สมาคมคนเลี้ยงผึ้งภาคตะวันออก รีบูตน้ำผึ้งชันโรง “น้ำผึ้งดอกเสม็ดขาว” อัตลักษณ์น้ำผึ้ง ตราด

“น้ำผึ้ง” ที่รู้จัก หลักๆ มาจากผึ้ง 3 ชนิด คือ ผึ้งชันโรง (แมงโลม) ส่วนใหญ่คนยังไม่ค่อยรู้จักอยู่ตามธรรมชาติ ตามบ้าน โรงเรียน วัด เป็นผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน ผึ้งโพรงทำรังอยู่ตามบ้าน สวน และผึ้งพันธุ์ที่คัดสายพันธุ์ดีนำมาเลี้ยงกันแพร่หลาย ที่จังหวัดตราดมีการเลี้ยงผึ้งทั้ง 3 ชนิดมานานแล้ว แต่ไม่จริงจัง จนกระทั่ง คุณชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ให้ความสนใจส่งเสริมการเลี้ยงตั้งแต่ปี 2565 ได้เริ่มเห็นความสนใจการเลี้ยงผึ้งกันมากขึ้น  และเมื่อเดือนกันยายน 2566 มีการรวมตัวกันในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จัดตั้ง “สมาคมคนเลี้ยงผึ้งภาคตะวันออก” (Eastern Beekeepers Asssociation) ส่งเสริมการเลี้ยง ผึ้งชันโรง ผึ้งโพรง ผึ้งพันธุ์ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและสร้างมูลค่า เพราะสภาพแวดล้อมของจังหวัดตราดมีความเหมาะสม ทั้งแหล่งเกสร แหล่งอาหาร และความต้องการภาคเกษตรกรรมที่ต้องการใช้ผึ้งผสมเกสร และสมาคมฯ เตรียมชู น้ำผึ้งดอกเสม็ดขาว อัตลักษณ์น้ำผึ้งจังหวัดตราด เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ

คุณมานพ ทองศรีสมบูรณ์ 

เมตตาธรรมชวนเลี้ยงผึ้งชันโรง คนต้นแบบ “มานพ ทองศรีสมบูรณ์”

คนต้นแบบเลี้ยงผึ้งชันโรง คุณมานพ ทองศรีสมบูรณ์ อดีตผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาเกาะช้าง จังหวัดตราด เลขานุการสมาคมคนเลี้ยงผึ้งภาคตะวันออก ผู้มีประสบการณ์เลี้ยงผึ้งชันโรงมาร่วม 10 ปี ปัจจุบันเป็นผู้จัดการธนาคารผึ้งชันโรง สาขาเขาสมิง (ตรอกตะแคง) จังหวัดตราด เล่าว่า แมงโลมหรือผึ้งชันโรงจะสร้างรังอยู่เองตามธรรมชาติ ตามใต้ถุนบ้าน ฝาบ้าน วัด โรงเรียน ส่วนใหญ่คนจะไม่รู้คุณค่าจะทำลายรังที่อยู่ เป็นการทำลายชีวิตของผึ้งชันโรง ถ้าเปลี่ยนมาเป็นความเมตตาสร้างรังให้อาศัยอยู่เติบโตตามธรรมชาติ โดยที่ไม่ต้องให้น้ำ อาหาร 1 รังมีผึ้งชันโรงเป็น 10,000 ตัว 1 ปีจะมีน้ำผึ้งให้ 600 ซีซี และการขยายพันธุ์เพียงแค่ใช้สายยางต่อจากกล่องที่เลี้ยงไปรังใหม่จะขยายพันธุ์จาก 1 เป็น 2 และ 2 เป็น 4 เป็นทวีคูณ สมาคมคนเลี้ยงผึ้งตะวันออกได้ให้ความรู้ วิธีการเลี้ยงที่ถูกต้องและการสร้างรังชันโรงแบบง่ายๆ กับชาวบ้าน พระที่วัด เด็กๆ ในโรงเรียน เลี้ยงกันบ้านละ 2-3 รัง และวางแผนจัดตั้งธนาคารน้ำผึ้งชันโรง เพื่อรวบรวมน้ำผึ้งชันโรงขายเป็นรายได้เสริม

