“ลอยกระทงปีนี้ มารักษ์โลก ใช้วัสดุธรรมชาติทำกระทงกันเถอะ”

วันเพ็ญเดือนสิบสอง                 น้ำนองเต็มตลิ่ง

เราทั้งหลายชายหญิง                สนุกกันจริงวันลอยกระทง

ลอยๆ กระทง ลอยๆ กระทง        ลอยกระทงกันแล้ว

ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง        รำวงวันลอยกระทง

รำวงวันลอยกระทง                   บุญจะส่งให้เราสุขใจๆ

คือเนื้อเพลงลอยกระทงซึ่งเมื่อใกล้ถึง “วันลอยกระทง” ของทุกปี เรามักจะได้ยินเพลงนี้เปิดเสียงดังตามคลื่นวิทยุและสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ย้ำเตือนความจำให้รู้ว่าเทศกาลวันสำคัญทางสายน้ำของคนไทยกำลังเวียนว่ายมาถึงอีกคราหนึ่งแล้วนั่นก็คือ “ประเพณีวันลอยกระทง

ผมเป็นคนชื่นชอบเทศกาลวันลอยกระทงมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว สมัยเรียนชั้นประถมศึกษาพอใกล้ถึงวันลอยกระทง ผมจะรู้สึกตื่นเต้นใจจดใจจ่อกับวันนี้เป็นอย่างมาก ก่อนถึงวันลอยกระทง 1 วัน คุณครูประจำชั้นจะนำอุปกรณ์การประดิษฐ์กระทง เช่น ใบตอง (กล้วยตานี) หยวกกล้วย ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ไม้กลัด มาให้เด็กนักเรียนในชั้นฝึกทำกระทงเพื่อเตรียมเก็บเอาไปลอยในคืนวันลอยกระทง (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12) ในคืนนี้น้ำจะขึ้นมาเต็มตลิ่ง พระจันทร์ขึ้นเต็มดวงส่องแสงสว่างไสว

นอกจากทำกระทงแล้ว คุณครูยังสอนให้พวกเราเด็กนักเรียนร้องเพลงลอยกระทงอีกด้วย ไม่ได้สอนร้องเปล่าๆ เท่านั้น ยังให้นักเรียนออกมารำวงหน้าชั้นเรียน โดยคุณครูจะสอนให้นักเรียนตั้งท่ารำวงให้เป็นคือ การจีบมือ เหยียดแขน ย่ำเท้า ย่อตัว พอพวกเราทุกคนเริ่มฝึกรำอยู่กับที่ได้คล่องแคล่วแล้ว ทีนี้จึงรำวงเพลงลอยกระทงกัน โดยจะตั้งเป็นวงกลมวงใหญ่ เด็กนักเรียนชายสลับกับเด็กนักเรียนหญิง มีคุณครูเป็นผู้นำร้อง และปรบมือให้จังหวะ เหล่าเด็กนักเรียนทุกคนทั้งร้องทั้งรำไปรอบวงอย่างสนุกสนาน จนผมเองจดจำเนื้อเพลงลอยกระทงได้ขึ้นใจ แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 30 ปี แล้วก็ตาม

หลังเส้นทางชีวิตพลิกผันเข้ามาเป็น น.ช. อยู่ในเรือนจำหลายปี ก็ไม่เคยมีโอกาสได้ลอยกระทงเหมือนสมัยก่อนอีกเลย จนมาถึง ปี 2563 “ชมรม TO BE NUMBER ONE แดน 5” ของเราได้ริเริ่มจัดกิจกรรมประเพณีการลอยกระทงขึ้นภายในเรือนจำ เพื่อเปิดโอกาสให้พี่น้องผู้ต้องขังได้ร่วมสนุกและช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในระหว่างมารับโทษทัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ สืบสานประเพณีการลอยกระทงของคนไทยที่มีมาแต่โบราณให้ดำรงอยู่สืบไป

