คาร์บอนเครดิตกับภาคเกษตรไทย เตรียมตัวอย่างไร? เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก

ช่วงนี้มักได้ยินคำว่าคาร์บอนเครดิตในหลายๆ ช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์หรือแม้สื่อโซเชียลต่างๆ จึงทำให้เกิดคำถามจากหลายๆ ท่าน ในหลากหลายมุมมองว่า คาร์บอนเครดิตที่กำลังเป็นคำฮิตกันอยู่นี้ เป็นเพียงเทรนด์ที่กำลังฮิตหรือเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องหันมาเริ่มให้ความสนใจ เพราะด้วยสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้ปริมาณการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มีการใช้กลไกทางการตลาด เพื่อจูงใจอุตสาหกรรมให้หันมาลดการปล่อยก๊าซมากขึ้น ส่งผลให้มีการริเริ่มการซื้อขายที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) ขึ้นมา

“คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) อาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมอื่นๆ ซึ่งมีสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน (Co-benefit) เช่น แหล่งอาหาร สร้างอาชีพ แหล่งต้นน้ำ การป้องกันมลพิษและภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งป่าไม้จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญสามารถสร้างมูลค่าที่เกิดจากคาร์บอนเครดิตซึ่งจะตอบโจทย์การเป็นสังคมปลอดคาร์บอนได้ เพราะโอกาสในการค้าคาร์บอนเครดิตไม่ได้ใช้เพียงแค่เทคโนโลยี แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสที่เกิดรายได้ไปยังเกษตรกรในชนบท ประชาชนคนทั่วไป ผ่านเครือข่ายป่าชุมชนทั่วประเทศที่มีพื้นที่ปลูกต้นไม้อยู่แล้ว ดังนั้น ต่อไปในอนาคตการปลูกรักษาต้นไม้จะสร้างรายได้และประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม 

ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ ผู้จัดการด้านโปรดักซ์และบริการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า คาร์บอนเครดิต มีมาเพื่อที่จะให้หน่วยงานหรือบริษัทขนาดใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกันง่ายๆ คือ องค์กรเหล่านี้ถือว่าเป็นองค์กรที่ทำบาปเพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่สิ่งแวดล้อมทำให้โลกร้อนขึ้น ส่วนคาร์บอนเครดิตคือบุญที่องค์กรหรือหน่วยงานที่ทำบาปได้ชดเชยกับบาปที่ได้ทำไว้ให้กับสิ่งแวดล้อมนั้นเอง

ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ ผู้จัดการด้านโปรดักซ์และบริการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) จำกัด

การใช้ปุ๋ยที่มี N (ไนโตเจน) จำนวนมาก 

ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เพิ่มขึ้น

ดร.พูนเพิ่ม กล่าวให้ฟังอีกว่า ในภาคการเกษตรนั้น การใช้ปุ๋ยเคมีตั้งแต่ N (ไนโตรเจน) P (ฟอสฟอรัส) K (โพแทสเซียม) โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยที่มีสูตรของ N (ไนโตรเจน) จำนวนมากจะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เพราะไนโตรเจนเมื่อไปอยู่ในสภาพแวดล้อมจะกลายเป็นไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลเป็นบาปที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน แต่ถ้ามีการทำเกษตรแบบไม้ยืนต้น เช่น ยางพารา ทุเรียน สวนปาล์มน้ำมัน และสวนไม้ผลต่างๆ ถือเป็นการปลูกต้นไม้เพื่อให้ได้ผลิตผลทางการเกษตร 

สวนยางพารา
สวนยางพารา

ซึ่งในระหว่างรอผลผลิตในระหว่างที่ต้นไม้โตนั้น ก๊าซเรือนกระจกจะถูกดูดกลับไปในต้นไม้สูงกว่าที่เกิดการใช้ปุ๋ย ดังนั้น แม้ในภาคการเกษตรจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จริง หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าการสร้างบาปก็จริง แต่บุญที่ได้จากการปลูกต้นไม้สูงกว่า

