ชวนไปชิมทุเรียนหมอนทอง ปลูกธรรมชาติ สวนทุเรียนนายเชิด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี

เมื่อเข้าสู่เทศกาลฤดูผลไม้อยากบอกเลยว่า “ทุเรียน” เป็นหนึ่งในไม้ผลสุดฮ็อต ที่หลายคนกำลังตั้งตารอคอย อย่างแน่นอน

คนไทยโชคดีมีทุเรียนให้ได้ชิมกันยาวนาน มีแหล่งปลูกหลายจังหวัด และหลายภาคกระจายตัวเกือบทั้งประเทศ เริ่มจากแหล่งผลิตหลักทางภาคตะวันออกก่อน ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ต่อด้วยช่วงฤดูการผลิตจากภาคใต้ ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม นอกจากนั้น เป็นผลผลิตตามจังหวัดอื่นอีกหลายแห่ง เมื่อรวมทั้งปีพบว่าคนไทยทานทุเรียนกันแบบจุกๆ 9 เดือนต่อปี โดยเริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคม

คุณเชิดศักดิ์ กลิ่นสารท และคุณนุจรี บุญร่วม(ภรรยา)

สายพันธุ์ทุเรียนมีจำนวนมากทั้งเก่าและใหม่ แต่ละชนิดมีจุดเด่นต่างกันขึ้นอยู่กับรสนิยมของคนชิม แต่พันธุ์ทุเรียนที่นิยมปลูกและเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคมากคือ หมอนทอง เหตุผลเพราะกลิ่นไม่แรงมาก รสชาติอร่อย หอมหวานมัน เนื้อละเอียดและแห้ง ไม่แฉะติดมือ มีสีเหลืองอ่อน เม็ดเล็กและลีบ ที่สำคัญไม่หวานจนเกินไป แล้วยังนิยมเลือกแบบกรอบนอกนุ่มใน ทางโภชนาการพบว่าหมอนทองมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระมากกว่าสายพันธุ์อื่น

ผลที่ไม่สมบูรณ์ต้องตัดทิ้ง

คราวนี้มาดูการปลูกทุเรียนที่จังหวัดอุทัยธานีกันบ้าง ภายหลังที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว ที่มีความเสี่ยงทั้งด้านการผลิตและการตลาด มาเป็นสวนผลไม้แบบผสมผสาน เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ในเขตอำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก และอำเภอห้วยคต มาเป็นเวลาหลายสิบปีพบว่า ผลผลิตมีคุณภาพดี ไม่เป็นรองใคร ทั้งยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคต่างอุดหนุนกันอย่างคึกคักทุกปี

วางระบบน้ำก่อนปลูก

สำหรับทุเรียน จังหวัดนี้ปลูกทุเรียนได้ดีมีคุณภาพไม่แพ้แหล่งอื่น ไม่ได้เน้นปลูกเชิงพาณิชย์แบบทางตะวันออก แนวทางปลูกจึงปล่อยไปตามธรรมชาติ ใช้เคมีเท่าที่จำเป็น เน้นดูแลจัดการสวนอย่างมีคุณภาพ ปัจจุบันพบว่าทุเรียนที่อุทัยธานีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ จังหวัดอุทัยธานีได้ส่งเสริมการปลูกทุเรียนในพื้นที่ที่มีศักยภาพ สนับสนุนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชิมและเลือกซื้อไม้ผลในแปลงของเกษตรกร นับเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อีกทางหนึ่ง

ใส่ธาตุอาหารและพ่นทางใบ ช่วยให้ใบสมบูรณ์เขียว

“สวนทุเรียนนายเชิด อำเภอบ้านไร่” โดยคนรุ่นใหม่อายุน้อยที่พบความสำเร็จด้วยการนำเทคโนโลยีควบคุมการให้น้ำผ่านมือถือผสมกับแนวทางปลูกทุเรียนตามหลักวิชาการจนได้ผลทุเรียนที่มีความสมบูรณ์ ลดต้นทุน สร้างรายได้ ทั้งยังได้รับการส่งเสริมเป็นสวนทุเรียนต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่สร้างมาตรฐานการปลูกทุเรียนแปลงใหญ่ในอนาคต