คุณชยุทกฤดิ นนทแก้ว

“แรงจูงใจให้เลี้ยงผึ้งชันโรงคือให้ความเมตตา ไม่ฆ่า ทำลาย การเลี้ยงผึ้งชันโรงจริงๆ แล้วเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ต้องลงทุน และทำให้มีรายได้เสริมจากน้ำผึ้งชันโรงที่ราคาสูงกว่าน้ำผึ้งพันธุ์ และยังมีรายได้จากการให้เช่ารังช่วยผสมเกสรในสวนผลไม้ การขยายรังใช้ท่อพลาสติกต่อเชื่อมเข้ารังใหม่จะเห็นพฤติกรรมที่น่ารักๆ ของผึ้งชันโรง เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ช่วยให้มีความสุขใจ เพลิดเพลิน คลายความเหงา ส่วนเด็กๆ สร้างจิตใจให้มีความเมตตาช่วยกันอนุรักษ์ผึ้งชันโรงที่ช่วยสร้างอาหารให้มนุษย์ต่อไป มีงานวิจัยว่าปัญหาโลกร้อน มลพิษ การใช้สารเคมีทำให้ผึ้งและแมลงผสมเกสรลดลงไป 49% และมีแนวโน้มลดลงอีก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร” คุณมานพ กล่าว

ชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด มอบรางวัลการออกแบบรังชันโรง

จากธนาคารผึ้งชันโรง สู่ BCG TRAT Model 

“ผึ้งชันโรง” เป็นผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน ให้น้ำผึ้งได้เช่นเดียวกับผึ้งเลี้ยงหรือผึ้งโพรงที่อยู่ตามบ้าน ก่อนหน้านี้จังหวัดตราด กรมส่งเสริมวิชาการเกษตรเคยมีการส่งเสริมให้ชาวบ้าน โรงเรียนต่างๆ เลี้ยงเพื่อสร้างอาชีพ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่ง คุณชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ปี 2565 ให้ความสนใจส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรงไม่ให้สูญพันธุ์ ช่วยสร้างธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทำให้จังหวัดตราดเป็นเกษตรอินทรีย์ และสร้างต้นแบบ BCG TRAT Model สร้างคน สร้างงาน สร้างรายได้ และภาคเอกชนมีการรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมคนเลี้ยงผึ้งภาคตะวันออก เมื่อเดือนกันยายน 2566 โดยมีแกนนำของสมาคม คุณชยุทกฤดิ นนทแก้ว อดีตเกษตรจังหวัดตราด นายกสมาคมคนเลี้ยงผึ้งภาคตะวันออก อาจารย์อานพ วนามี อุปนายกสมาคมฯ คุณมานพ ทองศรีสมบูรณ์ เลขานุการสมาคมฯ ให้ความรู้ ส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรง ผึ้งโพรง ผึ้งพันธุ์ กับชาวบ้านทุกระดับ สถานศึกษา วัด ทำให้การเลี้ยงผึ้งชันโรงในจังหวัดตราดขยายตัวออกไปทุกตำบล และมีการนำน้ำผึ้งชันโรงไปเป็นส่วนประกอบของเครื่องดื่มสุขภาพคอมบูชะ ทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ

รังชันโรง ใช้กระบอกไม้ไผ่ 

L BBB M การเลี้ยงผึ้งชันโรง

คุณมานพ เล่าว่า การจัดการการเลี้ยงผึ้งชันโรง ต้องคิดออกแบบจากภาพองค์รวม เพื่อนำมาสู่แรงจูงใจในการเลี้ยง ประโยชน์ของการเลี้ยง การออกแบบรังตามวัตถุประสงค์ โดยใช้หลักการคิดออกแบบ L BBB M สรุปจากวิธีการคิดของคนไทย ต่างประเทศรวมกับภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อให้เข้าใจง่าย คือ L = life ไม่ทำลายชีวิตของผึ้งชันโรง เข้าใจชีวิตวงจรการเติบโตของผึ้งชันโรง B = bonus รู้ผลตอบแทน จากการจำหน่ายน้ำผึ้ง รับจ้างผสมเกสร แปรรูปผลิตภัณฑ์ B = behavior พฤติกรรมของผึ้งชันโรงที่ต้องไม่เบียดเบียนชีวิต B = bechive รังเลี้ยงแยกขยายรังด้วยการไม่ทำลายรัง และ M = management การจัดการแหล่งอาหาร

ชันโรง ตามบ้าน

“เดิมเป็นกล่องชั้นเดียวต้องเปิดรังแซะรังเอาน้ำผึ้งเป็นการทำลายตัวผึ้ง หลักการ L BBB M จะออกแบบรังได้หลายแบบตามวัตถุประสงค์ เช่น การเลี้ยงเพื่อผสมเกสร/รับจ้างผสมเกสร ทำเป็นกล่องไม้ 1-2 ชั้น ต่อท่อสายยางเชื่อมขยายรังเพื่อลดความสูญเสียของตัวผึ้ง หรือการเลี้ยงเพื่อดูพฤติกรรมบำบัดความเครียด จะเป็นกล่องไม้ที่สวยงาม ต่อท่อสายยางเชื่อมกับกล่องเก็บน้ำผึ้ง เพื่อดูพฤติกรรมของผึ้งชันโรงที่สร้างรวงรัง สร้างน้ำหวาน กล่องเลี้ยงนี้ทำขายเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่ง ล่าสุดได้มีการพัฒนาถึงเวอร์ชั่น 4 ใช้ท่อต่อขยายรัง ได้ถึง 4 ท่อ” คุณมานพ กล่าว

กล่องเลี้ยงผึ้งชันโรง สวยงาม

ผึ้งชันโรง จับคู่ธุรกิจเช่ารังผสมเกสร

“เมตตา​ นำ พัฒนา​ ตาม” คือหลักการเลี้ยงผึ้งชันโรง มีความเมตตา ไม่ฆ่าชันโรง ถ้าเลี้ยงไว้จะให้ประโยชน์ผลตอบแทนทางรายได้จากน้ำผึ้งและจากการช่วยให้มีการผสมเกสรของต้นไม้ หากเข้าถึงการเลี้ยงจริงๆ แล้วจะพบว่าการเลี้ยงผึ้งชันโรง พฤติกรรมที่น่ารักๆ จากที่เห็นในท่อสายยางที่ขยายรัง ช่วยให้มีความสุข ผ่อนคลายได้ หากส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเลี้ยงคนละ 2-3 กล่อง อาจจะใช้เพียงแค่กระบอกไม้ไม่ต้องลงทุนต่อกล่อง 1 ปีเก็บน้ำผึ้งได้ 2 ครั้ง ประมาณ 600 ซีซี ทำเงินได้ 3,000-5,000 บาท จริงๆ อยากให้ผู้สูงอายุได้เลี้ยงไว้เพื่อผ่อนคลายความเหงา ความเครียด ส่วนเด็กๆ อยากมีความเมตตาช่วยกันอนุรักษ์ชันโรงสืบทอดต่อไป ทำให้เกษตรกรรมจังหวัดตราดเป็นเกษตรอินทรีย์

กล่องเลี้ยงผึ้งพันธุ์
กล่องไฟเบอร์จากจีน

“แนวทางการจัดตั้งธนาคารน้ำผึ้งชันโรง หรือรวบรวมน้ำผึ้งชันโรงจากชาวบ้านคนละ 1-5 กล่อง ให้ได้ปริมาณเป็น 100 กล่อง เพื่อขายน้ำผึ้งชันโรงที่มีราคาสูงกว่าน้ำผึ้งพันธุ์ และส่งเสริมให้มีการจับคู่ทางธุรกิจกับเจ้าของสวนเงาะใหญ่ๆ เช่ารังผสมเกสร ช่วงดอกบาน 20 วัน ค่าแรงงานผึ้งชันโรง 1 กล่อง วันละ 30 บาท 100 รังมีรายได้ 50,000-60,000 บาท แถมได้น้ำผึ้งจากดอกเงาะอีกด้วย” คุณมานพ กล่าว

