นักวิจัย ม.เกษตรฯ คิดค้น “เครื่องทำความสะอาดสาหร่ายพวงองุ่นด้วยกระแสไฟฟ้า”

สาหร่ายพวงองุ่นที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติส่วนใหญ่มักจะพบตามบริเวณโขดหิน และพื้นทรายใต้ทะเล แน่นอนว่าในปัจจุบันหลังจากสาหร่ายพวงองุ่นกลายเป็นที่นิยม บวกกับมีผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นพืชเศรษฐกิจมีการเพาะเลี้ยงและมีการวิจัยต่างๆ เพื่อขายในประเทศไทยและส่งออกไปยังต่างประเทศ

“สาหร่ายพวงองุ่น” มีถิ่นกำเนิดจากชายฝั่งทะเลในแถบอินโดฯ-แปซิฟิก เป็นหนึ่งในสาหร่ายที่ทานได้ และได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เพราะหนึ่งเลยสาหร่ายพวงองุ่นเขามีคุณค่าทางอาหารสูง นอกจากนี้ สาหร่ายพวงองุ่นมีกรดอะมิโนสูงถึง 40% ใกล้เคียงกับกรดอะมิโนที่พบในไข่และโปรตีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Aspartic และ Glutamic ที่สูงถึง 25% ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างระบบต่างๆ ในร่างกาย

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นมากขึ้นในหลายจังหวัดโดยเฉพาะทางภาคใต้ โดยนิยมเพาะเลี้ยงกันในบ่อดิน ทั้งเลี้ยงบนพื้นบ่อดินและบนแผงเพาะเลี้ยง และสูบน้ำทะเลเข้ามาหมุนเวียนใช้ในฟาร์มเพาะเลี้ยง

รศ.ดร ปิติยา กมลพัฒนะ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “เมื่อต้องการเก็บเกี่ยวสาหร่ายพวงองุ่นที่มีขนาดความยาวและความสมบูรณ์ของเม็ดและสีเขียวสด มักจะมีตะกอนดิน คราบโคลน จากบ่อเพาะเลี้ยง ตลอดจนเชื้อโรคและสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น ลูกสัตว์น้ำติดมาด้วย ดังนั้น ขั้นตอนการล้างทำความสะอาดอย่างมีมาตรฐานและพิถีพิถันจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะสาหร่ายพวงองุ่นที่ได้รับการคัดคุณภาพ ต้องมีความสด สะอาด และตัดแต่งเป็นช่อสวยงามเท่านั้น เกษตรกรจึงสามารถจำหน่ายได้ในราคาดี”

จึงได้คิดค้น “เครื่องทำความสะอาดสาหร่ายพวงองุ่นด้วยกระแสไฟฟ้า” โดยมีจุดเด่นคือ ช่วยลดเวลาในการทำความสะอาดจาก 1-3 วัน เหลือเพียง 3 นาที ลดแรงกระแทกที่จะเกิดต่อสาหร่าย มีกำลังผลิตในการทำความสะอาดสาหร่ายองุ่นมากกว่า 12 กิโลกรัมต่อ 1 ชั่วโมง และลดต้นทุนในการทำความสะอาดต่อกิโลกรัมได้ถึงร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับการทำความสะอาดแบบดั้งเดิมด้วยวิธีสกิมเมอร์

นักวิจัย : รศ.ดร ปิติยา กมลพัฒนะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นักวิจัย : รศ.ดร ปิติยา กมลพัฒนะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การเก็บเกี่ยวสาหร่ายพวงองุ่น

วิธีทำความสะอาดสาหร่ายพวงองุ่นด้วยวิธีสกิมเมอร์ (skimmer) เป็นวิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมักทำให้สาหร่ายช้ำ เมื่อนำสาหร่ายที่ผ่านการล้างด้วยวิธีดังกล่าวไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน พบความเสียหายเกิดขึ้นชัดเจน ส่งผลต่อการเก็บรักษา จึงจำเป็นต้องศึกษาหาวิธีการทำความสะอาดวิธีใหม่ที่ใช้เวลาสั้น และลดแรงกระแทกที่จะเกิดต่อสาหร่าย ทางทีมผู้วิจัยจึงพัฒนาเครื่องทำความสะอาดสาหร่ายพวงองุ่นด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าขึ้นมา

