ตรวจรับรองแปลงทุเรียนสาลิกา ส่งเสริมการใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

จังหวัดพังงา ตรวจรับรองแปลงทุเรียนสาลิกา ส่งเสริมการใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ยกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่า “ทุเรียนสาลิกาพังงา”

ทุเรียนสาลิกา (Salika Durian) หรือชื่อเต็มตามการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา คือ “ทุเรียนสาลิกาพังงา” เป็นทุเรียนพื้นเมืองที่มีต้นกำเนิดในพื้นที่อำเภอกะปง จังหวัดพังงา มีการขยายพันธุ์จนมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทุเรียนสาลิกาของแท้ดั้งเดิมจะมีลักษณะผลค่อนข้างกลม เปลือกบาง เมล็ดลีบ รสชาติหวานมัน เนื้อสีเหลือง เนื้อหนาละเอียด มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญบริเวณกลางแกนผลมีสนิมสีแดงทุกผล จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เมื่อปี 2561 โดยมีขอบเขตการผลิตเฉพาะในพื้นที่อำเภอกะปง จังหวัดพังงา เท่านั้น และหลังจากได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้สนใจขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จนปัจจุบันมีเกษตรกรที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ทุเรียนสาลิกาพังงา” แล้ว รวมทั้งสิ้นกว่า 40 ราย

ปี 2566 สำนักงานเกษตรอำเภอกะปง โดยนางสุนิษา พลันการ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอกะปง ในฐานะคณะทำงานพิจารณาการขอใช้ และควบคุมตรวจสอบกระบวนการผลิตและจำหน่าย สินค้าทุเรียนสาลิกาพังงา และเป็นหน่วยงานในระดับพื้นที่ ได้ประชาสัมพันธ์และรับสมัครเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสาลิกาที่มีความสนใจขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยมีเกษตรกรให้ความสนใจยื่นขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จำนวน 20 ราย ประกอบด้วย เกษตรกรขอใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ครั้งแรก จำนวน 2 ราย และขอต่ออายุใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งต้องต่ออายุการใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ทุก 2 ปี จำนวน 18 ราย

นายประคอง อุสาห์มัน เกษตรจังหวัดพังงา ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานพิจารณาการขอใช้ และควบคุมตรวจสอบกระบวนการผลิตและจำหน่าย สินค้าทุเรียนสาลิกาพังงา และนางสาววิไลวรรณ สีนา หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ในฐานะคณะทำงานและเลขานุการ พร้อมด้วยคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพังงา สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพังงา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงา สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพังงา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพังงา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพังงา สถานีพัฒนาที่ดินพังงา องค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดพังงา ที่ทำการปกครองอำเภอกะปง สำนักงานเกษตรอำเภอกะปง และผู้แทนเกษตรกรกลุ่มทุเรียนสาลิกาจังหวัดพังงา

ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณารับคำขอขึ้นทะเบียน ตรวจสอบคำขอและคุณสมบัติของเกษตรกร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของคู่มือปฏิบัติงานสำหรับสมาชิกผู้ขอใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ทุเรียนสาลิกาพังงา” ลงพื้นเพื่อตรวจรับรองแปลงทุเรียนสาลิกาของเกษตรกรที่ขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ระหว่างวันที่ 22 – 23 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ตำบลกะปง ตำบลท่านา ตำบลเหมาะ และตำบลรมณีย์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา จำนวน 20 แปลง

โดยพิจารณาตามแบบประเมินคุณภาพสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ทุเรียนสาลิกาพังงา” จำนวน 8 ข้อกำหนด คือ 1. ขอบเขตพื้นที่การผลิต (อำเภอกะปง) 2. ผู้ผลิต (ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP) 3. ลักษณะพิเศษของทุเรียนสาลิกา (พันธุ์และลักษณะทางกายภาพ) 4. แหล่งที่มาของวัตถุดิบ (อำเภอกะปง) 5. กระบวนการผลิต (การเตรียมดิน การปลูก การใส่ปุ๋ยและการปรับปรุงดิน การป้องกันกำจัดศัตรูพืช และการเก็บเกี่ยว) 6. การซื้อขาย 7. บรรจุหีบห่อและเก็บรักษา และ 8. การตรวจสอบย้อนกลับ (บันทึกกระบวนการผลิต กระบวนการแปรรูป และกระบวนการจำหน่าย)

หลังจากตรวจรับรองแปลงทุเรียนสาลิกาของเกษตรกรที่ขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รวบรวมคำขอขึ้นทะเบียน จะดำเนินการจัดส่งคำขอขึ้นทะเบียนและผลการพิจารณาตามแบบประเมินคุณภาพสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ทุเรียนสาลิกาพังงา” ให้กับคณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธานกรรมการ และพาณิชย์จังหวัดพังงา เป็นกรรมการและเลขานุการ ดำเนินการพิจารณาอนุญาต และส่งต่อให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ออกหนังสืออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ทุเรียนสาลิกาพังงา” ต่อไป

ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์กับเกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่น สามารถจำหน่ายทุเรียนสาลิกาได้ในราคาที่สูงขึ้น สามารถยกระดับสินค้าชุมชนให้เป็นสินค้าระดับ Premium สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และมาจากแหล่งผลิตที่แท้จริง รวมทั้งสามารถนำตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้