“ในอุตสาหกรรมภาคการเกษตร ถือว่าเป็นผู้ผลิตเครดิตมากกว่าผู้ที่ต้องใช้เครดิต เพราะมีพื้นที่สีเขียวมาทดแทนโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างเช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ จะหาซื้อเครดิตในพื้นที่สีเขียวหรือการเกษตร ดังนั้น ในภาคการเกษตรจึงเป็นเหมือนผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตมากกว่าผู้บริโภคคาร์บอนเครดิต” 

การทำนาแบบระบบอินทรีย์
การทำนาแบบระบบอินทรีย์

การทำเกษตรแบบเน้นความยั่งยืน 

เป็นอีกหนึ่งประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม 

เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีภาคการเกษตรมีความสำคัญ ดร.พูนเพิ่ม กล่าวว่า การทำเกษตรถ้ามองในมิติในเรื่องของความยั่งยืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ตั้งแต่ในเรื่องของชีวภาพ การทำเกษตรอินทรีย์ สิ่งเหล่านี้จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพราะการลดการใช้ปุ๋ยเคมีโดยเพิ่มสัดส่วนของปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น หรือที่เห็นอยู่ในขณะนี้คือ การยางแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการนำพื้นที่ของเกษตรกรไทยเข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ซึ่งตรงนี้ถือว่าส่วนได้เป็นอย่างมาก เพราะการทำเกษตรในประเทศไทยมีจำนวนมาก และมีศักยภาพในการผลิคคาร์บอนเครดิตในปริมาณมาก เพื่อมาตอบรับต่อความต้องการที่จะลดก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 

“อย่างภาคการเกษตรในประเทศไทย ถือว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเกษตรแบบไม้ยืนต้น เพราะว่าต้นไม้เหล่านี้เป็นต้นไม้ที่เติบโตในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งกระบวนการของต้นไม้ก็จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และคายออกซิเจนออกมา เพื่อให้คนได้ใช้ชีวิตในการหายใจ แต่ถ้าเป็นไร่นาก็มีส่วนที่จะช่วยลดผลกระทบนี้ด้วยเช่นกัน เพราะในประเทศไทยขาดการทำเกษตรกรรมเหล่านี้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นการผลิตอาหาร แต่สิ่งที่เกษตรกรรมเหล่านี้ทำได้ก็คือ การลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อทำการเกษตรแบบอินทรีย์มากขึ้น เพราะฉะนั้นการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ให้เกษตรกรได้รับรู้ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก” 

ดร.พูนเพิ่ม กล่าวอีกด้วยว่า การทำนาเปียกสลับแห้งเป็นอีกหนึ่งวิธีการหนึ่งที่จะช่วยสร้างคาร์บอนเครดิตได้เป็นอย่างดี เนื่องจากนาข้าวในประเทศไทยโดยปกติจะปล่อยน้ำเข้าไปภายในนาข้าว เพื่อให้ต้นข้าวแช่อยู่ในน้ำตลอดเวลา จึงทำให้ส่วนของต้นข้าวที่อยู่ในน้ำนานเกิดไปจึงเกิดเป็นก๊าซมีเทน ซึ่งก๊าซมีเทนก็ถือเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก การใช้ปุ๋ยยูเรียอย่างปุ๋ยเคมีเขาไปเพื่อเร่งการเจริญเติบโต ก็จะเป็นการสร้างไนโตรเจนและไนตรัสออกไซด์ออกมา เพราะฉะนั้นการทำนาที่ดีควรเป็นการทำนาเปียกสลับแห้งและนำปุ๋ยอินทรีย์เข้ามาใช้มากขึ้น ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางการเพิ่มศักยภาพให้กับพื้นที่นาสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ในขณะที่ก็ยังสร้างความเป็นอยู่ในเรื่องปากท้องของประเทศไทยได้เป็นอย่างดีคงเดิม 

ใครๆ ก็สามารถทำคาร์บอนเครดิตได้ 

ถ้าหาโอกาสหรือศักยภาพของตนเองเจอ

การหาโอกาสให้กับตนเองในเรื่องของการทำคาร์บอนเครดิตนั้น ดร.พูนเพิ่ม บอกอีกด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นบริษัทโลจิสติกส์ที่มีการใช้รถยนต์ ที่มีการใช้พลังงานเผาไหม้ที่ใช้เชื้อเพลิงจำพวกน้ำมันดีเซลและเบนซิน ถ้าบริษัทเหล่านี้หาวิธีลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงได้ โดยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงให้น้อยลงเข้ามาช่วย โดยลดการใช้และลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ ส่วนพื้นที่ไหนที่มีพื้นที่สีเขียวไม้ยืนต้นเยอะสามารถนำศักยภาพของต้นไม้ เข้ามาเพื่อช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 

