“ข่า” ผักเครื่องแกงสมุนไพร ของดีที่หาได้ในรั้วบ้าน

ธรรมชาติในชนบทบ้านเราเมื่อก่อนโน้น ภาพจำยังติดตา ผืนป่า แนวเขา ท้องทุ่ง นาไร่ สายธาร บ้านเรือน ทางล้อเกวียน กองฟาง ปลักควาย นก หนู ปู ปลา ผีเสื้อ แมลงปอ จิ้งหรีด จักจั่น เด็กเล่นว่าว เป่ายางวง ผู้ใหญ่ก๊งยาดอง ถอง ส.ร.ถ.ตาตั๊กแตน รั้วบ้านเป็นแค่ราวไม้ไผ่พาดเสากิ่งไม้ บางบ้านเป็นแนวต้นมะขาม หว่านเป็นแถวแนวรั้ว ปลูกต้นแค ต้นกล้วย ต้นมะละกอ ใกล้ริมรั้ว มีสวนครัวเล็กๆ กลางสวน ตั้งโอ่งใหญ่ใส่น้ำ พร้อมขันตักน้ำ ปูไม้กระดานไว้รองนั่ง หรือยืนอาบน้ำ ล้างผัก ซักผ้า ปลูกผักสมุนไพรไว้หลายอย่าง ปลูกไว้ใกล้ตัว รวมทั้ง “ข่า” ก็เห็นมีกันแทบทุกสวนหลังบ้าน

ผักสมุนไพรชนิดนี้ มีประวัติความเป็นมากับบ้านเราอย่างยาวนาน จนเป็นตำนานที่บอกกล่าวเล่าขาน เป็นนิทานพื้นบ้าน หลายต่อหลายเรื่อง ปรากฏในสำนวนไทยที่ยังใช้ถึงทุกวันนี้ “ขิงก็รา ข่าก็แรง” เขาฟ้องลักษณะอาการ อากัปกิริยา ของคนเล่นการเมืองบ้านเรา หรือว่าเป็นแค่ละครทีวี หรือเป็นชนเผ่าขมุ ชาติพันธุ์หนึ่งอยู่บนดอยสูงที่ลาว ไม่แน่ชัดนะจ๊ะ “ข่า” ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร ในเครื่องปรุง เครื่องแกงหลายอย่าง และที่นำมาบอกกล่าวกันวันนี้ก็คือว่า “ข่า” จัดเป็นพืชเศรษฐกิจระดับครอบครัว และชุมชนที่สำคัญทีเดียว ทั้งอดีต ปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต

“ข่า” มีหลายประเภท หลายคนมักจะเรียกรวมกันทั่วไปว่า “ข่า” นำมาใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน มีคุณค่าทางอาหารเหมือนกัน แต่จะต่างกันที่ขนาด สีสัน ความรุนแรงของกลิ่น และรสชาติ การปลูกข่าเพื่อไว้กินเพื่อขาย ข่า 1 ต้น ให้ประโยชน์หลายส่วน ข่ากอหนึ่งใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ข่าแก่ ข่าอ่อน หน่ออ่อน ดอก ผล ก้าน ใบ ราก ล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น

ข่า มีชื่อสามัญว่า GALANGA เป็นพืชผักล้มลุกอายุยาว วงศ์ Zingiberaceae วงศ์เดียวกับ ขิง ขมิ้น กระชาย กระวาน เร่ว เปราะหอม ว่านนางคำ ว่านรากราคะ ชื่อวิทยาศาสตร์ Alpinia galanga (L) Willd. มีชื่อเรียกหลายอย่าง ต่างภูมิภาค ต่างท้องถิ่น ก็ต่างกันไปบ้าง แตกต่างกันที่คำสร้อยตาม จะบอกลักษณะทางกายภาพของข่า แต่มีคำขึ้นต้นว่า “ข่า” เหมือนกัน เช่น ถิ่นภาคเหนือ เรียก ข่าตาแดง ข่าหยวก ข่าหลวง ชาวเขาที่แม่ฮ่องสอน เรียกภาษาชนเผ่าว่า เสะเออเคย หรือ สะเอเชย ถิ่นภาคอีสานเรียก ข่าใหญ่ ข่าคม ข่าน้ำ ข่าเกษตรแดงใหญ่ ข่าแดงน้อย ท้องถิ่นอื่นก็เรียก ข่าเล็ก ข่าน้อย ข่าขาว ข่าแดง ฯลฯ ในภาคใต้ อีสาน และเหนือ ข่าที่นิยมนำมาใส่ต้มปลา ต้มกุ้ง ต้มไก่บ้าน เรียกว่า ข่าเหลือง ให้น้ำต้มสีสวยน่าซดให้หมดชาม มีชื่อเรียกหนึ่งของภาคกลางว่า “กฏุกโรหิณี” เป็นภาษามคธ หรือบาลี อ่านว่า กะ-ตุ-กะ-โร-หิ-นี แปลว่า ต้นข่า และนอกจากนั้น ยังมี ข่าลิง ข่าป่า ข่าที่มีเหง้าแง่งแข็งแกร่ง และเล็กแกร็น ชาวบ้านนิยมเอามาทำยารักษาโรคต่างๆ หาได้จากในป่า พกเป็นยาไว้ในย่าม ติดตัวตลอดไว้ป้องกันรักษาโรคภัย

