ทุเรียนหลงพญา จันทบุรี มีต้นเดียว ขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์แล้ว

จันทบุรี ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งผลไม้ ที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย มาอย่างตลอดต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน มังคุด เงาะ สะละ ระกำ ลองกอง ลำไย กระท้อน และอื่นๆ อีกมากมาย ทุกๆ ปี ผลไม้ก็จะเริ่มทยอยออกพร้อมกันในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤษภาคม

ที่ผู้เขียนเกริ่นมาข้างต้นนี้มิได้จะรายงานเศรษฐกิจพืชผลไม้ของเมืองจันท์…

แต่มีเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากกว่านั้น เพราะเพื่อนฝูงส่งต่อข้อความมาบอกว่า จังหวัดจันทบุรีได้ค้นพบ ทุเรียนสายพันธุ์ใหม่และผ่านการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชมา สดๆ ร้อนๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยกรมวิชาการเกษตร ในปี พ.ศ. 2564 ก็เมื่อเร็วๆ นี้เอง ทุเรียนพันธุ์ใหม่ที่ว่านี้มีชื่อว่า “ทุเรียนหลงพญา”

ที่บ้านเลขที่ 44/6 หมู่ที่ 1 ตำบลจันทเขลม อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี คือแหล่งกำเนิดของทุเรียนหลงพญา โดยมี คุณภัทรภร เลิศวงค์ หรือ เจ้สาย เป็นเจ้าของสายพันธุ์

คุณภัทรภร เลิศวงค์ หรือ เจ้สาย กับใบรับรองการขึ้นทะเบียนและต้นกล้าหลงพญาจากการเสียบยอด

เมื่อดูจากสภาพบรรยากาศโดยรอบๆ ของบ้านคุณภัทรภรนั้นมีลักษณะเป็นบ้านก่ออิฐฉาบปูนติดพื้นหลังเดียวอยู่กลางสวนป่า ไม่ต่างอะไรกับบ้านคนสวนทั่วไป

คุณภัทรภรเป็นคนเรียบง่ายใช้ชีวิตธรรมดาๆ กับครอบครัวเล็กๆ 4 ชีวิต พ่อ แม่ ลูก มีอาชีพทำสวนยางพารา บนที่ดิน 10 ไร่ ติดเชิงเขาพญา อำเภอเขาคิชฌกูฏ ไม่ได้ทำสวนไม่มีสวนทุเรียนแต่อย่างใด อาชีพหลักคือ การทำสวนยางพารา เมื่อว่างเว้นจากการกรีดยาง ก็ไปรับจ้างทำสวนให้กับสวนผลไม้ของคนอื่นเขา อาทิ ตัดแต่งกิ่งสวนผลไม้และดายหญ้า กำจัดวัชพืช เป็นต้น

คุณภัทรภร เลิศวงค์ พร้อมครอบครัว และต้นทุเรียนหลงพญา ที่สูงตระหง่า

แต่ความพิเศษของผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวอย่าง คุณเมธาสิตธิ์ แทนนิกร มีความเชี่ยวชาญด้านการปีนป่ายจึงรับจ้างขึ้นตัดลูกทุเรียนให้กับสวนทุเรียนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดใกล้เคียงโดยรับจ้างตัด มีภรรยา คุณภัทรภรเป็นผู้ช่วย

จุดเริ่มต้นที่มาของทุเรียนพันธุ์หลงพญา ก็อยู่ตรงนี้นี่เอง จากที่ไปรับจ้างขึ้นตัดลูกทุเรียน ให้กับสวนอื่นๆ เข้าสวนนี้ ออกสวนโน้น ทุกครั้งก็จะมีทุเรียนติดไม้ติดมือกลับบ้านมากินที่บ้านเป็นประจำ

ตัวอย่างทุเรียนหลงพญาที่นำไปขึ้นทะเบียน (ซ้าย) ลูกที่นำลงจากต้นใหม่ๆ จะยังคงเขียวอยู่ (ขวา) เมื่อผ่านไปสักระยะหลงพญาก็จะเหลืองเป็นสีทอง

