หนุ่มบ้านแพ้วปลูกพลูกินใบ แซมมะพร้าวน้ำหอม โกยรายได้ทั้งปี

“พลูกินใบ” เป็นหนึ่งในพืชทางเลือกที่น่าลงทุน เพราะปลูกดูแลง่าย สร้างรายได้ประจำ สามารถวางแผนเก็บใบพลูออกขายได้ทุก 20 วันครั้ง พลูกินใบ น้ำหนัก 1 กิโลกรัม มีจำนวนประมาณ 270-280 ใบ ราคาซื้อขายพลูกินใบขึ้นลงได้ตามภาวะราคาตลาด ตั้งแต่ 45-120 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับพลูกินใบที่นิยมปลูกเชิงการค้าในประเทศไทย มีจำนวน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พลูเขียวพันธุ์ไทย พลูพันธุ์ภาคใต้ (ใบใหญ่สีเขียวเข้ม) พลูใบเหลือง (ใบมีขนาดเล็กกว่าพลูพันธุ์ภาคใต้ ใบมีสีเขียวอ่อน) และพลูไต้หวัน (ใบขนาดเล็ก)

คุณสมบูรณ์ พิพัฒน์สาครกุล (ชื่อเดิม : คุณสมควร แซ่โง้ว)

ทำเกษตร ใจต้องแกร่ง…สู้ทุกอุปสรรค

คุณสมบูรณ์ พิพัฒน์สาครกุล (ชื่อเดิม : คุณสมควร แซ่โง้ว) เกษตรกรชาวสวนบ้านแพ้ว เล็งเห็นโอกาสทางการตลาดของ “พลูกินใบ” จึงหันมาลงทุนทำสวนพลู ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ในชื่อ “สวนพลูเงิน” ตั้งอยู่พื้นที่ 123/8 หมู่ที่ 8 ตำบลหนองสองห้อง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โทรศัพท์ 081-199-0897

ก่อนหน้านี้คุณสมบูรณ์เคยเปิดกิจการร้านขายต้นไม้ชื่อ เมืองเนรมิตพันธุ์ไม้ ต่อมาหันกลับมาทำเกษตรอย่างเดิม ปลูกพืชมาแล้วหลายชนิด ทั้งพริก องุ่น ฝรั่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งคุณสมบูรณ์ร่วมมือกับพี่น้องลงทุนทำสวนพลูซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้ระยะปลูกสั้น สามารถเก็บใบออกขายได้ตลอดทั้งปี ที่สำคัญแม่ค้าซื้อพลูด้วยเงินสดทุกครั้ง ได้เงินไวกว่าการปลูกพืชชนิดอื่น ที่ต้องเก็บผลผลิตให้แม่ค้านำไปขายก่อน จึงค่อยรับค่าสินค้าในสัปดาห์ต่อมา

ปลูกพลูทำได้ไม่ยาก 

ปัจจุบันสวนพลูเงินมีพื้นที่ปลูกพลูจำนวน 2 แห่ง แปลงแรกเนื้อที่ 6 ไร่ ปลูกพลูจำนวน 3,000 หลัก อีกแปลงเนื้อที่ 3 ไร่ ปลูกพลูจำนวน 1,000 หลัก คุณสมบูรณ์ซื้อพันธุ์พลูเหลืองมาปลูกแบบยกร่อง ด้านบนคลุมด้วยตาข่ายพรางแสง 60 เปอร์เซ็นต์ แปลงปลูกทำแบบง่ายๆ เริ่มจากเอาเสาปัก เอากิ่งเข้าปลูกในระยะห่าง 1.50×2 เมตร ปลูกพลู 2 ต้นต่อหลัก 1 แปลงสามารถปลูกพลูได้ 300 หลัก

Advertisement

หลังจากต้นพลูปลูกลงดินแล้ว รอประมาณ 20 วัน รากเริ่มเดินแล้ว จึงค่อยนำปุ๋ยมูลสัตว์ ปุ๋ยคอกโรยโคนต้นบ้าง ใส่สลับกับปุ๋ยเคมีบ้าง ต้นพลูเติบโตได้ดีในสภาพดินชื้น ต้องระวังอย่าให้ดินแฉะมากเกินไป จะทำให้ต้นพลูตายได้ เมื่อต้นพลูอายุ 4 เดือน จะเลื้อยขึ้นหลักได้ประมาณครึ่งต้น ก็เริ่มเก็บใบพลูออกขายได้ โดยเก็บใบแก่จากข้างล่างขึ้นไปหาข้างบน หากไม่เก็บใบ ต้นพลูก็จะไม่แตกใบใหม่ขึ้นมา หลังเก็บใบพลู ต้องคอยใส่ปุ๋ยคอกสลับกับปุ๋ยเคมี เดือนละ 1 ครั้งเพื่อบำรุงต้นให้เติบโตสมบูรณ์

Advertisement

ปัญหาโรคราดำ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงในการปลูกพลูในช่วงปลายฝนต้นหนาว โรคราดำมักเข้าทำลายกิ่งพันธุ์ทำให้ใบพลูเสียหาย สมมติเคยเก็บใบพลูได้ 10 ใบ หากเจอการระบาดของโรคราดำสามารถเก็บใบพลูได้แค่ 4-5 ใบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คุณสมบูรณ์พยายามฉีดพ่นยากันเชื้อราก่อนช่วงฤดูฝน แต่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของ “โรคราดำ” ได้แค่ 50 : 50 เท่านั้น แค่พอประทังกันไป เมื่อหมดฤดูฝน ปัญหาราดำที่คอยกวนใจก็หายไปเช่นกัน

“ปลูกพลู” ให้ผลตอบแทนดี

ปัจจุบันต้นพลูรุ่นแรกที่ปลูกในสวนแห่งนี้ มีอายุเกือบ 15 ปีแล้ว ทำให้ใบพลูมีน้ำหนักน้อยลง คุณสมบูรณ์จึงหันมาปลูกต้นพลูผสมผสานกับมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว เพื่อเป็นรายได้เสริม โดยเก็บใบพลูและมะพร้าวน้ำหอมสลับหมุนเวียนกันทุกๆ 20 วัน เพื่อให้มีรายได้เข้ากระเป๋าตลอดทั้งปี

คุณสมบูรณ์กับมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว

ด้านตลาด มีแม่ค้าเข้ามารับซื้อใบพลูถึงหน้าสวน โดยแม่ค้านิยมซื้อใบพลูขนาดกลาง สีเขียวเข้ม ปี 2565 คุณสมบูรณ์ขายใบพลูได้ราคาต่ำสุดที่ 40-50 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาสูงสุดที่ขายได้คือ 180 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับปี 2566 ราคาซื้อขายเฉลี่ย 70-80 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา นอกจากขายใบพลูแล้ว คุณสมบูรณ์ยังมีรายได้จากการกิ่งตอนและกิ่งปักชำปีละหลายหมื่นต้นให้แก่ผู้สนใจ ในราคาต้นละ 25 บาท หากใครสนใจอาชีพปลูกพลูขายใบ คุณสมบูรณ์ยินดีแบ่งปันความรู้ให้แก่ผู้สนใจทุกท่าน สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเบอร์โทรศัพท์ 081-199-0897

พันธุ์พลูใบเหลือง

…………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2567