สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดฤดูกาลผลไม้อัตลักษณ์ ปี 2567

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดโครงการฤดูกาลผลไม้อัตลักษณ์สู่การเชื่อมโยงงานส่งเสริมการเกษตร ดันผลไม้อัตลักษณ์ 9 จังหวัดภาคตะวันออก ออกสู่ตลาด เผย รสชาติ คุณภาพ และมีเรื่องราวความเป็นมาที่ชัดเจน น่าสนใจ ผลไม้ประจำถิ่นพัฒนาพันธุ์ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมเปิดตัว หลากหลายชนิด

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

วันที่ 10 เมษายน 2567 ณ สวนนวลทองจันท์ ตำบลมาบไพ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลมาบไพ สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก และเกษตรกร จัดงานประชาสัมพันธ์ฤดูกาลผลไม้อัตลักษณ์ต้นแบบ โครงการเปิดฤดูกาลผลไม้อัตลักษณ์สู่การเชื่อมโยงงานส่งเสริมการเกษตรขึ้น โดยมี นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน

นายรพีทัศน์  เปิดเผยว่า การสร้างความยั่งยืนแก่เกษตรกรให้มีความเข้มแข็งมั่นคงมีความสำคัญ โดยเฉพาะผลไม้ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน มีความสำคัญยิ่ง

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศ ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มผ่านอัตลักษณ์ของพื้นที่ โดยต่อยอดจากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และทรัพยากรในพื้นที่ให้ประสบความสำเร็จ สามารถผลักดันและส่งเสริมให้ผลไม้อัตลักษณ์ที่หลากหลาย โดดเด่นในเรื่องรสชาติ คุณภาพ และมีเรื่องราว (Story) เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าผลไม้อัตลักษณ์ ได้อย่างยั่งยืน

“การจัดงานครั้งนี้ ถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ได้รู้จักสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์ประจำถิ่นของภาคตะวันออกมากขึ้น เป็นทางเลือกและสร้างความเชื่อมั่น ให้กับผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพสินค้าเกษตรอัตลักษณ์แต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ของเกษตร และเป็นการช่วยผลักดันส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งและเติบโตของเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป” นายรพีทัศน์ กล่าว

นางอุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง

ด้าน นางอุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีบทบาทในการพัฒนาผลไม้ สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปทั้งระบบ โดยเฉพาะไม้ผลเศรษฐกิจซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่นำรายได้เข้าประเทศไทยเป็นอย่างมาก ในขณะที่ผลไม้พื้นถิ่นซึ่งเป็นผลไม้ในกลุ่มรองก็มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และได้รับความนิยมสูงไม่แพ้กันมีตลาดเฉพาะ

จึงให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับพื้นที่ และเกษตรกรคัดเลือกพืชในพื้นที่มาเป็นผลไม้อัตลักษณ์ ซึ่งมีเรื่องราวแหล่งกำเนิดสินค้า (story) ที่แตกต่างจากแหล่งอื่นๆ มีความโดดเด่น มีศักยภาพ และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ปัจจุบันมีผลไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไม้ผลอัตลักษณ์พื้นที่ 9 จังหวัดภาคตะวันออกเพิ่มมากขึ้น

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้มีการจัดแสดงนิทรรศการ เกี่ยวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ที่ปรับเปลี่ยนการผลิตจากรูปแบบเดิม สู่สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

“งานเปิดฤดูกาลผลไม้อัตลักษณ์ต้นแบบ โครงการเปิดฤดูกาลไม้ผลอัตลักษณ์สู่การเชื่อมโยงงานส่งเสริมการเกษตรที่จัดขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์ฤดูกาลผลไม้อัตลักษณ์ของภาคตะวันออก และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคต่อผลไม้อัตลักษณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมสร้างเครือข่ายเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ร่วมทำงานด้วยกัน ในการส่งเสริมด้านการตลาดของสินค้าผลไม้อัตลักษณ์ สร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป” นางอุบล กล่าว

ทั้งนี้ภายในงานมีกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย 1. การเสวนา หัวข้อ การส่งเสริมผลไม้อัตลักษณ์ของไทยให้ก้าวไกลและเพิ่มมูลค่า 2. กิจกรรมให้ความรู้ การสร้างมูลค่าเพิ่มกับผลไม้อัตลักษณ์ นิทรรศการผลไม้อัตลักษณ์ 9 จังหวัดภาคตะวันออก สาธิตการแปรรูปอาหารจากผลไม้อัตลักษณ์ภาคตะวันออก และ 3. พิธีมอบรางวัลการประกวดศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ดีเด่น ระดับเขต ประจำปี 2567

สำหรับผลไม้อัตลักษณ์ของภาคตะวันออก ที่นำมาจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ในครั้งนี้ ได้แก่ ขนุนหนองเหียงชลบุรี จังหวัดชลบุรี มะยงชิดนครนายก จังหวัดนครนายก มะม่วงน้ำดอกไม้สมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว จังหวัดสระแก้ว มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ทุเรียนชะนีเกาะช้าง จังหวัดตราด ทุเรียนหมอนทองระยอง จังหวัดระยอง ทุเรียนปราจีน จังหวัดปราจีนบุรี และ ทุเรียนจันท์ จังหวัดจันทบุรี