และสวนทุเรียนที่เข้าไปรับจ้างตัดก็จะเป็นสวนพันธุ์เม็ดกระดุม ซะเป็นส่วนใหญ่ แต่จำไม่ได้ว่าเป็นสวนไหน ของใครบ้าง

เมื่อได้ทุเรียนติดไม้ติดมือมา ก็เอามาปอกกินเนื้อ เหลือแต่เมล็ดก็โยนทิ้งขว้างไปรอบบ้าน อยู่มาวันหนึ่งเมล็ดทุเรียนที่ว่านี้ก็งอกโตขึ้นมาเองตามธรรมชาติอยู่ข้างบ้าน และก็งอกขึ้นมาเพียงต้นเดียวเท่านั้น

ทั้งคู่สองสามีภรรยาก็ไม่ได้สนใจอะไรเพราะอยู่กับต้นทุเรียนมาจนเคยชิน และก็ไม่เคยคิดที่จะทำสวนทุเรียนเป็นทุนเดิม เพราะต้องบริหารจัดการเยอะ อีกทั้งไม่มีทุนที่จะทำสวนทุเรียนจึงปล่อยให้มันเจริญเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ…ไม่ได้บำรุงดูแล รดน้ำ ใส่ปุ๋ย อะไรเป็นพิเศษ และปีที่ทุเรียนงอกและโตขึ้นมา น่าจะประมาณปี พ.ศ. 2557 คุณภัทรภร ว่าอย่างนั้น

เมื่อผ่าด้านในก็จะเห็นเนื้อทุเรียนสีเหลืองทองเต็มพลูสวยงามน่ากิน

เป็นความโชคดีของต้นทุเรียนที่ว่านี้ เพราะตรงจุดที่ทุเรียนงอกขึ้นมามีความชุ่มชื้นจากการระบายน้ำทิ้งและการใช้น้ำอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ที่ต้องชำระล้างร่างกายหลังกลับจากเข้าสวนกรีดยาง ล้างยางพารา เป็นต้น

เวลาผ่านไป 5 ปี ทุเรียนต้นนี้ ก็เริ่มมีลูกครั้งแรก 2-3 ลูก ปีที่ 6 ในปี 2562 ทุเรียนก็เริ่มทยอยออกลูกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 30-40 ลูก จึงเอาไปขายตามตลาดนัดทั่วไป และอีก 2 ปี ต่อมา 2563-2564 ทุเรียนก็ออกลูกดกมากๆ เป็นร้อยลูก ตัวเองจึงกลายมาเป็นแม่ค้าทุเรียนไปในตัว จากทุเรียนเพียงต้นเดียวที่อยู่ข้างบ้าน

เมื่อแหวกเนื้อทุเรียนก็จะพบเมล็ดที่เล็กลีบ

และลูกค้าหลายรายที่ซื้อทุเรียนเราไปกินก็ชมว่า เนื้อทุเรียนอร่อยมากแตกต่างจากทุเรียนอื่นๆ และที่สำคัญผิวเปลือกมีลักษณะสีเหลืองทองสวยงาม

โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นคอทุเรียนก็ยังติดต่อกลับมาถามด้วยความสงสัยว่าเป็นทุเรียนพันธุ์อะไร และก็ยังถ่ายรูปเอาไปโพสต์โชว์ในเฟซของตัวเอง เพราะความพิเศษของลูกทุเรียนมีสีเหลืองทองเมื่อแก่สุกกำลังดี ได้ที่ และเนื้อในของทุเรียนก็มีสีเหลืองทองเช่นเดียวกัน รสชาติก็หวานมัน มีกลิ่นอ่อนๆ เนื้อเยอะ ไม่เละ เมล็ดเล็กลีบ เป็นความโดดเด่น แตกต่างจากทุเรียนที่เคยพบ

ภาพฝั่งซ้ายและขวาคือ ผลทุเรียนหลงพญา บนต้นที่ผ่านการจัดการดูแลเป็นอย่างดี ในปี 2566

