Auntie EAT’s Banana กล้วยหนึบป้าอี๊ด แม่ปลูก ลูกขาย ต่อยอดสร้างมูลค่า ทำน้อย แต่ได้มาก

กล้วย ผลไม้มากประโยชน์ กินเพิ่มพลังงานหรือกินเป็นยาก็ดี เพราะกล้วยน้ำว้าจะเป็นกล้วยที่ให้พลังงานมากที่สุด เมื่อเทียบกับกล้วยหอมและกล้วยไข่ หรือหากกินเป็นยา กล้วยน้ำว้าห่าม และสุกมีธาตุเหล็กในปริมาณสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง ช่วยให้ผิวพรรณดี มีเบต้าแคโรทีน ไนอะซิน และใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น โดยกินวันละ 4-6 ลูก

ส่วนกล้วยน้ำว้าดิบและห่ามมีสารแทนนิน เพคตินมีฤทธิ์ฝาดสมาน รักษาอาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงได้ โดยกินครั้งละครึ่งผล หรือ 1 ผล อาการท้องเสียจะทุเลาลง นอกจากนี้ จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า มีผลในการรักษาโรคกระเพาะได้อีกด้วย

คุณปกรณ์ วิเศษการ และน้องสาว คุณวงเดือน วิเศษการ ผู้พัฒนาสินค้า ออกแบบ บรรจุ จำหน่าย

และนอกจากการกินเป็นยาแล้ว กล้วยน้ำว้ายังสามารถนำมาแปรรูปทำเมนูขนมหวานได้หลากหลาย รวมถึงการนำมาแปรรูปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยตาก กล้วยอบ กล้วยฉาบ และอื่นๆ อีกมากมาย ถือว่าเป็นไม้ผลเศรษฐกิจอีกหนึ่งชนิดที่ช่วยสร้างรายได้สู่ชุมชน และสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่าไม่น้อย

คุณปกรณ์ วิเศษการ หรือ คุณเต้ย อาศัยอยู่ที่หมู่ที่ 2 ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี อดีตวิศวกรโรงงาน ลาออกจากงานด้วยวัยเพียง 40 ปีต้นๆ เหตุผลก็เพราะว่าในช่วงอายุ 40 ปี นับเป็นวัยที่ได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากข้างนอกมาอย่างเต็มที่แล้ว หากวางแผนอยากออกมาประกอบธุรกิจเป็นของตนเอง หรือวางแผนกลับมาสานต่อกิจการของครอบครัวถือว่ากำลังเหมาะสม เพราะตัวเองก็ยังมีแรงในการเริ่มต้นและเรียนรู้ ส่วนพ่อมีก็ยังพอมีแรงในการถ่ายทอดวิชางานสวน ถือเป็นผลดีที่ทำให้คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ทำงานต่อติดกันได้ง่ายขึ้น ช่วยให้การพัฒนาต่อยอดอาชีพของครอบครัวก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

อบด้วยเตาอบลมร้อน กล้วยสีเหลืองสวย

คุณเต้ย เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ทำงานประจำเป็นวิศวกรประจำโรงงาน ปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลัก โดยเป็นการวางแผนอนาคตไว้ล่วงหน้าว่าจะเกษียณตนเองออกจากงานเพื่อมาทำสวนในวัยที่ยังมีแรง หรือถ้าหากทำแล้วเกิดข้อผิดพลาดอย่างไรก็ยังพอมีแรงลุกขึ้นมาสู้ไหว โดยการบ้านในครั้งนี้ถือเป็นการกลับมาสานต่องานสวนต่อจากครอบครัว ควบคู่กับการพัฒนางานสวนในส่วนที่ยังบกพร่อง รวมถึงการต่อยอดสร้างรายได้ในรูปแบบของการนำผลไม้ในสวนมาแปรรูปสร้างรายได้ไว้ใช้จ่ายประจำวัน นอกเหนือจากไม้ผลที่สร้างรายได้หลักที่ผลผลิตออกปีละครั้ง

