ชง กกร.คุมเข้มพ่อค้าพืชไร่ หวังแก้ปมราคาข้าวโพดดิ่ง

ชง กกร. 7 ส.ค.นี้ ออกประกาศคุมเข้มพ่อค้าพืชไร่จดทะเบียนแจ้งปริมาณสถานที่จัดเก็บ หลังเกษตรกรร้องเรียนราคาผลผลิตตกต่ำ ด้านสมาคมพ่อค้าพืชไร่รับสนองมาตรการของภาครัฐ ขีดเส้น 3 เดือนหากราคาข้าวโพดไม่ปรับขึ้น รัฐควรทบทวนมาตรการใหม่

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งมีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธาน ในวันที่ 7 สิงหาคม 2560 เพื่อออกประกาศตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ. 2542 กำหนดให้ผู้ค้า และผู้ประกอบการค้าพืชไร่ เช่น ลานมันลานเทปาล์มน้ำมัน และผู้รับซื้อข้าวโพด ให้แจ้งปริมาณ และสถานที่จัดเก็บเพื่อให้สามารถตรวจสอบติดตามดูแลผู้ที่อยู่ในระบบการซื้อขายตามบัญชีที่เกิดขึ้นได้

“ที่ผ่านมามีเกษตรกรร้องเรียนว่าไม่ได้รับราคาที่เหมาะสมตามที่ภาครัฐกำหนด เช่น คุมราค่าปลายทาง แต่เกษตรกรต้นทางขายได้ราคาต่ำ เกิดคำถามว่า แล้วกลางทางได้เท่าไร น่าจะดูแลกลางทางด้วย เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ดูแลเกษตรกร ต่อไปหากไม่แจ้งก็จะมีความผิดตามกฎหมายราคาสินค้าฯ” นางนันทวัลย์กล่าว

ต่อข้อถามที่ว่า กรณีที่มีการกำหนดราคาแนะนำที่รับซื้อแล้ว โรงงานอาหารสัตว์ไม่รับซื้อ โดยอ้างว่าเกษตรกรไม่มีเอกสารสิทธิ์เกี่ยวกับการใช้ที่ดินที่ถูกกฎหมาย ทำให้เกษตรกรกว่า 40-50% ไม่สามารถจำหน่ายข้าวโพดให้กับโรงงานอาหารสัตว์ได้นั้น นางนันทวัลย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลอยู่แล้ว โดยมีการแบ่งโซนพื้นที่ อาจจะมีการผ่อนปรนให้กับบางพื้นที่ หรือบางพื้นที่ที่เป็นต้นน้ำที่จะต้องดูแลรักษาผืนป่าต้นน้ำ

นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย นายกสมาคมการค้าพืชไร่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมยินดีให้ความร่วมมือและจะประชาสัมพันธ์ให้พ่อค้ารายงานตามที่กรมการค้าภายในออกประกาศ เพื่อให้สามารถตรวจสอบการซื้อ-ขายสินค้ากับเกษตรกรได้ เพราะหลายปีที่ผ่านมา มีพ่อค้าพืชไร่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมเชื่อมั่นว่าพ่อค้าพืชไร่จะไม่โกงเกษตรกรผู้ปลูก เพราะต้องอาศัยและพึ่งพากันและกันมาตลอด ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากผู้ซื้อคนสุดท้าย ทั้งที่เป็นผู้ใช้และผู้ส่งออกที่มีต่างชาติเป็นนอมินีเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อ ที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบด้วยการซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่มีราคาถูกหลากชนิดและคุณภาพต่ำมาใช้แทนสินค้าข้าวโพด

อย่างไรก็ตาม หากเวลาผ่านไปประมาณ 3 เดือนแล้วเกษตรกรยังเดือดร้อนจากปัญหาราคาตกต่ำ อยากขอให้หน่วยงานราชการพิจารณาปรับเปลี่ยนวิธีการแก้ไขตรงนี้ เพราะอาจเป็นการแก้ไม่ถูกจุด โดยสมาคมการค้าพืชไร่ ขอเสนอให้กระทรวงพาณิชย์นำมันเส้นบรรจุไว้ในรายการที่โรงงานอาหารสัตว์ต้องซื้อ 3 ส่วน ให้สิทธินำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน แบบเดียวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเสนอให้ควบคุม DDGs เหมือนข้าวสาลี

แนวโน้มสถานการณ์การตลาดในช่วงนี้ได้รับแรงกดดันจากการตรวจสอบข้าวโพดตามชายแดน และการนำเข้าข้าวสาลี ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มอ่อนตัวไปตามสภาวะ ปริมาณที่ออกสู่ตลาด ในเดือนสิงหาคมคงจะออกสู่ตลาด 170,000-180,000 ตัน เช่น จังหวัดน่าน พะเยา และแพร่ ส่วนข้าวโพดนำเข้าจากกัมพูชาคงจะลดลงเหลือไม่เกิน 200,000 ตัน เพราะแรงกดดันราชการที่ตรวจสอบอย่างเข้มงวด

Advertisement

รายงานข่าวระบุว่า มีการนำเข้าข้าวสาลีมาเพิ่มในวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 60,000 ตัน และวันที่ 5 สิงหาคม 2560 อีก 50,000 ตัน รวม 110,000 ตัน คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร

 

Advertisement

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์