เราก็ตอบเขาไม่ได้เพราะไม่ได้ปลูก ไม่ได้ไปซื้อพันธุ์ทุเรียนที่ไหนมาปลูก มันขึ้นเอง อยู่ข้างบ้าน ก็บอกเขาไปอย่างนั้น ซึ่งตอนนั้นเราขายทุเรียนอยู่ที่กิโลกรัมล่ะ 100 บาท และลูกค้าก็ยังแนะนำเราต่ออีกว่า น่าจะไปจดลิขสิทธิ์เป็นของตัวเอง

คุณภัทรภรจึงปรึกษาเกษตรอำเภอ และได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชในปี พ.ศ. 2564 โดยกรมวิชาการเกษตร และตั้งชื่อทุเรียนชนิดนี้ว่า “ทุเรียนหลงพญา” เนื่องจากที่บ้าน ที่ดิน และที่เกิดของทุเรียน อยู่ติดกับพื้นที่เชิงเขาพญา อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี

คุณภัทรภร เลิศวงค์ กับผลทุเรียนหลงพญาและต้นกล้า ที่ผ่านการเสียบยอด

ที่มาของคำว่า “หลง” หมายถึง มันหลงมาจากที่อื่นและมาเกิด ณ พื้นที่ตรงนี้

ที่มาของคำว่า “พญา” หมายถึง เขาพญา ที่ตัวเองอาศัยอยู่

จากนั้นเกษตรอำเภอก็ส่งทีมงานเข้ามาให้คำแนะนำในการขยายพันธุ์ และการให้ความรู้ด้านวิชาการ เรื่องการเลี้ยงดู การดูแล และรวมถึงด้านการตลาด เป็นต้น

ทุเรียนหลงพญา จากการเสียบยอดที่ลงปลูกไปแล้วก่อนหน้าเข้าสู่ปีที่ 2 จำนวน 40 ต้น แทนที่สวนยางพารา

และคำว่า “เจ้สาย” หรือ คุณภัทรภร ที่ทุกคนเต็มใจเรียกขานกัน ก็มาถึง เมื่อ “ทุเรียนหลงพญา” ได้ประทับตรารับรองพันธุ์ ราคาก็ขยับจากกิโลกรัมละ 100 บาท ขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 300 บาททันที

ลูกค้าสั่งจองกันไว้ล่วงหน้า ทั้งๆ ที่ทุเรียนหมดแล้วไม่มีอยู่ในมือแต่ลูกค้าคอทุเรียนทั้งหลายไม่ต้องเป็นกังวลใจไปเพราะคุณภัทรภรได้ล้มต้นยางพาราทิ้งไปแล้ว 5 ไร่ และกันเอาไว้ 5 ไร่ เพื่อเร่งปลูกทำสวนทุเรียนหลงพญา

ต้นนี้เป็นหนึ่งในจำนวน 40 ต้น ทุเรียนหลงพญา และสูงๆ ด้านหลังก็เป็นทุเรียนหลงพญาต้นแม่

ปีนี้ 2566 ก็กินหลงพญาที่มีอยู่ต้นเดียวไปก่อน และคุณภัทรภรก็รับปากจะยังคงราคาที่ 300 บาท ตลอดไป

ส่วนการบริหารจัดการต้นทุเรียนหลงพญาที่มีอยู่ต้นเดียว จากที่ไม่เคยสนใจใยดี คุณภัทรภรก็ต้องมาเอาใจใส่ “หลงพญา” ยิ่งกว่าคนในครอบครัว เพื่อที่จะรักษามาตรฐาน เนื่องจากปีที่แล้ว 2565 นับเป็นปีที่ 9 ของหลงพญา ลูกออกมาดก มากกว่า 130 ลูก และมาจนถึงปีนี้ 2566 หรือปีที่ 10 คุณภัทรภรจึงต้องคัดลูกทุเรียนออกให้เหลืออยู่บนต้นไว้เพียง 100 ลูกต่อต้น ไม่ให้มากไปกว่านี้

ต้นกล้าหลงพญาในโรงอนุบาลที่ผ่านการเสียบยอด

ขณะเดียวกัน ก็ได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการขยายพันธุ์โดยการเสียบยอดทุเรียนหลงพญา และเริ่มลงปลูกแทนสวนยางพารา ไปพร้อมกันในปีนี้ ซึ่งลงปลูกไปแล้ว 40 ต้น และจะขยายไปเรื่อยๆ ให้เต็มพื้นที่ 5 ไร่

ส่วนการเสียบยอดหลงพญา คุณภัทรภร เล่าให้ฟังว่า เราสั่งซื้อต้นตอทุเรียนพื้นบ้าน หรือทุเรียนป่า มาจากพื้นที่ภาคใต้ เพื่อนำมาเสียบยอดหลงพญา เป็นวิธีที่เขาใช้กันทั่วไปและก็ได้ผลดีด้วย โตไว โตเร็ว เพราะการอาศัยต้นตอทุเรียนพื้นบ้านรากเขาจะหาอาหารเก่ง แข็งแรง และทนต่อโรคอีกด้วย

คุณภัทรภร เลิศวงค์ นั่งเสียบยอดทุเรียนหลงพญา โดยใช้ต้นตอทุเรียนพื้นบ้านจากภาคใต้

คุณภัทรภร ยังบอกอีกว่า ขณะนี้เรากำลังเร่งทำต้นกล้าเสียบยอดอยู่ เพื่อจะมุ่งมาทำสวนทุเรียนของตัวเองอย่างจริงๆ จังๆ และถ้าลูกค้าท่านใดต้องการก็สามารถแบ่งขายกล้าพันธุ์หลงพญาให้ได้ ในราคาต้นกล้าละ 300 บาท เพื่อลูกค้าจะได้นำไปปลูกเองบริเวณข้างบ้าน อาจจะได้กินทุเรียนหลงพญาอยู่ข้างบ้าน เหมือนอย่างตนเองก็เป็นได้

ส่วนข้อมูลที่ขอขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร ระบุ ไว้ดังนี้

ชื่อ ทุเรียนพันธุ์หลงพญา

ชื่อวิทยาศาสตร์ Durio zibethinus “Lhong paya”

ลักษณะผลทุเรียนหลงพญา เมื่อสุกแก่จะมีสีเหลืองทั้งผลและเนื้อในของทุเรียนมีสีเหลืองสวยงาม รสชาติหวานมัน มีกลิ่นอ่อนๆ เนื้อเยอะ เมล็ดเล็กลีบ น้ำหนักผลประมาณ 3.5-5.0 กิโลกรัม จากการติดตามความคงตัวของลักษณะประจำพันธุ์มาเป็นระยะเวลา 2 ปี

ใบรับรองการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชฉบับจริง โดยกรมวิชาการเกษตร

ผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน

ชื่อ-สกุล นางสาวภัทรภร เลิศวงค์

ที่อยู่ เลขที่ 44/6 หมู่ที่ 1 ตำบลจันทเขลม อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี 22210 เบอร์โทร 085-276-1004

สุดท้ายนี้ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับคุณภัทรภร คงจะลืมตาอ้าปากได้ก็จากทุเรียนหลงพญา เพียงต้นเดียวจริงๆ ที่อยู่ข้างๆ บ้าน และถ้าผู้อ่านท่านใดอยากจะไปเที่ยวชมดูเจ้าต้นหลงพญา จะอยู่คนละเส้นทางกับแหล่งท่องเที่ยวเขาคิชฌกูฏ และระหว่างน้ำตกกระทิง และน้ำตกคลองไพบูล เป็นระยะทาง 20-30 กิโลเมตร เลยทีเดียว

เอาเป็นว่าอยากสอบถามข้อมูลโทรศัพท์ตรงที่ คุณภัทรภร เลิศวงค์ หรือ เจ้สาย 085-276-1004