คุณเชิดศักดิ์ กลิ่นสารท เจ้าของสวนคลุกคลีอยู่ในวงการเกษตรมาตั้งแต่วัยเด็ก ช่วยครอบครัวทำเกษตรกรรมปลูกพืชและผลไม้ ปลูกทุเรียนมาตั้งแต่รุ่นพ่อเท่าที่จำได้พอเกิดมาก็เห็นต้นทุเรียนแล้ว เพราะท่านจะปลูกทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสับปะรด ยางพารา ส้มเขียวหวาน องุ่น มะม่วง มังคุด

สระน้ำซึมใต้ดินขนาดใหญ่เก็บใว้เวลาขาดแคลนน้ำยามหน้าแล้ง

เมื่อคุณเชิดศักดิ์มีครอบครัวจึงแยกออกมาทำอาชีพเกษตรด้วยตัวเองในชื่อ “สวนทุเรียนนายเชิด อำเภอบ้านไร่” ลักษณะสวนเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ปลูกทุเรียนกับยางพาราที่สร้างรายได้เท่านั้น ต้นยางพาราอายุ 18 ปี ปลูกพื้นที่ 15 ไร่ ประมาณ 900 กว่าต้น กรีดขายน้ำยางสด ส่วนพื้นที่ปลูกทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้วมีจำนวนประมาณ 9 ไร่ มีหลายพันธุ์แต่ปลูกหมอนทองเป็นหลัก มีอายุต้นประมาณ 7 ปี ส่วนพันธุ์นกหยิบ ชะนี มูซานคิง ปลูกไว้ไม่กี่ต้นเพื่อโชว์มาเที่ยวสวนมากกว่า

แม้จะมีวัยเพียง 35 ปี แต่การได้สะสมประสบการณ์ปลูกพืชและผลไม้มาตั้งแต่วัยเด็กทำให้คุณเชิดศักดิ์วางแผนการปลูกทุเรียนอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ พร้อมกับนำเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่มาใช้กับการจัดการสวนทุเรียนแห่งนี้ด้วย

น้ำจากบ่อบาดาลสูบขึ้นมาพักไว้ในบ่อน้ำปูพลาสติก เป็นแหล่งน้ำหลักในการไว้รดทุเรียน

คุณเชิดศักดิ์ บอกว่า สภาพดินที่บ้านไร่เป็นดินร่วนปนทราย ลักษณะพื้นที่เป็นแบบราบลุ่มและเนินขนาดเล็กสลับกัน ก่อนปลูกต้องไถพรวน ยกร่อง ยกโคก ไม่จำเป็นต้องปรุงดินเพราะดินมีคุณภาพสมบูรณ์อยู่แล้ว เพียงแค่ไถพรวนพลิกหน้าดินก็เพียงพอแล้ว จากนั้นทำคันปลูกเป็นแบบลอนกระเบื้อง

ซื้อกิ่งพันธุ์เสียบมาจากชุมพร ขุดหลุมปลูกให้ลึกเพียงแค่ปากถุงต้นพันธุ์ ไม่ต้องรองก้นหลุม นำต้นลงหลุมกลบดินปักไม้ค้ำยัน ระยะห่างต้น 8 คูณ 8 เมตร ได้จำนวน 22-25 ต้นต่อไร่ เหตุผลที่กำหนดระยะนี้เพราะต้องการรักษาทรงพุ่มให้เหมาะสม ไม่เบียดกัน มีแดดส่องเข้าถึงพื้นดิน

เงาะปลูกไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวชิมกัน

สวนแห่งนี้จัดการปัจจัยการผลิตให้มีความถูกต้องเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย น้ำ การอารักขาพืช การผสมเกสร การตัดแต่งดอก และผล ฯลฯ ตามขั้นตอนของเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนให้สอดคล้องกับสภาพต้น และความพร้อมของกิ่ง โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมี สลับกับปุ๋ยเคมีตามปริมาณที่กำหนด

