ชำมะเลียง ผักมีคุณค่าเป็นอาหารและยามาแต่กาลก่อน

ในสวนทุเรียน ลางสาด มักจะพบไม้ระดับสี่หรือระดับกลาง คือไม้พุ่มเตี้ยประเภทกินได้ พุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้าง สูงประมาณท่วมหัวคน มีที่ถูกตัดแต่งกิ่งให้เป็นพุ่มต่ำ พอที่จะไม่ลำบากนัก ในการเก็บผลเด็ดยอดใบ พบไม้พุ่มขึ้นอยู่ทั่วไปในสวน บริเวณโคนต้นไม้หลักบ้าง ริมทางเดินบ้าง ข้างกระท่อมพักบ้าง ริมห้วยลำธารบ้าง เป็นการขยายเจริญพันธุ์ตามวิถีของพืชป่าธรรมชาติ หรืออาจมีพาหะ เช่น นก กระรอก กระแต หรือคน นำพาไปให้เจริญงอกงามจากต้นแม่แพร่ไปอีกจุดหนึ่ง จะด้วยความบังเอิญ หรือตั้งใจก็ตามที

“ชำมะเลียง” ผักป่าที่ชาวบ้านนิยมนำยอดใบอ่อนมาเป็นผัก ประกอบอาหารหลายอย่าง ตั้งแต่ยุคสมัยเก่าก่อน ใช้เป็นอาหารกินในป่า ในไร่ สวน เก็บมาใช้เป็นผักสด เอาทำกับข้าวกินที่ครอบครัว เมื่อก่อนคนเก่าเล่าว่า การเลี้ยงเด็กน้อย นอกจากป้อนด้วยข้าวสุกบด กล้วยน้ำว้าบด พอโตขึ้นมาก็เริ่มให้อาหารประเภทข้าว ไข่ต้ม ปลาต้ม เนื้อต้ม ผักต้ม เป็นอาหารอีกระดับ และมักจะมี ต้มจืดหมูสับใส่ใบชำมะเลียง เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดี ชาวบ้านผู้ใหญ่ ใช้ยอดใบอ่อนเป็นผักสด แกล้มลาบ ยำ พล่า ก้อย ใส่ร่วมกับยอดมะขาม แกงส้ม ต้มโคล้งหัวปลา แกงเลียงผักรวม แกงปลาย่าง แกงหมู ผักชำมะเลียงลวก นึ่ง ต้ม หรือชุบแป้งทอด จิ้มน้ำพริก จิ้มแจ่ว นึ่งปลา ห่อหมกปลา ห่อหมกหมู ไข่เจียวชำมะเลือง และอีกมากมายหลายเมนู ที่ชวนให้น่ากินทั้งนั้น

ผลชำมะเลียง ใช้กินเป็นผลไม้ได้ รสชาติดี หวาน ฝาด ก่อนกินควรจะต้องคลึงผลเบาๆ ให้นิ่มทั่วผล จะลดความฝาดหมดไป เหลือไว้แต่ความหวานอร่อยนุ่มลิ้น แต่มีข้อเสียอย่างหนึ่งคือ กินแล้วปากจะเป็นสีดำ เหงือกฟันดำปี๋ หนุ่มสาวสมัยนั้นคงกลัวไม่สวยไม่หล่อ จึงไม่ค่อยนิยมนำมาเป็นผลไม้กินเล่น แต่ก็มีบางคนพวกปลงแล้วซึ่งรูปโฉมสังขาร ยังคงชื่นชอบ และเห็นเป็นของดีมีคุณค่า หรือเพราะว่าหาอะไรกินเล่นไม่ค่อยได้ มายุคสมัยนี้นิยมกันมากขึ้น มีเทรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เฉพาะความเชื่อในเรื่ององค์ประกอบของสารอาหาร ว่าผักผลไม้ที่สีสัน เช่น สีม่วงสีเขียวขององุ่น สีม่วงคล้ำของลูกหว้า สีชมพูม่วงดำของลูกหม่อน สีดำแดงของตะขบตาควาย สีเหลืองแดงของมะละกอ และผลไม้อีกหลายอย่างที่มีเนื้อผิวสี เป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ผิวพรรณเหี่ยวย่น หนังหย่อนยาน ผมหงอก แก่ก่อนวัย หรือตายเพราะมะเร็ง ผลสุกชำมะเลียง นำมาทำน้ำชำมะเลียง ดื่มอร่อยยิ่งนัก สีเปลือกผลชำมะเลียงใช้เป็นสีผสมอาหารได้ดี ให้สีม่วงแจ่มสว่าง ผลกินอร่อย แต่อย่ากินมากเกินไป จะเกิดอาการท้องอืด