โดยกิจกรรมนี้ ชมรม TO BE NUMBER ONE แดน 5 ยังเปิดให้มีการอบรมฝึกวิชาชีพระยะสั้น “การประดิษฐ์กระทงและบายศรี จากวัสดุธรรมชาติ” ให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีวิชาชีพในด้านนี้ติดตัวออกไปประกอบเป็นอาชีพเสริมเลี้ยงดูตนเองภายหลังพ้นโทษ ในการฝึกอบรม มีทั้งภาคทฤษฎี และลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอนเพื่อให้เกิดทักษะ ความชำนาญ นอกจากนี้ กลุ่มงานประดิษฐ์ ชมรม TO BE NUMBER ONE ของเรายังประดิษฐ์กระทงจำหน่ายให้กับครอบครัวเจ้าหน้าที่เรือนจำ และบุคคลภายนอกเรือนจำอีกด้วย รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วนำเข้าบัญชีกองทุนชมรมฯ เพื่อใช้จัดกิจกรรมดีๆ มีประโยชน์กับสมาชิกต่อไป

กระทงจากวัสดุธรรมชาติย่อยสลายง่าย ฝีมือผู้ต้องขังชาย เรือนจำกลางพิษณุโลก แดน 5

ส่วนรูปแบบการจัดงานลอยกระทงในแต่ละปีก็แตกต่างกันไป ตามมติความเห็นชอบในที่ประชุมของคณะกรรมการชมรมผู้ต้องขัง และความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่เรือนจำ แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเราจะคงคอนเซ็ปต์จัดงานในรูปแบบไทยย้อนยุค มีการเนรมิตตกแต่งพื้นที่ใต้อาคารเรือนขังให้เป็นลานวัดขนาดย่อม ประดับประดาด้วยลูกโป่ง กระดาษหลากสี ร้อยเชือกผูกโยงใยรอบบริเวณงาน ดูสวยงามละลานตาเห็นแล้วชวนให้คิดถึงบรรยากาศวันลอยกระทงข้างนอกเสียจริง

กิจกรรมในงานมีหลากหลายประเภทสลับหมุนเวียนไปทุกๆ ปี เพื่อสร้างสีสันใหม่ๆ ไม่ให้เกิดความซ้ำซากจำเจชวนให้ผู้ชมเกิดความเบื่อหน่าย ซึ่งชมรมของเราเลือกกิจกรรมที่สนุกสนานน่าตื่นเต้น เช่น ซุ้มสาวน้อยตกน้ำ ซุ้งบิงโก ซุ้มโบว์ลิ่ง การแข่งขันมวยไทยขุนแข้งมาราธอน (ใช้การเตะเข้าเป้า 5 แข้งเป็นผู้ชนะ ไม่มีต่อย) การประกวดชายรูปงาม (ชมรมเพาะกาย) และกิจกรรมที่จะขาดเสียมิได้ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของงาน ที่ผู้ต้องขังคนดูต่างเฝ้ารอชมก็คือ “การประกวดนางนพมาศ (จำแลง)” เนื่องจากเรือนจำของเราไม่มีผู้ต้องขังแดนหญิง ผู้เข้าประกวดทุกคนจึงเป็นสาวสองล้วนชวนสยิวกิ้ว

บรรยายกาศการประกวดนางนพมาศจำแลงในเรือนจำ (จัดในตอนกลางวัน) เป็นไปอย่างสนุกสนาน เรียกเสียงหัวเราะเฮฮาจนท้องขดท้องแข็ง รอยยิ้มและแววตาแห่งความสุขกับเสียงปรบมือ เป่าปากหวีดวิ้วดังกึกก้องจากผู้ชมตลอดเวลา มีสาวงามเข้าประกวด จำนวน 11 คน แต่ละคนแต่งองค์ทรงเครื่อง แต่งหน้า แต่งตากันอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช มีทั้งชุดไทย ชุดราตรี ชุดตัดเองก็มี เดินโชว์โพสต์ท่าทีละคนบนรันเวย์อย่างเต็มที่ ตามจังหวะดนตรีมันๆ จากดีเจ เพื่อเรียกคะแนนจากคณะกรรมการและเรียกพวงมาลัยจากแฟนคลับคนดู