ผลทุเรียนลูกเล็กระยะไข่ไก่

การใส่ปุ๋ยและดูแล

แต่ละช่วงการเจริญเติบโต

สำหรับปีแรก ยังไม่เน้นปุ๋ยมากนัก อาจใส่เป็นปุ๋ยอินทรีย์+เคมีเพียงเล็กน้อยเดือนละครั้ง แต่ควรให้ความสำคัญกับน้ำอย่างเต็มที่อย่าให้ขาดหรือมากเกินไป ระบบน้ำเป็นแบบสปริงเกลอร์วางระบบตอนปรับพื้นที่ปลูก

เม็ดลีบเล็ก เนื้อเยอะมาก แห้ง เปลือกบาง

ปีที่สอง หลังจากต้นทุเรียนเป็นทรงพุ่มแล้ว จึงเริ่มจริงจังเรื่องปุ๋ยชนิดต่างๆ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตพร้อมกับสร้างความแข็งแรงของต้น โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์เคมีสูตร 6-3-3 หรือ 5-3-3 เพื่อบำรุงต้นและใบ เร่งการโต อาจสลับกับปุ๋ยเคมีอย่าง 30-9-6 หรือสูตรเสมอ 15-15-15 ทุก 15 วันในปริมาณครั้งละ 1-2 ขีด ปริมาณการใส่ปุ๋ยในช่วงนี้ต้องดูขนาดและความสมบูรณ์ทรงพุ่มก่อนถึงจะตัดสินใจว่าจะใส่มากหรือน้อย

ปีที่สาม แนวทางการใส่ปุ๋ยยังเหมือนเดิม แต่จะเพิ่มเรื่องการบำรุงใบด้วยการฉีดพ่นสาหร่ายทะเล ใส่ธาตุอาหารหลักและรองจำพวกสังกะสี แมกนีเซียม แคลเซียมโบรอน โดยจะฉีดพ่นไปพร้อมกับยากำจัดแมลงในช่วงเวลา 15-30 วันต่อครั้ง แล้วให้ดูแลใส่ปุ๋ยวิธีนี้ไปจนเริ่มปีที่ให้ผลผลิต

เริ่มโยงกิ่งตอนอายุประมาณ50วัน

ปีที่สี่ ก่อนจะถึงช่วงมีดอกควรสะสมอาหารไว้ด้วยการใส่ปุ๋ยเหลวที่มีตัวกลางสูง เช่น 0-25-15, 0-0-25 พร้อมกับธาตุอาหารรองเข้าไปในกระบวนการสะสมอาหารในช่วงก่อนมีดอก ให้เริ่มใส่ก่อนถึงช่วงมีดอกประมาณ 2 เดือน ใส่ 3-4 ครั้ง เพื่อให้ต้นมีอาหารที่สมบูรณ์เพียงพอกับการเลี้ยงดอกและผล

ระยะดอก เป็นระยะที่ต้องดูแลเรื่องโรคและศัตรูอย่างใกล้ชิด อย่างเพลี้ยไฟ หนอน ขณะเดียวกัน ต้องดูแลให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสมเพราะดอกที่เพิ่งเริ่มออกยังอ่อนแอ จะใช้ชีวภัณฑ์อย่างบิวเวอเรีย เพื่อป้องกันโรคพืช ทั้งนี้ การดูแลโรคและศัตรูพืชควรเป็นแบบป้องกันและกำจัดในคราวเดียว ให้ฉีดพ่นไปพร้อมกัน อย่ารอให้เกิดปัญหาก่อน เพราะเมื่อดอกเสียหายจะส่งผลเสียต่อรอบการผลิตครั้งนั้น จะต้องไปเริ่มต้นใหม่ในรอบหน้า ทำให้เสียโอกาส

ว่าที่ร้อยตรีสำราญ สุขเรือง เกษตรตำบลคอกควาย

ระยะไข่ปลา ต้องควบคุมกำจัดเพลี้ยแป้งเพราะจะเข้ามาดูดน้ำเลี้ยง ขณะเดียวกัน ต้องให้อาหารเสริมอย่างสาหร่ายทะเล ปุ๋ยเหลว และธาตุอาหารรอง เมื่อเข้าระยะมะเขือพวง-ต้องดูแลตามแนวทางเดิมไปจนกว่าดอกเริ่มบานแล้วจึงลดปริมาณการให้น้ำลงตามอัตราส่วน อย่างถ้าเคยใช้เวลารดน้ำ 30 นาที ให้ลดลงมาเหลือ 10 นาที เหตุผลที่ต้องลดปริมาณน้ำเพราะต้องการให้เกสรดอกมีความเข้มข้น การผสมเกสรจะมีความสมบูรณ์อย่างเต็มที่

