เทคนิคเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเล เทรนด์อาหารแห่งอนาคต 21 วัน ทำเงิน 

สาหร่ายผักกาดทะเล อาหารแห่งอนาคต แหล่งโปรตีน คุณค่าทางอาหารสูง สามารถขยายพันธุ์สู่การเพาะเลี้ยง ลงทุนน้อย ให้ผลผลิตไว ดูแลง่าย นับเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าได้ 

สำหรับสาหร่ายผักกาดทะเล หรือ Sea Lettuce นั้นเป็นสาหร่ายที่มีศักยภาพด้านโภชนาการสูงเพราะมีโปรตีนถึง 25-30 กรัม และใยอาหาร 9.79 เปอร์เซ็นต์ มีไขมันและพลังงานที่ต่ำ อุดมด้วยเกลือแร่ วิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระ มีกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 โอเมก้า 6 และ โอเมก้า 9 โดยเฉพาะ EPA และ DHA ซึ่งสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารได้หลายรูปแบบ ทั้ง ต้ม ผัด แกง ทอด และยำ โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ปัจจุบันมีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เทคนิคเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเล เทรนด์อาหารแห่งอนาคต 21 วัน ทำเงิน 
เทคนิคเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเล เทรนด์อาหารแห่งอนาคต 21 วัน ทำเงิน

การเตรียมบ่อ

บ่อที่ใช้เลี้ยงสาหร่ายมี 2 รูปแบบ ได้แก่ บ่อปูนและบ่อผ้าใบ

  1. ล้างขัดฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน แช่ทิ้งไว้ 1 คืน
  2. ล้างด้วยน้ำสะอาด
  3. ตากบ่อให้แห้ง

การเตรียมน้ำ

ใช้น้ำทะเลความเค็ม 25-30 ส่วนในพันส่วน ที่สูบจากทะเลหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ นำมาพักให้ตกตะกอน หลังจากนั้นสูบน้ำส่วนใสผ่านถุงกรองสักหลาดความละเอียด 10 ไมครอน นำน้ำเข้าบ่อเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเลต่อไป

ปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมในการเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเล

  1. ความเค็มอยู่ในช่วง 27-33 ส่วนในพันส่วน
  2. อุณหภูมิอยู่ในช่วง 25-30 องศาเซลเซียส
  3. แอมโมเนียอยู่ในช่วง 0.5-1 มิลลิกรัมต่อลิตร
  4. ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ในช่วง 8-9
  5. ความเป็นด่างในช่วง 120-140 มิลลิกรัมต่อลิตร ถ้าความเป็นด่างต่ำจะส่งผลให้สาหร่ายขาดธาตุอาหาร
  6. ค่าความขุ่นใส ที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 30-60 เซนติเมตร
  7. ความเข้มแสง 10,000-20,000 ลักซ์

วิธีการเลี้ยง

การเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเลในปัจจุบัน เป็นการเลี้ยงในระดับมหมวล ในบ่อปูนหรือบ่อผ้าใบขนาดใหญ่สามารถเลี้ยงได้ 2 รูปแบบ

แบบที่ 1 การเลี้ยงแบบสอดในแผงอวนผูกแนวดิ่ง

  1. เตรียมสาหร่ายผักกาดทะเลที่มีอายุ 3 สัปดาห์ มีลักษณะทัลลัส เป็นแผ่นสมบูรณ์ แข็งแรง ล้างทำความสะอาด กำจัดสิ่งปนเปื้อนและสิ่งแปลกปลอม
  2. เตรียมแผงสาหร่ายขนาด 0.3×1.0 เมตร โดยใช้ท่อพีวีซีทำเป็นโครงแผงและนำอวนขึงให้เต็มกรอบ เพื่อรองรับต้นพันธุ์สาหร่าย
  3. นำต้นพันธุ์สาหร่ายสอดในช่องตาอวนกอละ 30 กรัม จำนวน 5 กอต่อแผง (ปริมาณ 150 กรัมต่อแผง)
  4. เติมน้ำความเค็ม 25 ส่วนในพันส่วน ลงในบ่อเลี้ยงสาหร่าย จากนั้นนำแผงไปแขวนที่ราวไม้ไผ่แถวละ 2 แผง แต่ละแผงห่างกันประมาณ 30-50 เซนติเมตร แขวนในบ่อเลี้ยงลึกจากผิวน้ำ 15-20 เซนติเมตร หรือระดับที่แสงส่องถึง