ปัดตัวออกก่อนปั่นน้ำหวาน

ผึ้งพันธุ์เลี้ยงง่าย ผลตอบแทนสูง

อาจารย์อานพ วนามี อุปนายกสมาคมคนเลี้ยงผึ้งภาคตะวันออก เจ้าของ “ฟาร์มผึ้งสอยดาว” อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ผู้ผันตัวจากวิศวกร มาเลี้ยงผึ้งพันธุ์ กล่าวว่า จังหวัดตราดอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมที่จะเลี้ยงผึ้งพันธุ์มากที่สุด เพราะสิ่งแวดล้อมธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ มีป่าเสม็ดขาว ป่าชายเลนขนาดใหญ่ และมีสวนผลไม้ที่เป็นแหล่งอาหารเหมาะกับการเลี้ยงผึ้ง ตอบสนองเรื่องน้ำหวาน ในรอบปีจะมีพืชที่ให้น้ำหวานหลายชนิด เช่น เสม็ดขาว ออกดอก 2 รอบ เมษายน-มิถุนายน และกันยายน ธันวาคม ยางพาราช่วงธันวาคมมีน้ำผึ้งใต้ใบ เงาะช่วงธันวาคม-มกราคม และการพัฒนาน้ำผึ้งดอกเสม็ดขาวเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดตราดที่จะสร้างคุณค่ามูลค่าเพิ่มเหมาะสมมากเพราะมีป่าเสม็ดขาวผืนใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก และผึ้งพันธุ์มีความพิเศษเลี้ยงและขนย้ายไปในแหล่งอาหารและแหล่งผสมเกสรได้

เครื่องปั่นน้ำผึ้ง
ดอกเสม็ดขาว

การเลี้ยงผึ้งพันธุ์เริ่มจากซื้อแม่พันธุ์นางพญา ตัวละ 2,000-2,500 บาท นำมาเลี้ยงและคัดสายพันธุ์ดีๆ ขยายพันธุ์ นางพญาผสมพันธุ์ครั้งหนึ่งจะไข่ได้ยาว 10,000-20,000 ตัว เมื่อจำนวนผึ้งมากขึ้น ต้องขยายรังเป็น 2 รัง (ชั้น) ใน 1 รังจะมี 8 คอน ผึ้ง 30,000-60,000 ตัว ผึ้งจะหาอาหารมาสร้างรัง สร้างน้ำหวานในรัง และมีตัวอ่อนขยายรังไปเรื่อยๆ ใช้เวลา 2-3 เดือน และจะขยายได้ถึง 4 รัง แต่ละรังมีนางพญาผึ้งที่ควบคุมเพียงตัวเดียว คุมรังไม่ให้ผึ้งอื่นๆ เข้ามา เมื่อถึงรอบ 10 วันจะนำรังมาปั่นน้ำผึ้ง รังเดิมจะกลับไปใช้ไม่ได้อีก ต้องสร้างรังใหม่ จากนั้นจะนำไปกรองและบรรจุขวดเพื่อจำหน่าย