ต้นกำเนิดของข่า อยู่ในเขตร้อนชื้น ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกา เป็นพืชที่มี “ลำต้นใต้ดิน” เรียกกันว่า “เหง้า” มีข้อปล้อง ตา เหง้าขยายยาว แยกเป็นกิ่งแขนง หรือแง่ง และโตขึ้น แตกหน่อ ส่งแทงยอดใบจากใต้ดินขึ้นสู่บนดิน เป็นก้านใบที่อัดรัดตัวกันแน่นมาก จนกลมเป็นลำยาว คือ “ต้นเทียม” เรามักเรียกว่า “ต้นข่า” ออกรวมกันหลายๆ ต้นเรียก “กอข่า” ปลายสุดของต้นเทียมคือ ยอดใบ ใบอ่อนสีเขียวอ่อน ใบแก่สีเขียวเข้ม รูปใบพาย โคนใบปลายใบแหลม มีเส้นกลางใบหนา เนื้อใบเหนียว เส้นใย ก้านใบ และต้นเทียม เหนียวมาก

ข่าออกดอกเป็นช่อ มีกาบปลีหุ้ม แล้วคลี่บานออกเมื่อดอกตูมโต และแทงเป็นช่อสีขาวนวล ข้างในดอกมีสีแดง หรือชมพูอมเหลือง รูปทรงช่อดอกสวยงาม เป็นช่อกระจะ กลีบดอกสีเขียวอ่อน และกลายเป็นขาว ดอกแก่จะมีสีขาวแซมม่วงแดงปน แยกแขนงตั้งช่อ ดอกย่อยเรียงเบียดกันแน่นบนก้านช่อ ชี้ปลายช่อขึ้นฟ้า เมื่อแก่ตัวดอกจะบาน ถูกแมลงภู่บินตอมดอมดม บินลอยตัวได้คล้ายโดรน ช่วยผสมเกสร เกิดเป็นผลทรงกระบอกหรือกลมรี ขนาดเท่าเม็ดพริกไทย และโตขึ้นเท่าเม็ดบัว มีจำนวนมากตามจำนวนดอกย่อย ติดเป็นช่อ เมื่ออ่อนสีเขียว แล้วเข้มขึ้นตามเวลา จนแก่เป็นสีเหลือง แดงส้ม และแห้งน้ำตาลดำ ข้างในผลมีเมล็ดสีดำ สามารถนำมาเพาะขยายพันธุ์ได้ แต่ไม่ค่อยนิยมขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด คงเพราะจะโตไม่ทันใจคนอยากจะปลูก

ประเทศไทยเรามีปลูกข่าทั่วทุกภาค เพราะบ้านเราจะใช้ประโยชน์จากข่า หลากหลายอย่าง เป็นทั้งอาหาร เป็นเครื่องแกง เป็นสมุนไพรรักษาโรค ด้านการตลาดของข่า เติบโตไปได้อย่างงดงาม มีหลายแหล่งที่ปลูกข่าเพื่อการค้า อย่างที่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ปลูกข่าเพื่อตัดขายหน่ออ่อนหรือต้นอ่อน คือส่วนที่แทงต้นพ้นจากดินมาไม่ยาวเท่าไรนัก กำลังมีใบ 2-3 ใบ ตัดหรือสับแยกจากเหง้าแม่มาแล้ว ลอกกาบต้นออก เหลือต้นอ่อนที่เป็นก้านขาวๆ เป็นไส้แกนอยู่ข้างใน ซึ่งจะกรอบหักเป็นท่อนได้ง่าย เอามาทั้งก้าน ม้วนขดมัดกำ กำละ 5-6 หน่อ ขายส่งกำละ 4-7 บาท ชาวเมืองซื้อไปเป็นผักกินสด หรือเอาไปประกอบอาหาร คนปลูกขายได้เงินเฉลี่ยเดือนละ 15,000-20,000 บาททีเดียว

