ทาสแมวถูกใจนวัตกรรมทรายแมวจากวัชพืช และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

ทุกวันนี้ คนไทยหันมาเลี้ยง “หมา-แมว” เป็นเสมือนลูกมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยอยู่ที่ 14,200 บาทต่อตัวต่อปี มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงไทยโตต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 8.4% ต่อปี คาดปี 2569 มีเม็ดเงินสูงถึง 66,748 ล้านบาท

“ทรายแมว” เป็นหนึ่งในไอเท็มสำคัญ ที่คนเลี้ยงแมวต้องมีติดบ้าน โดยธรรมชาติ แมวเป็นสัตว์รักความสะอาดและขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง ทรายแมวซึ่งเป็นวัสดุรองรับอุจจาระและปัสสาวะของแมวจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การเลี้ยงแมวในคอนโดฯ หรือในพื้นที่จำกัดได้อย่างดี

ปัจจุบัน ทรายแมวจากวัสดุธรรมชาติเป็นสินค้าขายดีที่ได้รับความนิยมจากทาสแมวจำนวนมาก เพราะสินค้ากลุ่มนี้ แม้มีราคาสูงแต่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ ทำความสะอาดได้ง่าย เพียงแค่กดลงชักโครก หรือใช้เป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้ได้อีก

ในท้องตลาดมีสินค้าทรายแมวจากวัสดุธรรมชาติหลากหลายขนิด เช่น ทรายแมวเต้าหู้ ทรายแมวไม้สน  ทรายแมวจากข้าวบาร์เลย์ ทรายแมวจากวอลนัท ฯลฯ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนทรายแมวที่คนไทยผลิตได้เอง เช่น ทรายแมวจากซังข้าวโพด ทรายแมวจากมันสำปะหลัง ทรายแมวจากกากกาแฟ เป็นต้น

มก. คิดค้น ทรายแมวจากวัชพืช

และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เล็งเห็นความสำคัญของ “ทรายแมว” เป็นวัสดุรองรับและซับสิ่งปฏิกูลจากแมวที่จำเป็นสำหรับคนเลี้ยงแมวในอาคารบ้านเรือน จึงได้คิดค้นวัสดุทางเลือกสำหรับผลิตทรายแมวที่ย่อยสลายได้ ไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม โดยทดลองนำวัชพืชและเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำและกลิ่นไม่พึงประสงค์มาผลิตเป็นทรายแมว ปรากฏว่าได้ผลดี เป็นที่ถูกใจทาสแมวแล้วยังลดต้นทุนในการผลิตทรายแมวและช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัชพืชและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้นำลำต้นกระถินบดและโคนใบธูปฤาษีมาตากแห้งและบดให้ละเอียดและนำมาผสมกับกากมูลสุกรที่ได้หลังจากหมักแก๊สชีวภาพและวัสดุรองในอัตราส่วนที่เหมาะสมจนได้สูตรที่มีคุณสมบัติในการจับตัวเป็นก้อนและการอุ้มน้ำให้เทียบเท่ากับทรายแมวที่มีขายในท้องตลาด พร้อมทั้งสามารถอัดเม็ดได้

งานวิจัยชิ้นนี้ยังมุ่งส่งเสริมการใช้วัชพืชและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นวัสดุหลักที่สำคัญทำให้ลดขยะและเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุดังกล่าว และลดรายจ่ายของผู้เลี้ยงแมวได้ซื้อสินค้าราคาถูกลง ทีมนักวิจัยพร้อมต่อยอดสู่การผลิต หากชุมชนใดสนใจการผลิตทรายแมวเพื่อสร้างมูลค่าให้กับวัชพืชและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในชุมชน และสร้างรายได้ให้กับชุมชน สามารถติดต่อประสานงานไปได้ที่ ดร.พัชนี วิชิตพันธุ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมชีวภาพ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โทร. 081-982-6500 (ในวันและเวลาราชการ)