ผึ้งพันธุ์ที่เลี้ยงในกล่อง
รวงรัง

“ผึ้งพันธุ์นิยมเลี้ยงกันมาก ทำเป็นอาชีพหลัก ในเชิงธุรกิจมีรายได้สูง มีผลผลิตน้ำผึ้ง 10 วันต่อครั้ง เฉลี่ย 50 รัง 1 รอบ (10-12 วัน) ได้น้ำผึ้ง 1 ถัง ถังละ 200 ลิตร มีรายได้ถังละ 20,000 บาท ขณะนี้ปริมาณน้ำผึ้งตลาดภายในและต่างประเทศยังไม่เพียงพอ และเกษตรกรต้องการใช้ทั้งผึ้งชันโรง ผึ้งพันธุ์ผสมเกสรเพิ่มขึ้น ช่วงดอกกำลังบาน 15-20 วัน พื้นที่ขนาด 10 ไร่ เช่ารังไปผสมเกสร 10-15 รัง ราคารังละ 30 บาท จะมีรายได้ครั้งละ 300-450 บาท มีบางคนที่เลี้ยงเป็น 100 รัง มีรายได้ครั้งละ 60,000 บาท สมาคมฯ จึงส่งเสริมให้ความรู้เพื่อให้มีการเลี้ยงผึ้งพันธุ์กันเพิ่มขึ้น โดยการปูพื้นฐาน เพิ่มทักษะจากการเลี้ยงผึ้งชันโรง ผึ้งโพรงเป็นอาชีพเสริมปีละ 3,000-5,000 บาท และพัฒนาการเลี้ยงผึ้งพันธุ์เป็นอาชีพหลัก ซึ่งการเลี้ยงต้องเข้าใจพฤติกรรม เอาใจใส่ ผึ้งพันธุ์จะบินหาอาหาร ผสมเกสรรัศมี 3-5 กิโลเมตร และต้องเป็นบริเวณที่ไม่มีการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย” อาจารย์อานพ กล่าว

เลี้ยงในขวดแก้ว
รังผึ้งที่ยังไม่ได้บีบน้ำหวาน

ชูน้ำผึ้งดอกเสม็ดขาว อัตลักษณ์น้ำผึ้งตราด

คุณชยุทกฤดิ นนทแก้ว นายกสมาคมคนเลี้ยงผึ้งภาคตะวันออก เล่าว่า สมาคมฯ ได้ทดลองเลี้ยงผึ้งพันธุ์จากดอกเสม็ดขาว ที่เป็นป่าพรุน้ำกร่อย (น้ำเค็ม+น้ำจืด) ในพื้นที่ 250 ไร่ พบว่าได้น้ำผึ้งสีเขียวมรกต มีกลิ่นหอม มีความหวานน้อยกว่าน้ำผึ้งอื่นๆ มีสรรพคุณทางยาสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ต้องรอการยืนยันผลการวิจัยยืนยันจาก ดร.จอมใจ สุกใส คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี เป้าหมายต่อไปจะผลิต “น้ำผึ้ง​ดอกเสม็ดขาว ในขวดแก้ว” เป็นน้ำผึ้งเฉพาะถิ่นของจังหวัดตราด และมีอีกหลายแห่ง เช่น หาดทรายดำ 1 ใน 5 ของโลกที่เป็นป่าชายเลน และที่เกาะช้างแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดตราด เป็นแหล่งผลิตน้ำผึ้งออร์แกนิก น้ำผึ้งแท้ 100% เพื่อเป็นของฝาก ของที่ระลึกที่มีคุณค่าสำหรับคนรักษาสุขภาพและส่งเสริมและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Wellnes Tourism) ของจังหวัดตราด

น้ำผึ้งดอกเสม็ดขาว

“น้ำผึ้ง​ดอกเสม็ดขาวจะใช้เทคโนโลยี Mason Jars beekeeping 8nv คือ ในรังจะให้ผึ้งสร้างหลอดรวงในขวดแก้วเก็บน้ำผึ้งเป็นการพัฒนา น้ำผึ้งดอกเสม็ดขาวเช่นเดียวกับน้ำผึ้งมานูก้า (Manuka) ของออสเตรเลียที่มีชื่อเสียงระดับโลก จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลายเท่า” นายกสมาคมคนเลี้ยงผึ้งภาคตะวันออกกล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามนายกสมาคมคนเลี้ยงผึ้งภาคตะวันออก โทร. 081-295-9359