ซึ่งประเทศไทยได้มีการเปิดตลาดซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิตใน “ภาคสมัครใจ” แล้ว ภายใต้ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย T-VER ซึ่งเป็นกลไกที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2527 

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สามารถให้ความรู้กับเกษตรกรได้ ว่าคาร์บอนเครดิตคืออะไร จะเป็นอีกส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงเริ่มแรก เพื่อเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคที่คนเข้าใจว่าคาร์บอนเครดิตมีประโยชน์อะไร อันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด พอคนเริ่มรู้เริ่มเข้าใจมากขึ้น ก็จะเป็นการสร้างระบบนิเวศ (Eco system) คาร์บอนเครดิตขึ้นมาได้ เพื่อหาคนที่พร้อมจะลงทุนให้กับพื้นที่ของเราได้ และเราก็รักษาพื้นที่ของเราให้เป็นพื้นที่สีเขียวต่อไป เพื่อที่จะดูดซับเรือนกระจกต่อไปได้ ดังนั้น เฟสแรกต้องเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเกษตรกร เพราะค่อนข้างมีศักยภาพสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มนักวิชาการ เมื่อทุกภาคส่วนมีความรู้ความเข้าใจตรงกัน ก็จะทำให้เรื่องนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้นครับ” 

ในส่วนของคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่ทำการเกษตรในยุคดิจิทัล อย่าง คุณอรรถกร เอี่ยมเจริญ เจ้าของบริษัท มนทรีสวนป่า จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย ไม้ยืนต้น ไม้ผล และไม้ประดับ ผ่านช่องทางออนกราวด์และออนไลน์ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ มาร์เก็ต มีมุมมองในเรื่องของคาร์บอนเครดิตว่า เป็นโอกาสทองในการสร้างรายได้ของคนที่มีที่ดินว่างเปล่าหรือปลูกต้นไม้อยู่เเล้ว เพราะสามารถต่อยอดสร้างรายได้ที่ยั่งยืนในอนาคตได้ โดยมีการขึ้นทะเบียนต้นไม้เพื่อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งราคาซื้อขายเฉลี่ยในประเทศไทยอยู่ที่ตันละประมาณ 35-150 บาทต่อตัน 

คุณอรรถกร ยังบอกอีกด้วยว่า คาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตรของประเทศไทยถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรกรรมที่มีพื้นที่หลากหลาย ตั้งแต่ป่าร้อนชื้นที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรของโลก จึงทำให้ไม่ว่าจะปลูกพืชชนิดใดก็งอกงามมีความเขียวขจีให้ความสดชื่นอยู่เสมอ และมีเกษตรกรจำนวนมากในหลายพื้นที่เป็นเจ้าของสวนและไร่นาต่างๆ ตั้งแต่ป่ายูคาลิปตัส สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนไม้ยืนต้น และสวนไม้ผล ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างรายได้เสริมจากสิ่งที่มีอยู่ได้ โดยเกษตรกรอาจต้องรวมเป็นแปลงใหญ่ใหญ่เพราะต้นทุนในการขึ้นทะเบียนสูง 

คุณอรรถกร เอี่ยมเจริญ เจ้าของบริษัท มนทรีสวนป่า จำกัด
คุณอรรถกร เอี่ยมเจริญ เจ้าของบริษัท มนทรีสวนป่า จำกัด