นำออกจากเตาอบ ทิ้งไว้ให้เย็น

โดยสวนของที่บ้านเน้นปลูกไม้ผลหลากหลายบนพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 25 ไร่ ที่ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณยาย จนมาถึงปัจจุบันตนเองถือเป็นทายาทรุ่นที่ 3 นับได้ว่าสวนแห่งนี้เป็นสวนเก่าแก่มีอายุเกือบ 100 ปี มีทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นพืชสร้างรายได้หลัก และมีกล้วยน้ำว้าถูกปลูกเอาไว้สลับกับผลไม้ชนิดอื่นๆ ในสวน ตามสไตล์ชาวสวนรุ่นบุกเบิกของจันทบุรี เพื่อให้ผลผลิตของกล้วยนำว้าออกมาให้เก็บกิน และช่วยสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ได้ตลอดทั้งปี ทั้งการตัดใบกล้วยขาย และขายกล้วยน้ำว้าสุก นั่นคือวิถีของคนสมัยบรรพบุรุษ แต่มาในปัจจุบันสื่อออนไลน์ค่อนข้างเข้ามามีบทบาทกับเกษตรกรมากขึ้นในแง่ของช่องทางการทำตลาด การขายสินค้าเกษตรทางออนไลน์สามารถเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว ด้วยความที่เป็นคนรุ่นใหม่ตนเองกับน้องสาว จึงใช้โอกาสนี้ในการหยิบเอากล้วยน้ำว้าของสวนมาแปรรูปสร้างมูลค่าให้เพิ่มขึ้นกว่าการขายผลสด ด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยหนึบแบรนด์  Auntie EAT’s Banana ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นสร้างรายได้ที่ดี และเป็นสินค้าที่มีอนาคตไกล

บรรจุใส่แพ็กเกจจิ้งสวยงาม พกพาสะดวก 

บรรพบุรุษเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิต
สู่รุ่นลูกต่อยอดการตลาด เข้ากันอย่างลงตัว

คุณเต้ย บอกว่า การทำงานสวนของตนเองโชคดีที่คุณยายวางแผนการทำสวนมาดี และมีพ่อกับแม่เคยซัพพอร์ตทางด้านการผลิต เพราะต้องยอมรับว่าเกษตรกรรุ่นพ่อรุ่นแม่เราถือเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการผลิต แต่ยังขาดความเชื่อมโยงไปสู่การตลาด หรือพูดง่ายๆ ว่าปลูกเก่ง แต่หาตลาดไม่เก่ง ปัญหาที่ตามมาก็คือถูกพ่อค้าคนกลางเข้ามาแทรกแซงกดราคาอยู่บ่อยๆ ดังนั้น เราเป็นรุ่นลูกค่อนข้างที่จะเข้าใจการทำตลาดในรูปแบบใหม่ เมื่อมีโอกาสได้มาทำตรงนี้จึงไม่รีรอที่จะใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่มาต่อยอดพัฒนาการเกษตรของที่บ้านในจุดที่บกพร่องให้ดีมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการทำตลาด การสำรวจตลาด การทำแพ็กเกจจิ้ง ส่วนจุดไหนที่ดีอยู่แล้วก็จะพยายามทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

Advertisement
แพ็กเกจจิ้งเป็นถุงซิปล็อก ป้องกันความชื้นได้ดี เก็บรักษาได้นาน

“การสำรวจตลาดก็คือการสำรวจทั้งคู่แข่งหรือคู่ค้าเดิมในตลาดว่าที่อื่นทำอะไรบ้าง ทำในรูปแบบไหน คุณภาพอยู่ระดับใด แล้วคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่เราจะผลิตจะต้องอยู่ในระดับไหน มาตรฐานควรจะมีอะไรบ้าง รวมถึงช่องทางการจำหน่ายควรจะอยู่ตรงไหน เพื่อไม่ไปซ้ำกับสินค้าตัวกล้วยตากเดิมๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัด และละแวกใกล้เคียงที่มีอยู่แล้ว เราก็ไปดูก่อน แล้วเราก็มาทำให้แตกต่าง ไม่ไปแย่งตลาดกัน แล้วนำของดีที่มีอยู่ในมืออยู่แล้ว มาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งคอนเซ็ปต์ที่คุยไว้กับน้องสาวคืออยากจะทำกล้วยที่เป็นกล้วยอบ กล้วยตากที่ดูดี พกพาสะดวก กินง่าย ไม่เลอะ และด้วยความที่ว่ากล้วยของเราเป็นพืชแซม ไม่ใช่พืชสร้างรายได้หลัก ก็เลยกลายเป็นว่าเราต้องทำน้อยๆ แต่ให้ได้มากๆ ก็เลยออกมาเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยหนึบ ที่อยู่ในแพ็กเกจจิ้งที่ดูน่ากินแบบนี้ออกมา”

ผลผลิตกล้วยน้ำว้าในสวน ลูกใหญ่ รสชาติหวานอร่อย

ขั้นตอนแปรรูปไม่ยุ่งยาก สำคัญที่ความพิถิพิถันในทุกขั้นตอน

สำหรับการแปรรูปกล้วยหนึบ คุณเต้ย อธิบายว่า ในกระบวนของการแปรรูปมีเพียงไม่กี่ขั้นตอน แต่ในทุกขั้นตอนตั้งทำอย่างพิถีพิถันและใส่ใจ เพื่อความสะอาดปลอดภัยกับผู้บริโภค แตกต่างไปจากเดิมที่ทำไว้กินเองก็จะมีวิธีทำแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน

