กรมส่งเสริมการเกษตร ยกทีมถอดรหัสแม่แจ่มโมเดล ต้นแบบลด PM 2.5 ช่วยโลก

เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งของทุกปี พื้นที่ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนมักจะประสบปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้น และปริมาณค่า PM 2.5 ที่สูงเกินมาตรฐาน จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง จนทำให้ผู้ป่วยเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจ มีความเสี่ยงกับอันตรายสูงขึ้น รายได้ที่พึงจะได้จากการท่องเที่ยวหดหายไป เนื่องจากทัศนียภาพที่ไม่สวยสดงดงาม ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเผาไหม้ทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรม รวมไปถึงหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย มีนโยบายมุ่งเน้นการป้องกันปัญหาดังกล่าว จึงได้มีทั้งมาตรการและแนวทาง ทั้งในเชิงกฎหมาย เชิงความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย รวมไปถึงในเชิงของการให้ประโยชน์ตอบแทนที่จะป้องกัน ไม่ให้ปัญหาหมอกควันทวีความรุนแรง

หลายปีที่ผ่านมามีภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนเกษตรกรได้ร่วมใจขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้และปรากฏผลสำเร็จหลายๆ ตัวอย่าง และแม่แจ่มโมเดลคือ 1 ในผลสำเร็จของกิจกรรมดังกล่าว

กรมส่งเสริมการเกษตร ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น ภายใต้กิจกรรมการทำการเกษตรปฏิเสธ ไม่ได้ว่าจะถูกเชื่อมโยงข้องเกี่ยวกับกิจกรรมการเผาเพื่อกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นาของเกษตรกร และเป็นผู้ต้องหาของสังคมไปโดยปริยาย จึงเป็นหน้าที่ที่จะต้องรณรงค์ให้เกษตรกรที่ทำการเกษตรในพื้นที่โล่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการเผา เพื่อให้อากาศดีขึ้น

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมทีมงาน ประกอบด้วย นายกิตติพันธ์ จันทราศรี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมโครงการพระราชดำริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร นายเรืองพจน์ ธารานาถ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ จึงลงพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมประชุมหารือกับ นายสุระวุธ จันทร์งาม นายอำเภอแม่แจ่ม กำนันในพื้นที่ทั้ง 7 ตำบล และนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 8 แห่ง รวมถึงสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โครงการหลวง และสำนักงานการเกษตรอำเภอแม่แจ่มที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนงานในพื้นที่ โดยที่ประชุมได้แถลงถึงภาระหน้าที่ของตนเอง ในการขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลที่ผ่านมาทั้งในแง่ของ เป้าหมาย แนวทางดำเนินการ ผลสำเร็จ และข้อค้นพบ

จากการดำเนินงานดังกล่าวเมื่อปี 2554-2559 และได้ขับเคลื่อนงานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ด้วยบรรยากาศแห่งความร่วมมือ ความตั้งใจของผู้ร่วมประชุมที่จะให้แม่แจ่มโมเดลเป็นต้นแบบขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ จึงมีข้อค้นพบที่เป็นประเด็นสำคัญในแต่ละด้านคือ

ในส่วนของภาครัฐ ต้องมองเป้าหมายของภารกิจที่จะทำเป็นสิ่งสำคัญมากไปกว่าหน่วยงานต้นสังกัด หมายถึง การถอดหัวโขน ยึดมั่นถือมั่นในตำแหน่งหน้าที่และหน่วยงานที่สังกัด เพื่อจะได้ไม่นำมาเป็นพันธนาการจำกัดความคิดในเชิงพัฒนาในพื้นที่ ที่อาจจะมีความแตกต่างจากภารกิจที่เคยทำมา แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพื้นที่ เมื่อร่วมกันคิดในแนวทางนี้ จะเห็นมุมมองจากภายนอกโฟกัสเข้าไปในกลุ่ม ก็จะเห็นแนวทางของตัวเองและหน่วยงานที่จะต้องขับเคลื่อนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและตรงกับความต้องการของเกษตรกรและสภาพพื้นที่

ในส่วนหน่วยงานในพื้นที่จะต้องมีกรอบ การทำงาน ที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาจะต้องอยู่ในกรอบของกฎระเบียบความถูกต้องความเหมาะสมและความคุ้มค่าของงบประมาณที่ได้รับ