ชำมะเลียง หรือ Luna Nut หรือ Chammalian เป็นไม้ในวงศ์ SAPINDACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepisanthes fruticose (Roxb.) Lecnh เป็นพรรณไม้ที่กระจายพันธุ์แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย ถึงฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ในประเทศไทยมีมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือ มีชื่อเรียกหลากหลาย ทั่วไปเรียก ชำมะเลียง ชำมะเลียงบ้าน ชำมะเรียง พุมเรียง พุมเรียงสวน ชาวตราดเรียก โคมเรียง ชาวโคราช เรียกพูเวียง ชาวอีสานเรียก ภูเวียง มะเกียง หวดข้าใหญ่ ชาวเหนือเรียก มะเถ้า มะขี้เถ้า ผักเถ้า ผักเต้า มะขี้เต้า ซึ่งหลายคนเคยกิน บ้างมีปลูกในสวน ปลูกข้างรั้วบ้าน เคยเห็นวางขายตลาดสดในชุมชน และหลายคนรู้จักต้น ใบ ดอก ผล เช่นเดียวกัน กับอีกหลายคนคงไม่รู้จัก เชื่อว่าถ้ารู้จัก ต้องรักในอัตลักษณ์ของ “ชำมะเลียง” เป็นแน่แท้

เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลาง อาจจะพุ่มสูงได้ถึง 7-8 เมตร ลำต้นกิ่งก้าน มักจะบิดคดงอดูเป็นศิลปะ และนำไปเป็นไม้ใช้สอย งานก่อสร้าง งานศิลปหัตถกรรม เป็นเชื้อเพลิงได้ ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยรูปไข่กลับ แต่รียาวคล้ายใบพาย ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ผิวใบเกลี้ยง ออกเรียงเป็นคู่ตลอดแนวก้านใบ โคนก้านใบจะมีหูใบเป็นกลีบกลมๆ เรียงเวียนซ้อนกัน ยอดใบที่แตกใหม่ มีสีเขียวอ่อนอมเหลือง ส้มเหลือง เขียวแกมชมพู ก้านสีม่วง ใบอ่อนสีสว่างสดใสสวยงามมาก และกลายเป็นใบเขียวสดเมื่อแก่ แผ่ใบแบบขนนกที่คงทนอยู่นานมาก ดอก มีสีขาวครีม และอมม่วง ออกเป็นช่อดอกระย้ายาวสวยงามมาก เป็นดอกสมบูรณ์ มีรังไข่ และก้านเกสรตัวผู้ เมื่อผสมเกสรแล้ว จะกลายเป็นผลไม้ที่มีเมล็ด ผลรูปไข่ ถึงรูปกลมรียาว ออกเป็นช่อพวงคล้ายพวงมะไฟ มีเมล็ดแฝด ทำให้ดูเหมือนเป็นผลแบน 2 ผลประกบกัน เห็นเป็น 2 พู หรือมีเมล็ดเดี่ยว ลูกกลมรีก็มี ผลสีเขียวอ่อน แล้วจะเปลี่ยนเป็นเหลือง ชมพู แดง ม่วง ม่วงดำ ตามลำดับอายุอ่อนถึงแก่ถึงสุกงอมแบบผลไม้ทั่วไป