Advertisement

รูปแบบการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น

Advertisement

ในปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในประเทศไทย เลือกรูปแบบการเลี้ยสาหร่ายขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ และเงินทุนสำหรับดำเนินการ เช่น ในภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฯลฯ จะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในบ่อดินเป็นส่วนใหญ่ 

ส่วนจังหวัดทางภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ จังหวัดกระบี่ พังงา และตรัง ฯลฯ นิยมเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในกระชัง จึงสามารถแบ่งรูปแบบการเลี้ยงออกเป็น 3 รูปแบบ คือ การเลี้ยงในบ่อดิน การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์บ่อพลาสติก หรือภาชนะอื่นๆ ในโรงเรือน และเลี้ยงในกระชังหรือเลี้ยงแบบผสมผสานร่วมกับการเลี้ยงปลาในกระชัง

การเลี้ยงในบ่อดิน

เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในบ่อดิน
เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในบ่อดิน

เป็นวิธีการเลี้ยงที่นิยมกันมากที่สุด พบการเลี้ยงในบ่อดิน บริเวณจังหวัดทางภาคกลางของประเทศไทย
ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฯลฯ เกษตรกรผู้เลี้ยงจะต้องเลือกพื้นที่อยู่ใกล้ทะเล ความเค็มของน้ำทะเลจะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมตลอดทั้งปี ความเค็มของน้ำทะเล ไม่ต่ำกว่า 25 ppt บ่อเลี้ยงอาจจะเป็นบ่อเก่าหรือบ่อขุดใหม่

ก่อนเลี้ยงต้องมีการเตรียมบ่อเป็นอย่างดีใช้อุปกรณ์สำหรับเลี้ยงทำวัสดุเลี้ยงสาหร่าย จากตะแกรงพลาสติกโดยประกอบท่อพีวีซีเป็นกรอบ แล้วใช้วัสดุถ่วงน้ำหนักให้แผงเลี้ยงจมน้ำ สร้างราวแขวน สำหรับแขวนแผงเลี้ยงในบ่อดิน มีการให้ปุ๋ยทุกสัปดาห์ ดูแลกำจัดศัตรู และเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ การเลี้ยงจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนสามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้

ข้อดี : ผลผลิตที่ได้มีปริมาณมาก คุณภาพดี ลักษณะทาลัสหรือช่อสาหร่ายยาวรามูลัสหรือเม็ดพวงองุ่นมีขนาดใหญ่ สีสวย จำหน่ายได้ราคาสูง
ข้อเสีย : ไม่สะดวกในการดูแลรักษา ในช่วงฤดูฝนมีปัญหาเรื่องความเค็มของน้ำต่ำ การจัดการค่อนข้าง
ยาก สาหร่ายพวงองุ่นไม่สะอาดมีตะกอนดินหรือสัตว์ทะเลขนาดเล็กเกาะติดจำนวนมาก หลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว จะต้องผ่านระบบล้างและฆ่าเชื้อสาหร่ายพวงองุ่น ก่อนนำมาจำหน่าย

การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ถังไฟเบอร์ หรือถังพลาสติก ในโรงเรือน

การเลี้ยงในบ่อซิเมนต์ถังไฟเบอร์ หรือถังพลาสติก ในโรงเรือน
การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ถังไฟเบอร์ หรือถังพลาสติก ในโรงเรือน

เป็นวิธีการเลี้ยงที่ได้นำมาดัดแปลงจากการเลี้ยงในบ่อดิน เกษตรกรผู้ที่เคยมีอาชีพเพาะและอนุบาลกุ้ง
ทะเลที่เลิกกิจการไปแล้ว ได้นำบ่อซีเมนต์ที่เคยใช้อนุบาลลูกกุ้งทะเล มาใช้เพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น หรือเกษตรกรที่มีฐานะอาจจะลงทุนสร้างฟาร์มเลี้ยงเพื่อเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นเชิงธุรกิจ