การประกวดมีรางวัลใหญ่ 3 รางวัล คือ 1. รางวัลนางนพมาศป่าช้าแตก (ฮา) 2. รางวัลนางนพมาศขวัญใจมหาชน และ 3. รางวัลนางนพมาศ (จำแลง) ประจำปี สาวงามผู้ชนะการประกวดในแต่ละประเภทได้รับสายสะพายกับมาม่า ปลากระป๋อง และน้ำอัดลมจากเจ้าหน้าที่เรือนจำไปรับประทาน ซึ่งเป็นสิ่งของที่หาได้ง่าย มีขายในร้านค้าสงเคราะห์ของเรือนจำ

“มารักษ์โลกใช้วัสดุธรรมชาติทำกระทงกันเถิด”

เราทุกคนต่างทราบกันดีว่า พลาสติก และแผ่นโฟม เป็นขยะที่ย่อยสลายยากมากต้องใช้เวลาหลายร้อยปี หากนำไปเผาก็จะเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ผู้อาศัยบริเวณใกล้เคียง และสร้างมลภาวะต่อระบบโอโซนในชั้นบรรยากาศ ทำให้โลกของเราร้อนขึ้นทุกวัน ด้วยเหตุนี้เองเราทุกคนจึงต้องตระหนักและร่วมมือร่วมใจลดการใช้ถุงพลาสติกและแผ่นโฟมในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงปีนี้ เพื่อให้โลกของเราน่าอยู่อาศัยมากขึ้น

วัสดุ-อุปกรณ์การประดิษฐ์กระทง

  1. ใบตอง (กล้วยตานี)
  2. หยวกกล้วย (ตามขนาดที่ต้องการ)
  3. ดอกดาวเรือง
  4. ดอกบานไม่รู้โรย
  5. ดอกรัก
  6. ไม้กลัด ลูกแม็กซ์
  7. ธูปและเทียน
  8. กรรไกร

วิธีและขั้นตอนการประดิษฐ์กระทง

  1. ตัดหยวกกล้วยที่เตรียมไว้ ความหนา 2 นิ้ว จำนวน 1 แว่น
  2. นำใบตองกล้วยตานีเช็ดทำความสะอาด แล้วฉีกขนาดตามที่ต้องการใช้
  3. นำใบตองมาพับเป็นกลีบตามแบบที่เราเลือก เช่น กลีบสามเหลี่ยม กลีบนมสาว กลีบตัวหนอน เป็นต้น
  4. พอพับกลีบที่เราเลือกไว้ได้แล้วให้นำมากลัดใส่หยวกกล้วยที่เตรียมไว้ เรียงจากซ้ายไปขวาให้ได้ประมาณ 2-3 รอบ (เรียงสลับฟันปลา)
  5. พอกลัดกลีบใบตองใส่หยวกกล้วยได้ตามที่เราต้องการแล้ว เราก็นำดอกดาวเรือง ดอกรัก หรือดอกบานไม่รู้โรย มาแต่งแต้มให้กระทงดูสวยงามมีสีสันตามใจชอบ
  6. ขั้นตอนสุดท้ายคือ นำธูปและเทียนลงไปปักเอาไว้ เพียงเท่านี้เราก็จะได้กระทงที่สวยงามจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายง่ายลอยในคืนขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 นี้แล้วครับ

ประวัติวันลอยกระทง

“วันลอยกระทง” ของไทย มีความเชื่อว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า “พิธีจองเปรียง หรือการลอยพระประทีป” ทั้งนี้ มีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่า เป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงนั่นเอง

ทางสายวิชาการกล่าวว่า ลอยกระทงนั้นเป็นพิธีกรรมร่วมกันของผู้คนในชุมชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ พิธีกรรมนี้มีขึ้นเพื่อขอขมาต่อธรรมชาติอันมีดินและน้ำที่หล่อเลี้ยงเกื้อกูลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ มนุษย์จึงมีชีวิตเจริญเติบโตขึ้นได้

ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่า ลอยกระทงเริ่มมีมาแต่สมัยใด แต่พิธีกรรมเกี่ยวกับ “ผี” ผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติมีอยู่กับผู้คนในชุมชนสุวรรณภูมิไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ก่อนรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดีย

สำหรับประเพณีลอยกระทงไม่ได้มีเฉพาะในเมืองไทย แต่เป็นความเชื่อที่ยึดมั่นมานานของหลายประเทศเช่นกัน เช่น ประเทศลาว พม่า กัมพูชา อินเดีย และประเทศจีน แต่ละที่มีตำนานความเชื่อคล้ายกันบ้าง แตกต่างกันไปบ้าง ที่คล้ายกันคือ การแสดงความเคารพบูชาต่อพระแม่คงคาหรือสายน้ำที่ต่างออกไป เช่น เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผี

ในประเทศจีนสมัยก่อนทางตอนเหนือ เมื่อถึงหน้าน้ำจะมีน้ำท่วมเสมอ บางปีน้ำท่วมมากได้คร่าชีวิตคนนับแสนราย จนหาศพไม่เจอเพราะพัดพาไปกับสายน้ำ ญาติมิตรและครอบครัวจึงจัดกระทงใส่อาหารลอยน้ำไป เพื่อเป็นการเซ่นไหว้ผีเหล่านั้นเป็นประจำทุกปี

เวลาลอยก็จะลอยตอนกลางคืน เพราะเชื่อว่าผีไม่ออกมาในตอนกลางวัน ดังนั้น เพื่อเป็นการส่องนำทางให้กับผี ในกระทงจึงต้องจุดเทียนด้วย โดยพิธีกรรมนี้มีชื่อว่า “ปั่งจุ๊ยเต็ง หรือปล่อยโคมน้ำ” ซึ่งคล้ายกับพิธีกรรมของไทยในสมัยก่อนที่เป็นการลอยโคม ไม่ใช่ลอยกระทงเช่นในปัจจุบัน

ครั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้มีการฟื้นฟูประเพณีพิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ “ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นางนพมาศ” ขึ้นมา โดยสมมุติให้ฉากของเรื่องเกิดขึ้นในยุคพระร่วง เจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศว่าเป็นพระสนมของพระร่วงที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวโกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้ง สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีปลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท

“นางนพมาศ” จึงถือกำเนิดขึ้นมาในยุครัตนโกสินทร์ ไม่ใช่ความเชื่อที่ว่าเป็นยุคสุโขทัยแต่เดิมในยุคนี้ นางนพมาศกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของงานลอยกระทงไปแล้ว สาวๆ จะลุกขึ้นแต่งชุดไทย เพื่อเข้าประกวดกันว่าใครจะได้เป็นนางนพมาศประจำปี

การลอยกระทงของคนทั่วไป เขานิยมลอยใน “ตอนกลางคืน” ส่วนผู้ต้องขังในเรือนจำเราจะลอยกระทงใน “ตอนกลางวันกัน” เพราะตามระเบียบของเรือนจำ ผู้ต้องขังต้องขึ้นเรือนนอนก่อน 4 โมงเย็นทุกวัน การจะได้ลอยกระทงตอนกลางคืนและได้เห็นแสงเดือนสว่างไสวในคืนพระจันทร์เต็มดวงนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลย ถึงแม้จะได้ลอยกระทงในตอนกลางวัน แต่ผมก็รู้สึกประทับใจ และได้กล่าวอธิษฐานเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกล่าวขอขมาลาโทษเจ้าแม่คงคาที่เคยได้ล่วงเกินตามความเชื่อที่ได้รับสืบทอดจากผู้เฒ่าผู้แก่

ประเพณีลอยกระทงในปีนี้ แม้สถานการณ์โควิด-19 จะเบาบางลงไปบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ควรประมาทต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย และเที่ยวงานลอยกระทงอย่างมีวินัย การ์ดไม่ตกนะครับ

ขอบคุณ ประวัติวันลอยกระทงจากคอลัมน์ เครื่องเคียง ข้างจอ คุณวัชระ แวววุฒินันท์ มติชนรายสัปดาห์

ขอบคุณ รูปกระทงจากโครงการฝึกวิชาชีพระยะสั้นผู้ต้องขัง การทำกระทงและบายศรี ชมรม TO BE NUMBER ONE แดน 5 ปี 2563