ต้นชำมะเลียง ปลูกติดง่าย โตเร็ว เพาะเมล็ดโดยนำผลสุกงอม มากินเนื้อ ล่อนเอาเมล็ดแล้ว นำไปล้างน้ำ ขัดเยื่อเนื้อออกให้หมด ผึ่งลมให้แห้ง ก่อนนำไปเพาะในกระบะทราย ให้แช่น้ำอุ่น 1-2 ชั่วโมง ห่อผ้าชุบน้ำ บ่มไว้ในกล่องที่ปิดฝา ไว้ในที่ร่ม 2-3 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก นำไปเพาะในกระบะทราย หรือลงถุง กระป๋อง แก้วน้ำพลาสติก หรือเพาะลงกระถาง ใส่ดินร่วนปนทราย ผสมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือใช้ดินขุยไผ่ 5-6 วัน จะแทงยอด ควรเอาไว้ในที่ร่มรำไร จนเมื่อแตกใบจริง เอาออกรับแสงครึ่งวัน เก็บเข้าร่ม ประมาณ 25-30 วัน ต้นจะโต พอที่จะนำไปปลูกลงดินที่ต้องการได้ ถ้าจะปลูกเป็นไม้ประดับ ควรย้ายลงกระถาง กระถางใหญ่ได้ต้นใหญ่ กระถางเล็กได้ต้นเล็ก ควรเปลี่ยนกระถางเมื่อเห็นว่า ชำมะเลียงน้องรักของเราออกอาการแกร็น เพราะรากหนูเต็มกระถางแล้วจ้า หรือเอาไปปลูกเป็นไม้พุ่มใหญ่ได้เลย ซื้อขายกันให้ราคาตามขนาดทรงต้น แต่บางคนชอบทำไม้แคระ ก็ได้อยู่ แล้วแต่นานาจิตตัง

เดี๋ยวนี้มีชาวสวน นำเอาเมล็ดชำมะเลียงไปเพาะลงถุงหรือหยอดหลุม บางท่านตัดกิ่งปักชำใส่ถุงไว้ใต้ต้นไม้ เมื่อติดพร้อมจะโตแล้ว นำไปปลูกเป็นแนวรั้วเขตสวน กั้นแดนแทนรั้วลวดหนาม บางท่านนำไปปลูกป่าเป็นพืชอาหารของสัตว์ป่าอนุรักษ์หลายชนิด นก กระรอก กระแต ลิง ค่าง บ่าง ชะนี ชะมด เก้ง กวาง ฯลฯ บางท่านมีต้นแม่พันธุ์ชำมะเลียง ต้นใหญ่ ลูกใหญ่ หวานหอม ยอดใบใหญ่ อวบ ให้ผลดก ช่อผลยาว ได้เก็บผลแก่มาทำพันธุ์เพาะขยาย ให้กับนักจัดสวนปรับภูมิทัศน์ ซื้อขายกันต้นละหลายร้อย ชำมะเลียงนำมาจัดสวน เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลาง ใบเขียวสดทั้งปี ยิ่งช่วงที่ชำมะเลียงแตกยอดช่อใบใหม่ สีสันสวยงาม สดใส ส่งประกายความสุขสดชื่นแก่ผู้คนยิ่งนัก ยามเมื่อชำมะเลียงติดดอกออกผล พวงระย้าของช่อดอกว่าสวยแล้ว ยังส่งต่อความงดงามให้กลายเป็นพวงผลที่สง่างามอีกด้วย

ชำมะเลียงนับว่าเป็นผักป่าหรือผักพื้นบ้านที่ทรงคุณค่า นับเป็นยาสมุนไพรที่หมอพื้นบ้านหรือแม้แต่คนเก่าก่อนก็รู้ สรรพคุณหลายอย่างที่เทียบเคียงได้เท่ากับยาแผนปัจจุบัน ผลแก่ชำมะเลียงสีดำคล้ำ กินเป็นยาแก้ท้องเสีย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เป็นยาบำรุงกำลัง สร้างภูมิคุ้มกัน ต้านอนุมูลอิสระ บำรุงร่างกาย บำรุงผิวพรรณ บำรุงสายตา แก้ท้องผูกไม่ขับถ่าย แก้ท้องเสีย ช่วยบำรุงระบบย่อยอาหาร รากต้นชำมะเลียง มีรสเบื่อจืด ขมเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด ปวดศีรษะ แก้ไข้เหนือ แก้ไข้สันติบาต แก้ไข้ลมพิษ แก้ไข้กาฬ แก้ไข้จับสั่น แก้ร้อนใน แก้เลือดกำเดาไหล แก้อาการกระสับกระส่าย แก้ผิวหนังผื่นคัน เปลือกต้น ใช้เป็นยาแก้ปวดบิด เมล็ด เป็นยาแก้ไอ แก้หอบหืด