หลังจากผสมเกสรแล้วเข้าสู่ช่วงหางแย้ไหม้ ช่วงนี้กลับมาเพิ่มปริมาณการให้น้ำอีกครั้ง ค่อยๆ เพิ่มจนเป็นระดับปกติเหมือนครั้งแรกคือ 30 นาทีเนื่องจากเป็นช่วงทุเรียนขึ้นลูก ต้องให้น้ำในปริมาณนี้ไปจนกว่าเป็นผลกระป๋องนม หากต้องการให้ผลโตเร็วและเบ่งพูก็ให้เพิ่มน้ำเข้าไปอีกจากเดิมโดยจะเพิ่มจำนวนวันให้น้ำหรือเพิ่มจำนวนเวลาที่ให้น้ำก็ได้ ที่สำคัญของช่วงนี้ที่ต้องระวังคือการเข้าทำลายของหนอนเจาะผล ให้หมั่นสังเกต ถ้าพบให้พ่นยาป้องกัน

ระบบอัตโนมัติ

หากต้องการเพิ่มความหวานและสร้างคุณภาพเนื้อก็ให้เพิ่มในช่วงนี้ โดยการใส่ปุ๋ยทางดินสูตร 13-13-21, 9-9-29 จะใส่ในช่วงทุเรียนมีอายุ 80 วัน และไม่ควรเกิน 90 วันเนื่องจากต้นจะปฏิเสธการดูดซึมปุ๋ยและแร่ธาตุอาหาร ทั้งนี้ ปริมาณที่ใส่ปุ๋ยดังกล่าวต้องสัมพันธ์กับอายุต้น อย่างถ้าต้นอายุ 7 ปี ใส่ครึ่งกิโลกรัมต่อต้น ถ้าอายุมากกว่าจะให้ใส่ 1 กิโลกรัมต่อต้น ใส่ครั้งเดียว แล้วให้น้ำเต็มที่ไปจนถึง 110 วันแล้วค่อยลดปริมาณน้ำลง

สวนทุเรียนคุณเชิดศักดิ์ ทำระบบน้ำแบบอัจฉริยะ ควบคุมการทำงานของน้ำด้วยมือถือ ประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีสื่อสารมาใช้ครั้งนี้สามารถควบคุมความเหมาะสมของความชื้นในดินให้สัมพันธ์กับอุณหภูมิอากาศที่ส่งผลต่อความต้องการน้ำของต้นทุเรียน ถือว่าเป็นการนำเทคโนโลยีสื่อสารมาใช้ในด้านเกษตรที่มีประสิทธิภาพ จะเรียกว่าเป็น Smart farm ก็ไม่น่าจะเกินจริง

เมื่อผลทุเรียนเริ่มโตต้องตัดผลที่ไม่สมบูรณ์ออกเพื่อให้อาหารไปเลี้ยงผลที่สมบูรณ์เต็มที่ ผลที่ไม่สมบูรณ์มีลักษณะเป็นหางเป็ดหรือยาวแหลมต้องตัดทิ้ง สำหรับผลที่สมบูรณ์มีลักษณะเหมือนไข่ไก่จะเก็บไว้ ให้สังเกตลักษณะผลทุก 7 วัน หากพบให้ตัดออกจนกว่าจะเหลือผลที่สมบูรณ์ทั้งหมด แล้วเริ่มโยงกิ่งตอนอายุประมาณ 50 วัน

สวนคุณเชิดศักดิ์ตัดทุเรียนขายเมื่อผลสุก 90-95% เป็นช่วงที่ทุเรียนกำลังอร่อยมากที่สุด มีความหอมมันเพราะที่สวนเน้นตัดขายให้กับนักท่องเที่ยวหรือลูกค้าที่มาซื้อที่สวนเท่านั้น จึงกำหนดวันให้สุกแก่ได้ ส่วนน้ำหนักผลเริ่มตั้งแต่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป ทุกผลไม่ว่าเล็ก-ใหญ่อร่อยเหมือนกัน

