์ลูกหยี ทำตามกำลังที่เราจะทำได้ เพราะเราเข้าใจธรรมชาติที่บ้านเกิดเมืองนอน

ลักษณะของผลลูกหยีสุก สีดำสนิท และเมื่อกะเทาะเปลือกออกเนื้อในจะมีลักษณะสีน้ำตาล

ชีวิตต้นไม้ก็คล้ายกับชีวิตมนุษย์ที่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ถึงแม้การปลูกลูกหยีจะใช้เวลานานนับสิบปี แต่หนูเล็กก็จะทำ

ฉะนั้นการปลูกป่าปลูกต้นไม้ลูกหยี จึงมีคุณค่าทางจิตใจสำหรับฉัน

หนูเล็กบอกวิธีเพาะต้นกล้าลูกหยีที่เรียนรู้จากพ่อ เริ่มจากนำเมล็ดพันธุ์ที่แก่จัดไปแช่น้ำทิ้งไว้สัก 1-2 คืน เพื่อให้เปลือกเมล็ดนิ่ม แล้วเมล็ดลูกหยีก็จะพองฟูขยายขึ้นมาอีกเท่าตัว จากนั้นก็นำมาห่อหุ้มด้วยกระดาษทิชชูหรือผ้าบางๆ ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 อาทิตย์หรือมากกว่านั้น เมล็ดลูกหยีก็จะเริ่มงอกเป็นต้นกล้าเล็กๆ คล้ายๆ กับเมล็ดมะม่วงสุกที่เรากินหมดแล้วโยนทิ้งลงตามพื้นดินที่มีความชื้นมันก็จะงอกขึ้นมาเองได้

เมื่อต้นกล้าลูกหยีงอกออกมาก็นำแยกลงถุงเพาะชำ อนุบาลจนต้นกล้าแข็งแรงแตกกิ่งออกใบจึงนำไปลงดินปลูกได้เลย และก็รอยาวๆ ไปเหมือนไม้ยืนต้น ไม้เนื้อแข็งไม้เศรษฐกิจชนิดอื่นๆ

เมล็ดลูกหยีที่นำเนื้อออกไปใช้ประโยชน์แล้ว ก็สามารถนำเมล็ดมาเพาะผลิตต้นกล้าได้ต่อไป

รอจนลืมเผลอแป๊บเดียวก็สิบปี ลูกหยีจะออกดอกเป็นช่อๆ ตามปลายกิ่งสีขาวอมเหลือง ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ เมื่อมีช่อดอกแล้วรอไปอีกไม่กี่เดือนก็จะเห็นผลลูกหยีดิบสีเขียวเล็กๆ เนื้อในสีขาวอ่อน แต่ก็สามารถกินดิบได้ รสชาติจะออกเปรี้ยวอมหวาน ฝาดๆ ลิ้นนิดๆ จิ้มกับพริกเกลืออร่อยดีอย่าบอกใคร เมื่อเข้าสู่เดือนกันยายน-ธันวาคม เปลือกผลลูกหยีก็จะมีสีดำสุก ช้าเร็วขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของแต่ละปีที่ไม่แน่นอน

หนูเล็กกระซิบว่า มีต้นกล้าจำหน่ายแล้วต้นละ 100 บาท เท่านั้นเอง

สิ่งเล็กๆ ที่หนูเล็กอยากจะบอกและแบ่งปัน ผลไม้ลูกหยีสามารถนำมาแปรรูปทำน้ำปั่น ในรูปแบบลูกหยีผงบดชงน้ำพร้อมดื่ม เติมน้ำแข็งเย็นๆ ด้วยตัวเอง หรือจะทำเป็นน้ำปั่นผลไม้ลูกหยีนมสด มาดูสูตรวิธีทำกัน

– ผลไม้ลูกหยีผง 1 ช้อนโต๊ะ

– น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ (ไม่หวานมาก)

– น้ำเปล่า 150 มิลลิลิตร

– นมจืด 30 มิลลิลิตร

– น้ำแข็งหลอดเล็ก 1 แก้ว

นำส่วนผสมทั้งหมดลงเครื่องปั่น ปั่นไปสักพักให้เนื้อละเอียดเข้าเป็นเนื้อเดียวกันเทลงแก้วเพียงเท่านี้ก็กินได้เลยในรสชาติเปรี้ยวหวาน และมันจากนมสด นอกจากนี้ ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ลูกหยีฉาบคลุกน้ำตาล มากมายหลากหลายรส

“หนูเล็ก” คุณณฤดี ช่วยแก้ว กับคอลเล็กชั่นตุ๊กตาลูกหยี น่ารักๆ ราคาไม่แพง

หนูเล็กไม่เพียงชอบธรรมชาติและสวนป่าไม้ลูกหยี ยังมีงานศิลปะในสายงานที่เรียกจบมา ให้จินตนาการตัวเองเข้าไปเป็นตัวการ์ตูนไลน์สติ๊กเกอร์ “เจ้าเงาะผมหยิก” กับ “ลูกหยีตัวดำ และผสมกันออกมาอีกคอลเล็กชั่น “หนูเล็ก ตุ้ยนุ๋ย” ที่โลดแล่นอยู่ในไลน์สติ๊กเกอร์ น่ารักน่าชัง แนวซนๆ นิดๆ ราคาตัวละ 35 บาท เท่านั้นเอง และยังมีพวงกุญแจ ของที่ระลึกตุ๊กตา “ลูกหยีตัวดำ” กับ “หนูเล็ก ตุ้ยนุ๋ย” ราคาเริ่มต้นที่ 35 บาท

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวออกมาจากชีวิตของ “หนูเล็ก” คุณณฤดี ช่วยแก้ว ที่ได้ฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อการอนุรักษ์ผืนป่า “ลูกหยี” จากบ้านป่าพะยอม พื้นที่หมู่ที่ 9 บ้านป่าพะยอม ตำบลลานข่อย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง

หนูเล็กกับลูกหยีตัวดำ กำลังช่วยกันปลูกป่า และปลูกต้นลูกหยี

ผู้อ่านท่านใดต้องการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ “ลูกหยีตัวดำ” กับ “หนูเล็ก ตุ้ยนุ๋ย” โทรศัพท์พูดคุยกับ “หนูเล็ก” ได้โดยตรงที่เบอร์โทร. 061-182-5541