บางแหล่งทำแปลงขยายพันธุ์ ข่าชนิดต่างๆ ส่งขายแบบทันยุคสมัย สั่งซื้อขายส่งทางออนไลน์ เป็นต้นพันธุ์ข่าที่พร้อมให้นำไปปลูก ขายส่งเป็นกล่อง กล่องละ 1,000 บาท เอาไปปลูกได้ประมาณ 40 กอ บางแห่งปลูกข่าไว้ขายเป็นข่าอ่อน ก็คือข่าที่นำมาใส่ต้มข่าไก่ เป็นแง่งที่แตกจากเหง้า และเติบโตเป็นหน่อใหม่ อวบขาวอมชมพู หรือเหลืองอ่อนๆ ข่าอ่อน ขายกันกิโลกรัมละ 50-60 บาทเชียวนะ และมีหลายแห่งที่ตั้งใจจะขายข่าแก่ ที่นำไปทำน้ำพริกแกง น้ำพริกลาบ ใช้เวลากว่าปีเลยถึงขุดงัดกอหรือขุดแยกกอได้ โดยใช้เสียมด้ามเหล็กที่ลับคมปลายและด้านข้าง เป็น 3 คม ทิ่มแทงโยกตะแคงตัดได้ง่ายๆ แต่ออกแรงนิดหน่อย เราจึงเห็นได้ว่า ข่า 1 กอ ทำผลผลิตในทางตรงได้หลายอย่าง ประโยชน์ด้านอื่นมีอีกมาก เช่น ก้านหรือต้นเทียม ใบ รากที่ตัดแต่งเอาเหง้า เอาแง่ง เอาหน่อไปแล้ว ยังใช้คลุมดินรักษาความชื้น เป็นปุ๋ย ใช้ก้านทำเชือกมัดผัก จักสาน ฯลฯ

เหง้าข่า คือต้นใต้ดินของข่า มีคุณค่าทางอาหาร ใน 100 กรัม ให้พลังงาน 20 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใยอาหาร 1.1 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3.1 กรัม โปรตีน 1.3 กรัม ไขมัน 0.3 กรัม ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม แคลเซียม 5 มิลลิกรัม เหล็ก 0.1 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.13 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.15 มิลลิกรัม วิตามินบีสาม 0.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 23 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน 18 ไมโครกรัม ข่ามีน้ำมันหอมระเหยที่ชื่อ Galangol และ Cineole  และ Pinene อยู่ในปริมาณที่มากอยู่ สกัดมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ได้คุ้มค่ามาก

ข่านำมาเป็นอาหาร เป็นผักประกอบอาหาร เป็นเครื่องเทศเครื่องแกงต่างๆ ได้หลายอย่าง เช่น หน่อข่า กินเป็นผักสดคู่กับอาหารที่มีรสเผ็ด เค็ม คาว เปรี้ยว มัน ใส่แกงแคกบ แกงอ่อมปลา แกงป่าไก่ ดอกตูม และผลอ่อน เป็นผักต้ม ผักลวกจิ้มน้ำพริก จิ้มแจ่ว ข่าอ่อนทำอาหารหลายอย่าง ต้มข่าไก่ ต้มข่ากุ้งเห็ด ต้มข่าซุปผัก ต้มข่าไก่ใบมะขาม แกงข่ากุ้ง ต้มยำหูหางหมู ต้มแซ่บไก่ ปลา หมู เนื้อ ข่าอ่อนหั่นเป็นแผ่นบางๆ ร่วมกับดอกตูม ใส่ผัดผักโขม ใส่แกงป่า ข่าแก่ ใส่ต้มอ่อมเนื้อ ต้มโคล้งหัวปลา ต้มยำกุ้ง ปรุงข้าวต้มปลา ตำน้ำพริกข่า เครื่องจิ้มจี้นนึ่ง หรือเนื้อนึ่ง วัวน้อยนึ่ง ตำน้ำพริกลาบเนื้อ ลาบหมู ลาบปลา ใส่ต้มยำกุ่มตีนควาย น้ำพริกยำหนังควายแห้ง ต้มน้ำชาข่าสมุนไพร และเป็นอาหารอีกหลายสิบอย่าง ตามที่คุ้ยชิน คิดรังสรรค์หามาทำกิน และมีข่าเข้ามาข้องเกี่ยว

หมอไทยเรา ใช้ข่าเป็นยาสมุนไพรรักษาโรคภัยไข้เจ็บมาแต่เก่ากาล คนอยู่รอดปลอดภัย แข็งแรง มีความสุขในการเป็นอยู่มาได้ ที่รู้เห็นกันเป็นเบื้องต้นว่า ข่าที่นำมาทำอาหารนั้นคือยา ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงร่างกายให้แข็งแรง บำรุงธาตุไฟ เหง้าสดตำละเอียด ผสมน้ำปูนใส กินครั้งละครึ่งแก้ว ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืดเฟ้อ ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน ขับเสมหะ แก้ไอ แก้เจ็บคอ เหง้าข่าแก่ตำผสมเหล้าขาว ทารักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน ผื่นคัน ลมพิษ หน่อข่า ข่าอ่อน ข่าแก่ ดอกตูม ผลข่าอ่อน ช่วยระบบย่อยอาหาร รักษาโรคแผลในกระเพาะ ช่วยในการบีบตัวของลำไส้ เป็นยาแก้ท้องร่วง แก้ปวดท้อง ฆ่าเชื้อบิด น้ำสกัดจากเหง้าข่า ใช้ทารักษาแผลสด ทารักษาโรคปวดข้อ ปวดกระดูก ข้ออักเสบ ข้อบวม ฟกช้ำบวม เป็นยาธาตุ รักษาหลอดลมอักเสบ ขับลมในลำไส้ ในกระเพาะ ขับโลหิตร้ายในมดลูก  ผลข่าแห้ง บดละเอียดทาแก้ปวดฟันได้ผลชะงัดนัก