คงอยากจะพร่ำรำพัน และสืบค้นหาที่มาของชื่อ “ชำมะเลียง” ว่าชำมะเลียงต้นนี้ ได้ชื่อนี้มาอย่างไรหนอ? ขอเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ว่ามีชื่อบางท้องถิ่นเรียกว่า “พุมเรียง” ชื่อพุมเรียง เป็นชื่อหมู่บ้านชุมชนโบราณ เมืองท่าของเมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีอายุยืนยาวแต่โบราณเนิ่นนานมา เอกลักษณ์ที่สำคัญคือ ผ้าไหมพุมเรียง ซึ่งมีการทอลวดลายคล้ายตัวดักแด้ไหม คือกลมรี และสีสันออกจะในโทนสีคล้ำดำ ซึ่งเป็นรูปลักษณ์ของผลไม้ชนิดหนึ่ง ที่มีขึ้นตามป่าเขาเขตแคว้นแดนพุมเรียง เมืองไชยา ดังนั้น ต้นไม้ที่ชื่อ “พุมเรียง” จึงเป็นสัญลักษณ์ และชื่อของหมู่บ้าน ตำบลพุมเรียง และชื่อผ้าไหม ที่ลวดลายคล้ายสร้างแบบมาจากผลพุมเรียง แล้วคงจะมีการเรียกที่เปลี่ยนไป เป็น “ชำมะเรียง” บ้าง “ชำมะเลือง” บ้าง หรือเป็น “ชำมะเลียง” ก็เป็นได้นิ และอีกชื่อเป็นภาษาเหนือ “มะเต้า” เดี๋ยวนี้หมายถึง แตงโม แต่คำว่า “เต้า” แปลว่า “ถั่ว” มาจากจีน เช่น เต้าเจี้ยว เต้าหู้ เต้าส่วน เอ…แล้วมันเกี่ยวอะไรกับชำมะเลียง เกี่ยวสิท่าน ชื่อสามัญของชำมะเลียง คือ “Luna Nut” หมายถึง ถั่วลูนา ก็คือ มะเต้า นั่นเอง

“ชำมะเลียงเจ้าเอย เจ้าเลยพื้นดินถิ่นไป สุกสกาวอยู่ข้างดาวดวงใหญ่ ทิ้งต้นลืมใบ ไฉไลกานดา…” แว่วเสียงเพลงแสนเพราะของ วินัย พันธุรักษ์ นี้ ได้ฟังแล้วก็พลันหวั่นไหวตาม ด้วยกริ่งเกรงว่า “ชำมะเลียง” จะหายสูญพันธุ์ ไปจากถิ่นแดนแคว้นบ้านเรา พรรณไม้ที่ให้ประโยชน์อย่างมากมายต่อชีวิตชาวบ้าน ตั้งแต่สมัยบรรพชน ปู่ย่าตาทวดเคยได้รู้ ได้หลงรัก ได้สัมผัส ได้พึ่งพา เป็นทั้งอาหาร เป็นทั้งยา เดี๋ยวนี้หายาก พบได้ในสวนพฤกษศาสตร์ สวนผลไม้เก่าแบบสวนลับแล มีบ้างตามบ้านคนที่รู้จัก และรักชำมะเลียง ยังอยากให้มี ชำมะเลียงอยู่เคียงกาย ชำมะเลียงแก้วตา สัญญาข้ามีด้วยใจ…อยากกระซิบบอกว่า รักนะชำมะเลียง