คอนโดต้นอ่อนผักไมโครกรีนระบบปิด

ไมโครกรีน (Microgreen) คือต้นอ่อนของพืชผักชนิดต่างๆ ที่เพาะจากเมล็ด ในระยะเวลาเพียง 7-10 วัน ซึ่งกระบวนการงอกของต้นกล้าได้เปลี่ยนสารอาหารที่สะสมในเมล็ด กลายเป็นผักต้นอ่อนที่มีความสูง 1-2 นิ้ว ประกอบด้วยลำต้นและใบจริง 2-3 ใบ ที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารสูงทั้งสารพฤกษเคมี โปรตีน วิตามิน มีสารต้านมะเร็งสูงกว่าในผักโตเต็มวัยทั่วไปแล้วยังมีรสชาติดี กรอบอร่อย

ทุกวันนี้ ผักไมโครกรีนเป็นสินค้าขายดีเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพ และนิยมนำผักจิ๋วไปวางประดับตกแต่งจานอาหารให้ดูน่ากิน สำหรับเมล็ดพันธุ์ผักที่นิยมนำมาเพาะเป็นผักไมโครกรีน ได้แก่ ผักโขม มัสตาร์ด คะน้าฮ่องกง วอเตอร์เครส กะหล่ำปลี ผักกาดหอม เมล็ดหัวไชเท้า เมล็ดทานตะวัน เมล็ดถั่วลันเตา เมล็ดผักบุ้ง เมล็ดงา และเมล็ดถั่วต่างๆ

ต้นอ่อนอายุ 2 วัน

คอนโดต้นอ่อนผักไมโครกรีน

ทีมนักวิจัยวิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี เล็งเห็นประโยชน์ของผักไมโครกรีน จึงได้ออกแบบคอนโดต้นอ่อนผักไมโครกรีน ที่มีจุดเด่นคือ เป็นการปลูกพืชในระบบปิดภายใต้สภาวะแสงเทียน PFAL (Plant Factory with Artificial Light : PFAL) ที่มีกำลังการผลิต 4 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ดินที่ใช้ในการปลูก สามารถนำมาปลูกได้หลายครั้ง ใช้เวลาในการปลูก 7-10 วัน เป็นผักปลอดสารพิษ รสชาติดี มีสารอาหารสูง เป็นการทำเกษตรยุคใหม่ ปลูกกินก็ได้ ปลูกขายก็ดี

ขั้นตอนการปลูกผักระบบปิดภายใต้สภาวะแสงเทียน เริ่มจากวันที่ 1 เป็นขั้นตอนการบ่มเมล็ด วันที่ 2-3 เป็นขั้นตอนการเพาะปลูก วันที่ 4-5-6 เป็นการควบคุมการทำงาน และวันที่ 7 ได้ผลผลิต ที่นำไปบริโภคหรือขายได้ ส่วนการรดน้ำพืช เป็นระบบกึ่งอัตโนมัติ เครื่องฉีดน้ำฝอย ใช้คนในการรดน้ำหรือใช้ระบบ IOT

คอนโดต้นอ่อนผักไมโครกรีนระบบปิด

เครื่องปลูกผักไมโครกรีนระบบปิด ภายใต้สภาวะแสงเทียน PFAL แบบใช้ดินมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 6,000 บาท เมื่อนำไปใช้งาน จะมีต้นทุนการผลิตผักไมโครกรีนต่อรอบการผลิต ประกอบด้วย เมล็ดพันธุ์ 2 กิโลกรัมต่อรอบการผลิต 120 บาทxอัตรา 2 กิโลกรัม คือ 240 บาท) เฉลี่ย 960 บาทต่อเดือน ค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า 5 บาทต่อรอบการผลิต เฉลี่ย 20 บาทต่อเดือน รวมต้นทุนหลักประมาณ 980 บาทต่อเดือน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่ได้จากการลงทุน (4 กิโลกรัมx200 บาท เท่ากับ 800 บาทต่อรอบการผลิต (7 วัน) ในระยะเวลา 1 เดือน สามารถปลูกได้ 4 รอบ (800×4) เท่ากับ 3,200 บาทต่อเดือน ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 8 รอบการผลิตหรือประมาณ 2 เดือน

หากใครสนใจนวัตกรรมนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมไปได้ที่ วิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี เลขที่ 35 ถนนจงกลนิธาร์ ตำบลโนเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เบอร์โทร. 045-244-754

Advertisement
คอนโดต้นอ่อนผักไมโครกรีนระบบปิด
โปสเตอร์ผลงานวิจัย คอนโดต้นอ่อนผักไมโครกรีนระบบปิด

ตู้อบแห้งกาแฟเทพเสด็จพลังงานร่วม    

โดยทั่วไป การทำแห้งเมล็ดกาแฟใช้เวลาในการตากแดดต่อเนื่องทั้งวันประมาณ 10-15 วัน ความชื้นของเมล็ดกาแฟลดลงเหลือ 13% มาตรฐานแห้ง ซึ่งความชื้นนี้สามารถเก็บรักษาเมล็ดกาแฟได้โดยจะไม่ทำให้เกิดเชื้อราทำให้กาแฟที่ได้มีสีสวยคุณภาพดีรสชาติดี แต่มีข้อจำกัดในการทำงานหากไม่มีแสงแดดหรือมีแสงแดดน้อย

Advertisement

ทีมนักวิจัยวิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ จึงได้พัฒนานวัตกรรมตู้อบแห้งกาแฟเทพเสด็จพลังงานร่วม ระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับรังสีอินฟราเรด เพื่อให้เกษตรกรวิสาหกิจชุมชนกาแฟสดบ้านแม่ตอน ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ นำไปใช้ลดความชื้นเมล็ดกาแฟ และศึกษาสมรรถนะตู้อบแห้งกาแฟเทพเสด็จโดยใช้โรงอบกาแฟพลังงานร่วม และมีแผนการตลาดในการต่อยอดนวัตกรรมให้แก่ผู้สนใจ

ต้นกาแฟอาราบิก้าในพื้นที่ตำบลเทพเสด็จ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประดิษฐ์นวัตกรรมตู้อบแห้งกาแฟเทพเสด็จพลังงานร่วม ระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับรังสีอินฟราเรด โดยผู้อบแห้งสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการอบแห้ง เช่น อุณหภูมิในตู้อบแห้ง ความชื้นของอากาศ ความเร็วของอากาศ ซึ่งจะลดระยะเวลาในการตากแห้งกาแฟของเกษตรกร สามารถอบแห้งในเวลาที่ไม่มีแสงแดดหรือเวลากลางคืน โดยการเลือกใช้หลอดรังสีอินฟราเรด

การตากเมล็ดกาแฟโดยใช้แสงอาทิตย์

เนื่องจากรังสีอินฟราเรดสามารถแผ่ทะลุเข้าไปในเนื้อวัสดุ ส่งผลให้โมเลกุลของน้ำ ในเนื้อวัสดุสั่นและเกิดความร้อน จะทำให้อุณหภูมิในเนื้อวัสดุสูงกว่า อุณหภูมิที่ผิวส่งผลให้ผิวภายนอกของวัสดุอบแห้งไม่เหี่ยวย่นและได้ผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกับวัตถุดิบที่นำมาอบแห้งรังสีอินฟราเรดยังให้ความร้อนได้อย่างรวดเร็ว และกระจายความร้อนได้อย่างสม่ำเสมอ ติดตั้งง่าย ประหยัดพลังงานและลดระยะเวลาในการอบแห้ง หากใครสนใจนวัตกรรมนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ เลขที่ 262 หมู่ที่ 6 ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เบอร์โทรศัพท์ 092-464-4766 ในวันและเวลาราชการ

นวัตกรรมตู้อบแห้งกาแฟเทพเสด็จพลังงานร่วม
นักศึกษาวิทยาเทคโนโลยีพายัพฯ เจ้าของสิ่งประดิษฐ์

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)