เข้าใจผิดมาตลอด หมอชี้ กิน แปะก๊วย ยังไงให้ความจำดีขึ้น

เข้าใจผิดมาตลอด หมอชี้ กินลูกแปะก๊วย ไม่ได้ช่วยให้ความจำดีขึ้น เพราะอะไร? 

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคม สมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และผู้สูงอายุ กล่าวว่า มักจะมีความเชื่อที่เป็นความเข้าใจผิดกันในหมู่ผู้คนจำนวนมากว่า หากใครมีอาการขี้หลงขี้ลืมให้ไปกินลูกหรือผลแปะก๊วย เพราะจะช่วยให้อาการขี้หลงขี้ลืมนั้นดีขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สารซึ่งมีคุณสมบัติต่อสมองของคนเราจากแปะก๊วย ไม่ได้อยู่ที่ผลอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่อยู่ที่ใบต่างหาก

โดยใบแปะก๊วยประกอบไปด้วยสารออกฤทธิ์หลักที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่ 2 ชนิด คือ ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และเทอร์พีนอยด์ (Terpenoids) มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ มีการนำมากินโดยเชื่อว่าอาจช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งอาจช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมอง ตา หู และขาให้ดีขึ้น บรรเทาอาการของโรคอัลไซเมอร์ การสูญเสียความทรงจำ สมาธิสั้น ปวดศีรษะ วิงเวียน หูอื้อ ความผิดปกติทางการได้ยิน นอกจากนี้ ในใบแปะก๊วยยังประกอบไปด้วยสารที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในร่างกาย แต่ก็อาจมีพิษที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้มีอาการชักหรือหมดสติได้ด้วยเช่นกัน

“ความเชื่อที่ว่ากินผลแปะก๊วยซึ่งมีสีเหลืองๆ คล้ายกับเม็ดบัวแล้วจะบำรุงสมองนั้นไม่ใช่เลย เพราะประโยชน์ที่จริงของแปะก๊วยนั้นจะอยู่ที่ใบต่างหาก โดยนิยมเอาใบแปะก๊วยมาทำเป็นชา แต่ก็ต้องดื่มด้วยความระวัง เพราะหากดื่มมากเกินไปก็อาจจะเป็นพิษต่อร่างกายได้ ที่แนะนำคือ ปัจจุบันนี้มีแปะก๊วยที่ผ่านการสกัดในรูปของยาแผนปัจจุบันแล้ว แต่หากจะกินจะต้องปรึกษาแพทย์ด้วย” นพ.ฆนัท กล่าว

เมื่อถามว่า แล้วในส่วนของแปะก๊วยนั้น สามารถช่วยในการรักษาโรคขี้หลงขี้ลืมได้จริงหรือไม่ นพ.ฆนัทกล่าวว่า ในปัจจุบันยังมีการถกเถียงเกี่ยวกับประสิทธิภาพของแปะก๊วยในการพัฒนาความคิดความจำ แต่งานวิจัยส่วนใหญ่แนะนำว่าการกินแปะก๊วยอาจช่วยพัฒนาความคิดความจำและสมาธิได้เล็กน้อยในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยบางส่วนศึกษาเกี่ยวกับการกินแปะก๊วยร่วมกับสมุนไพรหรืออาหารเสริมประเภทอื่นๆ เช่น โสม หรือตังเซียม ที่อาจช่วยพัฒนาความคิดความจำได้ดีกว่าการกินแปะก๊วยเพียงอย่างเดียว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์