การเลี้ยงวิธีนี้ต้องมีการสร้างโรงเรือนเพื่อป้องกันฝนและแสงแดด ความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่มีปริมาณมากเกินไป โรงเรือนที่ใช้เลี้ยงมี 2 แบบ คือแบบชั่วคราวและแบบถาวร ส่วนภาชนะใช้เลี้ยงอาจเป็นบ่อซีเมนต์ ถังพลาสติก ถังไฟเบอร์ ฯลฯ การเลี้ยงอาจใช้วัสดุเลี้ยงเป็นแผงเลี้ยงเหมือนในบ่อดินหรือในกระชัง โดยใช้ตะกร้าพลาสติก หรืออาจปล่อยเลี้ยงในบ่อโดยตรง

ข้อดี : ผลผลิตสาหร่ายพวงองุ่นค่อนข้างสะอาดมีตะกอนดิน พืชและสัตว์น้ำขนาดเล็ก ปะปนในสาหร่ายในปริมาณที่น้อย สามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี ไม่มีปัญหาเรื่องความเค็มของน้ำเนื่องจากสามารถควบคุมความเค็มและคุณภาพน้ำอื่นๆ ได้ หลังการเก็บเกี่ยวแล้วผ่านกระบวนการล้างและฆ่าเชื้อเพียงเล็กน้อย
สะดวกในการจัดการและการดูแลรักษา

ข้อเสีย : คุณภาพของสาหร่ายพวงองุ่นต่ำกว่าบ่อดินหรือกระชัง เนื่องจากช่อสาหร่ายสั้น เม็ดพวงองุ่น
สาหร่ายมีขนาดเล็ก จำหน่ายได้ในราคาต่ำกว่าบ่อดิน

การเลี้ยงในกระชัง

เป็นการเลี้ยงแบบผสมผสานร่วมกับการเลี้ยงสัตว์น้ำในกะชัง ใช้แผงเลี้ยงสาหร่ายในกระชังโดยใช้อวนตา
ถี่สร้างกระชังป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำขนาดเล็กและขนาดใหญ่เข้ามาทำลายสาหร่ายพวงองุ่นได้ ใช้วัสดุยึดเกาะทำจากตะแกรงพลาสติกและท่อพีวีซีเป็นกรอบเช่นเดียวกับการเลี้ยงในบ่อดิน ต้องคอยกำจัดสาหร่ายชนิดอื่นและสัตว์ทะเลขนาดเล็กที่เข้ามาอาศัยอยู่กับสาหร่าย การเลี้ยงพบบริเวณจังหวัดที่มีการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ฯลฯ

ข้อดี : ไม่ต้องให้ปุ๋ยหรือธาตุอาหารและเปลี่ยนถ่ายน้ำ ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี
ใกล้เคียงกับการเลี้ยงในบ่อดิน สามารถเลี้ยงร่วมกับการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง ทำเป็นอาชีพเสริมและอาชีพหลักได้
ข้อเสีย : การเลี้ยงวิธีนี้อาจจะมีกลิ่นคาวปลาเนื่องจากเลี้ยงร่วมกับปลาน้ำกร่อย ไม่สามารถควบคุม
คุณภาพน้ำได้ ในช่วงฤดูฝนน้ำบริเวณชายฝั่งทะเลมีความเค็มต่ำ ไม่สามารถเลี้ยงสาหร่ายได้ แต่หากกระชังเลี้ยงอยู่ห่างจากชายฝั่งจะลดปัญหาน้ำความเค็มต่ำ สามารถเลี้ยงสาหร่ายได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ สาหร่ายพวงองุ่นที่เลี้ยงจะมีดินตะกอนและสัตว์น้ำและปรสิตขนาดเล็กเข้ามาเกาะติด หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ต้องผ่านกระบวนการล้างทำความสะอาดหลายๆ ครั้ง และการฆ่าเชื้อ

หากสนใจเครื่องทำความสะอาดสาหร่ายพวงองุ่นด้วยกระแสไฟฟ้า หรืออยากสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 02-562-5020

ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์/คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง