โคเนื้อไทยเขาชัยสน อัตลักษณ์แห่งทะเลสาบพัทลุง

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อไทยเขาชัยสน ผลิตโคเนื้อปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ โดยแปรรูปเป็นเนื้อสเต๊ก ชาบู ไส้กรอก ลูกชิ้น อบแห้ง ตอนนี้อยู่ระหว่างพัฒนา Packaging Design เพื่อทำตลาดฝั่งอันดามันเมืองท่องเที่ยวระดับโลก

คุณจำเนียร เจียมสวัสดิ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อไทยเขาชัยสน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง บอกว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อไทยเขาชัยสน ได้รวมตัวก่อตั้งขึ้นมาก็เพื่อรวบรวมบรรดาผู้เลี้ยงโคเนื้อพื้นเมืองรอบๆ ลุ่มน้ำทะเลสาบพัทลุงมาปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นโคเนื้อประเภทลูกผสม จากการผสมพันธุ์กันกับโคสายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์ยุโรป แล้วก็เป็นโคเนื้อลูกผสมถึงสามสายใต้

“เป็นการพัฒนาเนื้อโคขุนเป็นอัตลักษณ์ของพัทลุง ให้มีความโดดเด่นที่สุด ที่จะเหมาะต่อการส่งออกแบรนด์ “Phatthalung Lake Beef” โดยชูจุดขายเนื้อโคขุนอัตลักษณ์แห่งลุ่มน้ำทะเลสาบพัทลุงที่สำคัญ”

ส่วนอาหารที่ให้โคกินก็ไม่มีการใช้อาหารที่มีสารเร่งเนื้อแดง 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นการเลี้ยงโคเนื้อปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ เลี้ยงแบบธรรมชาติพร้อมกับรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งจะไม่มีกลิ่นอีกด้วย

ผู้เลี้ยงโคนั้นจะแบ่งสมาชิกออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกก็เป็นประเภทเลี้ยงแม่โค กลุ่มที่สองจะเลี้ยงโคหลังนม แล้วกลุ่มที่สามจะเลี้ยงโคเพื่อแต่งซากก่อนออกขาย

คุณจำเนียร บอกว่า ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิกเพียง 45 ราย มีโคเนื้ออยู่ 452 ตัว และได้เลี้ยงกันมากว่า 10 ปีแล้ว และทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจะมีการบริหารจัดการในรูปแบบแยกกันเลี้ยง แล้วก็รวมกันซื้อและก็รวมกันขาย โดยการเลี้ยงในกลุ่มจะทำกันแบบครบวงจร

คุณจำเนียร เล่าถึงการทำตลาดว่า ได้ดำเนินการกันอย่างจริงจังมาประมาณเพียง 6 เดือนเท่านั้น คือทำตลาดขายทั้งโคเนื้อมีชีวิต และโคเนื้อที่ชำแหละแปรรูปตัดแต่งเนื้อขายแบบแยกส่วน และก็มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขายด้วย ทั้งขายให้กับบริษัทคู่ค้าและลูกค้าทั่วไปทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด

การตลาดนั้นได้ทำหลายจังหวัด แต่ที่ได้การตอบรับที่ดีคือ ตลาดจังหวัดพัทลุง และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แต่กำลังขยายการทำตลาดไปยังฝั่งจังหวัดอันดามันที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก เช่น จังหวัดภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างพัฒนาแพ็กเกจจิ้ง (Packaging Design) เมื่อสำเร็จแล้วก็จะรุกทำตลาดทุกรูปแบบ

“ตอนนี้ทำตลาดออนไลน์กับทำตลาดของ 11 เครือข่าย เป็นการทำตลาดย้อนแย้ง เมื่อทางกลุ่มเอาโคเนื้อมาเชือดแปรรูปกันแล้ว ก็นำกลับไปทำตลาดกันเองด้วย”

สำหรับราคาขายเป็นชิ้นส่วนมีเป็นแพ็ก ราคาตั้งแต่ 250 บาท จนถึง 700 บาท ราคาขึ้นอยู่กับชิ้นส่วนจะเป็นเนื้อส่วนไหน ในการทำตลาดของเราจะเน้นให้เหมาะสมกับตลาดเมืองไทย คือมีตลาดระดับกลางและก็ระดับขนาดย่อมเพื่อผู้บริโภคพอกำลังซื้อกัน

ส่วนของการแปรรูปโคเนื้อมีกว่า 10 ผลิตภัณฑ์ เช่นว่ามีเนื้อชาบู เนื้อสเต๊ก พวกไส้กรอก พวกลูกชิ้น แล้วก็เนื้ออบแห้ง ฯลฯ โดยมีการชำแหละโคเนื้อประมาณ 4 ตัวบ้าง และ 6 ตัวบ้างต่อเดือน และบางเดือนถึง 10 ตัว โคเนื้อที่นำมาเชือดชำแหละมีขนาดน้ำหนักตั้งแต่ 550-700 กิโลกรัม

บางเดือนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขายได้มาก เพราะมีการซื้อขายโคเนื้อมีชีวิตด้วย เพื่อไปชำแหละแกงตามงานเลี้ยงต่างๆ เช่น งานทำบุญ งานแต่งงาน เป็นต้น ซึ่งผู้บริโภคมากินงานก็ได้กินเนื้อโคคุณภาพดี เนื้อนุ่ม เนื้อเต้น แล้วก็ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์

สำหรับการซื้อขายโคเนื้อมีชีวิตในกลุ่มสมาชิกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จะซื้อโคเนื้อตามขนาดมีราคา 100 บาท 110 บาท และโคพรีเมี่ยมถึง 120 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาซื้อขายในกลุ่มสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จะได้ในราคาที่ดีและจะสูงกว่าราคาตามท้องตลาดทั่วๆ ไป เพราะราคาตลาดทั่วๆ ไปจะขึ้นลง

“โดยภาพรวมแล้วในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จะมีมูลค่าเงินหมุนสะพัดทางการค้าซื้อขายกัน ประมาณ 400,000-500,000 บาทต่อเดือน”

คุณจำเนียร ยังบอกอีกว่า ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยังเป็นแหล่งศูนย์เรียนรู้อีกเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญมาก เพื่อให้ได้เรียนรู้ในการเลี้ยงโคให้เกิดความยั่งยืน ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีคณะทำงานคณะที่ปรึกษาที่จบการศึกษาเกี่ยวกับวิชาการโคมาโดยตรง

ปัจจุบันมีนักศึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงโคได้มาศึกษาตั้งแต่มหาวิทยาลัยแม้โจ้ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นต้น

ส่วน ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ก็บอกว่า ทาง มรภ.สงขลา ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาการเรียนรู้แบบบูรณาการกับการทำงานในสถานประกอบการ (Memorandum of Understanding : MOU) กับวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อไทยเขาชัยสน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย ก็จะร่วมกันพัฒนาการเรียนรู้แบบบูรณาการกับการทำงานในสถานประกอบการ และความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัย ฯลฯ ซึ่งทางคณะเทคโนโลยีการเกษตรได้เพิ่มหลักสูตรการผลิตสัตว์ มีโคเนื้อ โคนม โคพื้นบ้าน เป็นปีแรก ซึ่งหลักสูตรนอกจากเรียนทฤษฎีภายในห้องเรียนกันแล้ว ก็จะต้องเข้าไปศึกษาภาคสนามในการปฏิบัติการอีก 2 เดือนกับผู้ประกอบการโคเนื้อ และโคพื้นบ้าน โคนม เมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษามาแล้ว ก็สามารถไปประกอบการดำเนินการเองได้ ไม่ว่าทั้งเลี้ยง ทั้งทำธุรกิจโค

ดร.มงคล บอกด้วยว่า การเลี้ยงโคมี 2 กลุ่ม คือการเลี้ยงเพื่อทำการตลาดทั่วไป โดยเลี้ยงชำแหละเป็นอาหารแกงต่างๆ ตลาดแกงเนื้อยังคงไปได้ เช่น ตามงานบุญ งานมงคล งานบวช นอกนั้นก็แปรรูปเนื้อย่าง เนื้อแดดเดียว เนื้อกระทะ ลาบเนื้อ ฯลฯ ส่วนการตลาดระดับกลางและระดับตลาดบนก็จะต้องนำไปแปรรูป เช่นว่าเนื้อสเต๊ก ซึ่งตลาดโคเนื้อแปรรูปเป็นสเต๊กมีพื้นที่ตลาดไปได้ทางภาคใต้ที่เด่นๆ คือเมืองท่องเที่ยว อย่างภูเก็ต กระบี่ พังงา เป็นต้น

“ตลาดเนื้อโคนั้นมีทิศทางที่ดีตลอดมา ตลาดยังกว้างมาก แต่รัฐบาลจะต้องมีการส่งเสริม เพราะยังมีคอขวดอยู่บางจุด เช่น เรื่องการตลาด อย่างผู้เลี้ยงบางราย บางกลุ่มไม่มีตลาด ผู้เลี้ยงบางกลุ่มก็มีตลาด ตลอดจนเรื่องโรงเชือดโรงแปรรูปด้วย” ดร.มงคล บอกในท้ายที่สุด

สนใจโคเนื้อไทยเขาชัยสน ติดต่อสอบถามได้ที่ คุณจำเนียร เจียมสวัสดิ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อไทยเขาชัยสน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง โทรศัพท์ 081-189-4756