แบบที่ 2 การเลี้ยงแบบลอยอิสระ

  1. เตรียมสาหร่ายผักกาดทะเลที่มีอายุ 3 สัปดาห์ มีลักษณะทัลลัส เป็นแผ่นสมบูรณ์แข็งแรง ตัดแบ่งให้ได้ขนาด 6-8 เซนติเมตร ล้างทำความสะอาด กำจัดสิ่งปนเปื้อนและสิ่งแปลกปลอม
  2. เติมน้ำความเค็ม 25 ส่วนในพันส่วน พร้อมทั้งให้อากาศด้วยการวางท่อพีวีซีพื้นบ่อ
  3. นำต้นพันธุ์สาหร่ายที่เตรียมไว้ลงบ่อ ความหนาแน่น 1 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ตัน

การจัดการระหว่างเลี้ยง

– ระหว่างการเลี้ยงมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ โดยสูบน้ำเข้าบ่อเลี้ยงอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อให้สาหร่ายได้รับแร่ธาตุสารอาหารกระตุ้นการเจริญเติบโต มีการให้อากาศในน้ำอย่างแรง เพื่อให้สาหร่ายเคลื่อนที่รับสารอาหารและไม่กองทับกันที่พื้นบ่อ

– เติมน้ำหมักชีวภาพหรือปุ๋ยเคมีสูตร TMRL หรือปุ๋ยนาผสมปุ๋ยยูเรียปริมาณ 0.5-1 ลิตรต่อน้ำ 5 ตัน หรือประมาณ 100-200 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1 ตัน สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ทั้งนี้ ควรตรวจวัดและควบคุมปริมาณแอมโมเนียในน้ำหลังเติมปุ๋ยให้อยู่ในช่วง 0.5-1 ppm 

– ในช่วงฤดูฝนต้องระวังความเค็มของน้ำที่ลดต่ำลง ควรมีบ่อพักน้ำหรือบ่อผสมน้ำที่มีหลังคาหรือพลาสติกปิดคลุมบ่อ เพื่อควบคุมความเค็มให้เหมาะสมตลอดการเลี้ยงสาหร่าย

การตรวจสอบการเจริญเติบโต

โดยทั่วไปสามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอก คือ มีสีเขียวและความสมบูรณ์ของแผ่น Blade ไม่มีร่องรอยการฉีกขาด ไม่เปื่อยยุ่ย เมื่อครบ 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์เริ่มเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นระยะเวลาที่ให้ผลผลิตสูงสุด

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

ในรูปแบบการเลี้ยงระดับมหมวลในบ่อปูนและบ่อผ้าใบ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 3 เท่าของน้ำหนักต้นพันธุ์เริ่มต้นในเวลา 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นนำสาหร่ายที่ครบอายุการเก็บเกี่ยวมาชั่งน้ำหนัก และนำไปแช่ล้างด้วยน้ำจืดสะอาด 10-15 นาที เพื่อกำจัดสัตว์เกาะติดหรืออีพิไฟต์ พร้อมเก็บสิ่งปนเปื้อน เช่น สาหร่ายชนิดอื่นออก แล้วย้ายไปทำความสะอาดในถังสกิมเมอร์ที่บรรจุน้ำเค็ม 400 ลิตร อัตรา 5 กิโลกรัมต่อถัง ก่อนนำไปพักในบ่อที่ติดตั้งระบบหมุนเวียนน้ำและมีระบบอัลตราไวโอเลต และโอโซนเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อนนำไปอบแห้งต่อ

การเก็บรักษา

วิธีการทำแห้งเป็นการถนอมอาหาร เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาสาหร่ายได้นานขึ้นที่อุณหภูมิห้อง

  1. นำสาหร่ายมาทำความสะอาดโดยใช้น้ำจืด ตากผึ่งลม ความชื้นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์
  2. นำมาอบแห้งที่อุณหภูมิไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24-36 ชั่วโมง มีความชื้นประมาณ 10-12  เปอร์เซ็นต์ จะได้สาหร่ายแห้งสามารถเก็บไว้รับประทาน

ข้อควรรู้ : การเติมสารอาหารปริมาณมากเกินไป ทำให้ลักษณะของแผ่นสาหร่ายนิ่ม เปื่อย และสีของสาหร่ายเปลี่ยนเป็นสีขาว ควรแก้ไขทยอยเติมสารอาหารทีละน้อย พร้อมทั้งวัดค่าแอมโมเนีย และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ 50-100 เปอร์เซ็นต์

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี / เรื่องเล่าข่าวเกษตร

#Technologychaoban #เทคโนโลยีชาวบ้าน #พืชเศรษฐกิจ #สาหร่ายผักกาดทะเล #การเพาะสาหร่ายผักกาดทะเล