ประเทศไทยโดยเฉพาะเกษตรกร เราสามารถสร้างการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ จะได้ง่ายต่อการประเมินในการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต และยังช่วยลดต้นทุนการขึ้นทะเบียนให้ถูกลง ยิ่งถ้าเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น ในหนึ่งไร่ปลูกต้นสักทองหรือต้นพะยูงทั้งหมด ก็จะนับยอดการดูดซับคาร์บอนเครดิตได้ง่ายมากขึ้น ผมมองว่าทุกกลุ่มเลยที่มีไม้ยืนต้นหรือไม้ผลสามารถรวมกลุ่มหรือนับรวมเป็นแปลงใหญ่ได้ ตลอดจน ชาวสวนปาล์ม สวนยางพารา ไร่ยูคาลิปตัส ไร่ไม้ยืนต้น สวนป่าไม้ ต้นพะยูง ต้นสัก ต้นยางนา และไม้ยืนต้นอื่นๆ ครับ” 

หากไม่มีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต 

เกษตรกรยังมีไม้ยืนต้นที่มีค่า ในการสร้างรายได้ 

คุณอรรถกร ยังเสริมอีกว่า หากต้นไม้ทุกต้นไม่สามารถทำรายได้จากคาร์บอนเครดิตต้นไม้ สิ่งที่มีค่าอย่างไม้ยืนต้นก็มีคุณค่าในตัวของมันเอง ซึ่งหากไม่นับรวมในเรื่องของการสร้างรายได้ของการขายคาร์บอนเครดิต เกษตรกรที่มีไม้มีค่ายังสามารถขายเนื้อไม้ตัดใช้ได้ ยกตัวอย่างเช่น นำเนื้อไม้ที่มีใช้ในอุตสาหกรรมชีวมวล ที่ช่วยให้ความร้อนในการผลิตกระแสไฟฟ้าหรือใช้ในอุตสาหกรรม ราคาเฉลี่ยต่อตันอยู่ที่ประมาณ 800-1,000 บาท หรือถ้าไม้มีค่าหน่อยราคาขายเป็นไม้ท่อนจะแพงเป็นหลักพันหรือหลักหมื่นบาทต่อต้น เช่น ต้นสักทอง ต้นพะยูง หรืออย่างต้นจามจุรีจะเห็นได้เด่นชัดในเรื่องของนำใบไปขายตามร้านขายดิน เพราะใบของต้นจามจุรีสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพได้อีกด้วย

“ผมค่อนข้างมีความคาดหวังว่า การสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีให้กับเกษตรกร ถ้าเรามีการลงมือทำให้ถูกต้อง และเข้าใจในเรื่องของคาร์บอนเครดิตจริงๆ อย่างน้อยในฐานะที่ผมขายต้นไม้ ผมเองก็พยายามให้ลูกค้าและคนที่สนใจในเรื่องคาร์บอนเครดิต ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนและเกิดประโยชน์ในอนาคตได้ ยิ่งในยุคนี้ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล และการทำงานทุกอย่างต้องผ่านทางดิจิทัลทั้งหมด การทำความเข้าใจกระบวนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาด เราจำเป็นที่ต้องให้ความรู้กับคนที่สนใจมากขึ้น อย่างน้อยไม่ต้องเริ่มไปจากใกล้ตัวเรามากหรอกครับ เริ่มต้นที่บ้านเรา รอบๆ ตัวเราก่อนเลย ชุมชนเราก็จะมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้นครับ”  

เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นของการสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตรนั้น การเริ่มต้นที่เกษตรกรสามารถทำได้ทันทีนั้น คือการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วรอบตัวมาปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)  ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง หรือจะเป็นสำนักงานการเกษตรในพื้นที่ใกล้บ้าน โดยหน่วยงานเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดจาก อบก. อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น หากเกษตรกรมีความสนใจสำนักงานเกษตรในพื้นที่ใกล้บ้านท่านสามารถที่จะให้ข้อมูลได้เป็นอย่างดี และหากไม่ได้ขึ้นทะเบียนขายคาร์บอนเครดิต การปลูกป่าปลูกต้นไม้ก็เหมือนเป็นการลงทุนในทรัพย์สินระยะยาวที่ลงทุนหลัก 10 ต่อต้น เมื่อเวลาผ่านไป 20, 30 ปีก็สามารถงอกเงยมาเป็นหลักพัน หลักหมื่นต่อต้นได้ โดยใช้เวลาและกำลังแรงกำลังทรัพย์เล็กน้อยเป็นตัวผันแปรในการสร้าง