อีกด้านหนึ่ง นักวิชาการเกษตร แนะนำให้ใช้ข่าเป็นวัสดุทดแทนการใช้สารเคมี ทำเกษตรอินทรีย์ ใช้ในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช โดยใช้เหง้าข่าหั่นตำ ผสมเมล็ดสะเดาแห้ง และตะไคร้หอม อัตราส่วน อย่างละ 2 ขีด แช่น้ำ 20 ลิตร เป็นเวลา 24 ชั่วโมง กรองเอาน้ำที่ได้ไปฉีดพ่นพืช ใช้น้ำยา 1 ลิตร ผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร ฉีดพ่นป้องกันกำจัดแมลง หนอน เพลี้ย ศัตรูที่มาทำลายต้นพืชปลูกของเราได้ เป็นสารธรรมชาติ หรืออินทรียสารที่ทรงคุณค่า ปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งคนปลูก คนค้าขาย คนกิน สร้างบรรยากาศแสนดี ให้บ้านเมือง และทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นองค์ประกอบของโลก ก็มีสุขร่วมกัน

ข่าเป็นผักสมุนไพร ที่ปลูกง่าย โตเร็ว อายุยืน ไม่ค่อยมีศัตรูพืชรบกวน ขยายพันธุ์ด้วยการแยกเหง้า เอาส่วนที่มีหน่อปลายสีชมพูอ่อนติด เหง้าพันธุ์ ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีตา 2-3 ตา ปลูกในแปลงระยะห่างหลุมละ 1×2 เมตร จะได้ 800 หลุม เมื่อแตกกอจะไม่ชิดติดกันมากไป สะดวกในการเก็บเกี่ยว หลุมปลูกกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร วางเหง้าพันธุ์ 2-3 ท่อน กลบดิน ให้น้ำ 2-3 เดือน จะแตกหน่อแทงมาใหม่ อาจจะต้องใส่ปุ๋ยสูตรเสมอเร่งให้โตไวๆ ดินเกือบทุกชนิดสามารถปลูกข่าได้ แต่ที่ข่าชอบคือดินร่วนปนทราย ข่าจะแตกหน่อแตกกอรวดเร็ว มีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ใส่แกลบดิบ หรือแกลบดำผสมดินก้นหลุม ถ้ามีทุนหน่อย ใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอด้วยก็ดี เป็นการบำรุงให้ได้ผลผลิตที่ตรงความต้องการ

การเก็บเกี่ยว ข่าอายุ 6-8 เดือน จะให้หน่อข่า ข่าอ่อน ข่าอายุ 1 ปี ให้ข่าแก่ และสามารถแยกแบ่งส่วน เป็นข่าแก่ ข่าอ่อน หน่อข่าได้ด้วย ผลผลิตได้มากกว่า 4 ตันต่อไร่ วิธีการเก็บเกี่ยวข่า ควรขุดหรือสับตัดเหง้าข่าออกมาเป็นบางส่วน เหลือเหง้าแก่ไว้เป็นต้นแม่พันธุ์ เพื่อให้แตกขยายกอใหม่ ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้หลายปี ถ้าขุดตัดเหง้าข่าออกมา 3 ส่วน 4 ของกอ จะเอาส่วนไหนไปขาย เอาไปทำประโยชน์อย่างใด ก็นำมาแยก ข่าอ่อน ข่าแก่ หน่อ ก็ได้อยู่ แต่มืออาชีพเขาจะผลิตข่าสู่ลูกค้าเป้าหมาย จะขุดข่าตามอายุและวัตถุประสงค์ที่จะใช้ เช่น เอาเฉพาะหน่อข่า หรือเอาข่าอ่อน หรือเอาข่าแก่ ก็เอาได้ทั้งนั้น เพียงแต่อยากจะให้เราปลูกข่าไว้ใช้ประโยชน์ เพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ อยู่อย่างพอเพียง ก็เพียงพอ และพึงพอใจ ให้เป็นภาพจำต่อไปไม่สิ้นสูญ