พันธุ์นกหยิบก็มี

จุดเด่นทุเรียนหมอนทองของอำเภอบ้านไร่อยู่ที่มีรสหวาน หอม และมันผสมกลมกลืนกัน น้ำหนักผลราว 2-5 กิโลกรัม เม็ดลีบเล็ก บางทีไม่พบเม็ดด้วยซ้ำ ส่วนเนื้อเยอะมาก แห้ง เปลือกบาง พูใหญ่ แต่ลักษณะดังกล่าวขึ้นอยู่กับสวนที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพทั้งปุ๋ย ยา อาหารเสริม และน้ำ

ลูกค้าทุเรียนเป็นกลุ่มที่มาเที่ยวอุทัยธานี แล้วจึงเดินทางมาซื้อทุเรียน ส่วนมากเป็นขาประจำตั้งใจมาซื้อที่สวนโดยจะติดตามจากเพจ : สวนทุเรียนนายเชิด อำเภอบ้านไร่ มาซื้อทุเรียนที่ตัดรอไว้ หรือบางรายเดินเข้าไปเลือกผลที่ต้องการจากต้น นอกจากทุเรียนยังมีไม้ผลอื่น อย่างเงาะ มังคุด ที่ปลูกไว้เล็กน้อยในสวนสำหรับไว้ให้ลูกค้าชิม ถือเป็นกิจกรรมสนุกๆ ให้กับลูกค้าด้วย เจ้าของสวนบอกว่า ราคาขายทุเรียนปกติกิโลกรัมละ 180 บาท (ราคาปี 2565) คาดว่าปีนี้ราคาคงประมาณนี้

พันธุ์ชะนี

สวนต้นแบบการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี

เพื่อการปลูกทุเรียนอย่างมีคุณภาพ

สวนทุเรียนคุณเชิดศักดิ์ได้รับการพิจารณาจากทางสำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานีเพื่อให้เป็นต้นแบบสวนเรียนรู้การปลูกทุเรียนแบบมีคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่บ้านไร่และพื้นที่อื่นมาศึกษาเรียนรู้การปลูกทุเรียนที่ได้มาตรฐาน ผลสำเร็จดังกล่าวทำให้คุณเชิดศักดิ์ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวน ประจำปี 2566 ถือว่าเป็นคนหนุ่มอายุน้อยที่ประสบความสำเร็จด้านเกษตร

ทางเข้าสวนทุเรียนนายเชิด

ว่าที่ร้อยตรี สำราญ สุขเรือง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านไร่ เกษตรตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า ทางเกษตรตำบลเข้ามาอำนวยความสะดวกในเรื่องการดูแลจัดสวนแห่งนี้ก่อนเพราะต้องการทำให้เป็นสวนต้นแบบการผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพผ่านการจัดการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

เหตุผลที่เลือกสวนแห่งนี้เพราะเจ้าของสวนจัดระบบการปลูกทุเรียนได้ดีตามหลักวิชาการระดับหนึ่ง ถือเป็นสวนแห่งเดียวที่มีศักยภาพ เจ้าของสวนมีความรู้ เป็นคนรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์ พร้อมเปิดรับองค์ความรู้ใหม่

เพิ่งตัดจากต้น อร่อยทุกลูก

“ภารกิจของเกษตรตำบลเข้ามาสนับสนุนทางด้านวิชาการเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปุ๋ย ดิน และน้ำเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และเหมาะเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อให้ชาวสวนในพื้นที่เข้ามาศึกษาดูงาน วางรากฐานให้เป็นการจัดตั้งกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนอุทัยธานีในอนาคต จากนั้นจะมองไปยังเรื่องการตลาด ตลอดจนการสร้างเอกลักษณ์ของทุเรียนบ้านไร่เพื่อขอรับรองเครื่องหมาย GI ของจังหวัดต่อไป”

ท่านใดสนใจจะเดินทางไปชิมความอร่อยทุเรียนบ้านไร่ซึ่งจะเริ่มมีผลผลิตช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ติดต่อสวนทุเรียนนายเชิด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โทรศัพท์ 063-846-1229 เฟซบุ๊ก สวนทุเรียนนายเชิดบ้านไร่