Advertisement

“ช่วงแรกพวกเราเอากล้วยมาย่างกับหม้ออบจานบินบ้าง ขายเป็นหวีๆ ให้แม่ค้าที่ตลาดบ้าง ทั้งกินทั้งแจก ได้เงินมาไม่กี่ร้อยบาทก็ทำ เพราะเสียดายผลผลิตในสวน ต่อมาแม่ เรา และน้องสาวมีไอเดียทำกล้วยอบ โดยมีแนวคิดการอบช่วงนั้นคือ ได้ขายบ้างดีกว่าต้องทิ้งกล้วยทั้งหมด และถึงขายไม่ได้ก็ทำกล้วยอบ แล้วแจกญาติๆ กินก็ยังดี หลังจากที่พวกเราได้ลองผิดลองถูกกันมามากมาย เราก็เริ่มเปลี่ยนตู้อบลมร้อนจากรุ่นธรรมดาให้เป็นรุ่นที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดีขึ้น แล้วลองผิดลองถูกกันใหม่กับตู้อบใหม่ จนในที่สุดพวกเราก็ได้ผลิต กล้วยป้าอี๊ด ออกมาพอให้แม่ได้ชื่นใจ และแม่ก็ได้ขายกล้วยสมใจแล้ว”

ลูกใหญ่แบบนี้ ต้องใช้เวลาในการอบนานสักหน่อย 

ขั้นตอนการแปรรูปกล้วยหนึบป้าอี๊ด Auntie EAT’s Banana

1. นำกล้วยน้ำว้าที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วนำมาบ่ม เพื่อให้กล้วยสุกพร้อมกัน และจัดการได้ง่าย โดยวิธีการเลือกกล้วยมาอบก็คือถ้าหากได้กล้วยอบที่มีรสชาติหวาน เคี้ยวหนึบ ก็ต้องเลือกกล้วยที่มีความสุกในระดับหนึ่งหรือให้สังเกตที่เปลือกของกล้วย ให้เลือกเปลือกที่มีสีดำเล็กน้อย แต่ถ้าหากอยากได้กล้วยอบที่รสชาติหวาน เคี้ยวง่าย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ก็ให้เลือกกล้วยที่มีเปลือกสีดำ เมื่อนำมาอบจะได้กล้วยอบที่เคี้ยวง่าย

2. เมื่อได้กล้วยลักษณะตามต้องการแล้ว นำกล้วยมาปอกเปลือก แล้วผ่าตามแนวยาว ให้ออกมาลักษณะเป็นเส้นๆ คล้ายกับเฟรนช์ฟรายส์ นำไปล้างด้วยน้ำเกลือ หรือเรียกว่าผ่านน้ำเกลือ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวของกล้วยดำ

3. นำไปเข้าตู้อบลมร้อน ในอุณหภูมิ 60 องศา ใช้เวลาในการอบประมาณ 15-20 ชั่วโมง แล้วแต่ขนาดและปริมาณของกล้วยที่อบในแต่ละครั้ง เพราะฉะนั้นขั้นตอนการอบถือเป็นอีกขั้นตอนสำคัญในการควบคุมคุณภาพ คือต้องสังเกตด้วยว่ากล้วยที่ผ่าออกมา มีขนาดลูกเล็ก หรือใหญ่ ถ้าลูกใหญ่ น้ำในกล้วยก็จะเยอะขึ้น หากใช้เวลาในการอบ 15 ชั่วโมงอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเพิ่มเวลาในการอบให้มากขึ้นอีก 1 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น เพื่อให้ความแห้งของชิ้นกล้วยอบเป็นไปตามความต้องการ คือ เคี้ยวหนึบ รสชาติหวานกำลังดี หยิบกินไม่เลอะมือ

4. หลังจากอบกล้วยเสร็จแล้ว ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น แล้วทำการแพ็กใส่ถุงทันที เพราะถ้าหากปล่อยไว้นาน จะทำให้กล้วยมีความชื้น และอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนในอาหารได้

กล้วยน้ำว้าถูกปลูกสลับกับผลไม้ชนิดอื่นๆ ในสวน ตามสไตล์ชาวสวนรุ่นบุกเบิกของจันทบุรี

“นับเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี จากที่ต้องทิ้งบ้าง ขายบ้าง พอนำมาแปรรูปทำกล้วบอบ ใส่แพ็กเกจจิ้งสวยๆ พกพาสะดวก บรรจุในปริมาณถุงละ 100 กรัม ขายในราคาถุงละ 35 บาท ก็ขายดีจนกล้วยสุกไม่ทันมาอบแปรรูปขาย เมื่อหักต้นทุนทั้งค่าแพ็กเกจจิ้ง ค่าแรง และน้ำหนักของกล้วยที่หายไปในตอนอบแล้ว ก็ยังคุ้มค่ามีกำไรไม่น้อย” คุณปกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

หากท่านใดสนใจกล้วยหนึบป้าอี๊ด Auntie EAT’s Banana สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 094-745-3955 หรือติอต่อได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊ก : กล้วยป้าอี๊ด Auntie EAT’s Banana