ในด้านผู้ประกอบการ บริษัทภาคเอกชน ต้องมองถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับแรกกว่ากำไรที่จะได้ เช่น การกำหนดมาตรการการรับซื้อสินค้าเกษตรที่มาจากการเผาให้แตกต่างไปจากสินค้าเกษตรปกติ ประโยชน์ที่ได้จากการจัดการเศษวัสดุให้เป็นผลสำเร็จมากกว่าการมุ่งเน้นที่จะได้กำไรจากกิจกรรมดังกล่าวทุกกิจกรรมทุกพื้นที่ และอาจจะมีการแสวงหาภาคีเครือข่ายที่มีความประสงค์จะทำการคืนกำไรให้กับสังคม (CSR) ให้กับชุมชนอยู่ด้วยแล้ว จะได้พลังบวกยิ่งขึ้น

ด้านหน่วยงานวิชาการและพัฒนาในพื้นที่ ต้องเข้าใจบริบทของสภาพพื้นที่และประชาชน ตลอดจนข้อจำกัดที่มี เพื่อนำเอาปัญหาข้อมูลเหล่านี้ไปเป็นโจทย์ตั้งแล้วนำเอาองค์ความรู้ทางวิชาการเข้ามาขับเคลื่อนให้เกิดผล ทั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง มหาวิทยาลัย และโครงการหลวง รวมไปถึงสำนักงานเกษตรอำเภอแม่แจ่ม และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ในอำเภอแม่แจ่มทั้งหมด

และสุดท้ายด้านประชาชนที่จะต้องให้ความร่วมมือ ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด ให้มองเข้าไปที่การนำเศษวัสดุที่มีมาใช้ประโยชน์อย่างไรในกิจกรรมของตนเองให้มากที่สุดเป็นลำดับแรก มองถึงการนำเศษวัสดุไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้เป็นลำดับ 2 และมองถึงการกำจัดเศษวัสดุ ในห้วงเวลาที่เหมาะสมเป็นลำดับสุดท้าย

ผลสำเร็จจากงานขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลได้เกิดมิติความร่วมมือใหม่ และส่งผลให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดของเกษตรกรใหม่ให้มองเห็นการบริหารจัดการพื้นที่ในมิติของดินน้ำป่าและการพัฒนาอาชีพโดยเฉพาะ การนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในกิจกรรมในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เกษตรกรมีรายได้และเป็นต้นแบบแห่งความยั่งยืน เช่น การนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ทำเป็นอาหาร หมักเลี้ยงวัวในพื้นที่ และสามารถที่จะทำเงินได้หลักล้านต่อปี

การปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเกษตรที่มุ่งเน้นสู่ความยั่งยืน เช่น การปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเป็นแปลงผักอินทรีย์ ผักเมืองหนาว ภายใต้การผลิตที่ควบคุมด้วยมาตรฐานและมีตลาดที่รองรับอย่างชัดเจนในราคาที่เหมาะสม โดยมีผลตอบแทนที่ประจักษ์ว่าพื้นที่ 1 ไร่สามารถจะทำรายได้ให้มากเท่ากับการทำข้าวโพด 50 ไร่ภายในระยะเวลาที่เท่ากัน รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนไม้ผลไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าสูงทดแทนพื้นที่ปลูกข้าวโพด ซึ่งจะมีความยั่งยืนกว่าในอนาคต และสิ่งสำคัญจะลดภาระในการกำจัดเศษวัสดุจากข้าวโพดและยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าบนภูเขาหัวโล้น ที่มีมายาวนานมากกว่า 20 ปี

และด้วยผลพวงที่พื้นที่อำเภอแม่แจ่มถูกขับเคลื่อนภายใต้ของโครงการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จึงส่งอานิสงส์ให้หลายพื้นที่ได้การรับรองการทำกินในพื้นที่ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าทางจิตใจ พร้อมจะส่งต่อให้กับบุตรหลานเกษตรกรที่จะคืนถิ่นเข้ามา ดำรงชีพในพื้นที่ในอนาคตอันใกล้

ข้อคิดแนวทางและบทเรียนจากการถอดรหัสแม่แจ่มโมเดล จะเป็นแนวทางที่หน่วยงานสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตรได้นำไปเป็นต้นแบบและปรับเปลี่ยนตามกิจกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่อื่นๆ ด้วยความมุ่งหวังที่จะขับเคลื่อนงานในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นาให้เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม และจะช่วยลดปัญหาหมอกควันซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนได้ในที่สุด