“Tanee Siam” สินค้าเกษตรแฟชั่น กระเป๋าทำจากกาบกล้วยตานี

วิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้การพัฒนาสินค้าเกษตรแฟชั่นแบรนด์ไทย “ตานีสยาม” ที่ใช้ประโยชน์จาก “ต้นกล้วยตานี” ตั้งแต่ยอดจรดโคน ออกแบบสร้างสรรค์จนได้แฟชั่นกระเป๋าสุดเก๋ หมวกสุดเท่ และอื่นๆ อีกมากมาย ปัจจุบันสินค้าตานีสยาม มีคุณภาพดีไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆ เพราะเป็น 1 ในสินค้า “Soft Power” ของไทยที่ไปเติบโตไกลถึงฝั่งยุโรปได้อย่างเต็มตัว

แปลงปลูกกล้วยตานี

มุ่งผลิตสินค้า “ZERO WASTE”

กล้วยตานีถือว่าเป็นราชินีแห่งกล้วย คนโบราณเชื่อว่าจะมีนางตานีสถิตอยู่ กล้วยตานี หลังปลูกประมาณ 7- 8 เดือน มีลำต้นใหญ่ สูงประมาณ 3-4 เมตร ใบใหญ่สีเขียวและเหนียวมีเงา รู้หรือไม่ว่า ต้นกล้วย 1 ต้น ใช้ได้ทุกส่วน ไม่เว้นแม้แต่ยางกล้วยใช้ประโยชน์ได้มากมาย ทางกลุ่มตัดต้นกล้วยเพื่อทำกระเป๋าแต่ละครั้ง ส่วนที่ไม่ได้นำมาผลิตกระเป๋าจะถูกนำไปแปรรูปเป็นอย่างอื่นเพื่อไม่ให้เกิดขยะเหลือทิ้ง เป็นกระบวนการผลิตแบบ ZERO WASTE ลดขยะให้กับชุมชนอย่างแท้จริง

CREATIVE ECONOMY > ZERO WASTE กล้วยตานี  

ใบกล้วย – ใช้ทำบายสี, ภาชนะใส่อาหาร

ก้านกล้วย – ใช้ทำเชือก, ทำแม่พิมพ์งานศิลปะ

ผลกล้วย – แปรรูปเป็นผงแป้งกล้วย

Advertisement

กาบกล้วย – แปรรูปเป็นหนังกาบกล้วยคุณภาพ ลายสวยไม่ซ้ำ ทางกลุ่มใช้กาบกล้วยเป็น หนังทดแทน (Vegan Leather from Banana) ภายใต้แนวคิด หนังไม่เบียดเบียน

ปลีกล้วย – ทำเป็น “ชา หัวปลี” รับประทานได้

Advertisement

หน่อกล้วย – ใช้สำหรับขยายพันธุ์กล้วย

น้ำยางกล้วย – ช่วยประสานหนังกาบกล้วย สร้างความแข็งแรง ทำสีสำหรับวาดรูปได้

รากต้นกล้วย – หลังจากการตัดต้นทิ้ง นำรากกล้วยไปทำน้ำหมักอินทรีย์

“ตานี” ราชินีแห่งกล้วย

งดงาม ทนทาน มากคุณประโยชน์

“คุณกอล์ฟ” – ธนกร สดใส ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี กล่าวถึงสาเหตุที่เลือกใช้กล้วยตานี เนื่องจากกล้วยตานีแข็งแรงที่สุด มีเส้นใยที่เหนียวกว่าพันธุ์กล้วยอื่นๆ และมีความสูงกว่าต้นกล้วยทั่วไป 2-4 เมตร กล้วยตานี 1 ต้น สามารถตัดแบ่งได้ 3-4 ท่อน ได้ปริมาณกาบกล้วยเพียงพอสำหรับผลิตกระเป๋ากาบกล้วยตานีที่มีความสวยงามได้ 1 ใบ

ลายของกระเป๋ากาบกล้วยตานี คือรอยยิ้มของธรรมชาติ สีสันของกระเป๋าเปลี่ยนแปลงไปทุกฤดู ฤดูหนาว กาบกล้วยมีสีขาว ฤดูร้อน กาบกล้วยมีสีสดแรงๆ ขณะที่ฤดูฝน กาบกล้วยมีสีเข้มออกดำ ทำให้ตานีสยาม เป็นแบรนด์กระเป๋าสุดแนวที่ครองใจกลุ่มคนรักษ์โลก เพราะผลิตจากกาบกล้วยซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติแล้ว กระเป๋าแต่ละใบนั้นยังมีลวดลายที่ไม่ซ้ำกัน เรียกว่า กระเป๋ารักษ์โลกที่มีใบเดียวในโลก

พิถีพิถันการผลิตทุกขั้นตอน

การเลือกสายพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ – สาเหตุที่เลือกปลูกตานี ราชินีกล้วย เท่านั้น เพราะมีความเหนียว และมีความยืดหยุ่นดีกว่าสายพันธ์ุอื่นๆ

การปลูก – เน้นปลูกกล้วยตานี แบบเกษตรอินทรีย์ จากพื้นที่ว่างเปล่าและรกร้างของชุมชนไร้สารเคมี สภาพพื้นที่ต้องไม่มีลมแรง ดินไม่เค็ม น้ำไม่กร่อย และไม่ควรเป็นพื้นที่นา

การตัด – คัดสรรต้นที่สมบูรณ์ออกลูกออกเครือตัดลูกขาย ใช้ต้น ต้นกล้วยที่สามารถเก็บเกี่ยวต้องอายุไม่ต่ำกว่า 10-11 เดือน เน้นตัดช่วงเช้าเท่านั้นเพื่อง่ายต่อการกรีดตาก

การกรีด – เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความคมและความเชี่ยวชาญในการกรีดกาบกล้วยให้บางที่สุด

การตาก – ความยากของขั้นตอนนี้คือ พระอาทิตย์ ตัวแปรหลักเรื่องสีของแผ่นหนังกล้วยจะสวยหรือไม่ขึ้นอยู่กับตอนตากนี้

การรีด – เป็นอีกขั้นตอนที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก ไฟแรงไปก็เสีย เบาไปก็ไม่งาม เพราะแต่ละแผ่นมีความชื้นที่ต่างกัน

การต่อ – เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้จินตนาการเป็นหลัก ต้องสื่อสารด้วยต้นกล้วยแต่ละต้นว่า จะเล่าเรื่องราวอะไรลงบนผืนผ้า ให้ออกมาสวยงามและแตกต่าง

ขั้นตอนการกรีดกาบกล้วยตานี
“ คุณกอล์ฟ” – ธนกร สดใส ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี

ทางกลุ่มนำกาบกล้วยตานีไปตากแห้ง ด้วยกรรมวิธีการตากแบบดั้งเดิม คือการผึ่งลมและแดด โดยใช้วิธีตากบนราวพาดที่ทำมาจากไม้ไผ่ ใช้เวลาตาก 2-3 วัน ปริมาณการตากกาบกล้วย เฉลี่ยวันละ 100-200 กาบ ขึ้นอยู่กับจำนวนคนงานในกระบวนการกรีดกาบกล้วยด้วยว่าในวันนั้นมีคนงานอยู่กี่คน ถ้าคนงาน 2 คนปริมาณต้นกล้วยที่ใช้อยู่ที่ 5 ท่อนต่อคนงาน 2 คน สัดส่วนที่จะตัดนำมาแปรรูปในการตากแห้งมีขนาดความยาว 1 เมตร ความกว้าง 12 เซนติเมตร และมีความหนาที่ไม่เท่ากัน

ปัญหาอุปสรรคหลักที่เจอคือ ช่วงฤดูฝนหรือในวันที่แสงแดดไม่เพียงพอนั้น ทางกลุ่มไม่สามารถนำกาบกล้วยตานีออกมาผึ่งแดดข้างนอกได้ เพราะเสี่ยงทำให้ผลิตภัณฑ์เกิดความเสียหายจากการขึ้นเชื้อราเพราะว่ากาบกล้วยยังคงมีความชื้นหลงเหลืออยู่ ทางกลุ่มจึงต้องส่งกาบกล้วยไปอบแห้งข้างนอก จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น

น้ำยางกล้วยตานี
นำกล้วยมาทำสี พิมพ์ เพ้นต์ ออกมาเป็นลายเพื่อนำมาใช้ประกอบดีไซน์กระเป๋า

ทางกลุ่มร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) หมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี ออกแบบโดมอบแห้งพลังงานความร้อนแสงอาทิตย์ด้วยระบบไฮบริด ผลการทดลองโดมอบแห้ง โดยใช้กาบกล้วยจำนวน 75 กาบ น้ำหนักก่อนอบ 15 กิโลกรัม ใช้เวลาในการอบแห้ง 12 ชั่วโมง อุณหภูมิในการทดลอง 50 องศาเซลเซียส พบว่ามีความชื้นคงเหลืออยู่ระหว่าง 8.9-9.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์มาตรฐานแห้ง ซึ่งน้ำหนักของกาบกล้วยลดลงเหลือ 1.5 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้ำหนักของกาบกล้วยคงเหลือ 1.5 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับการตากแบบธรรมชาติ ใช้เวลาในการตาก 24 ชั่วโมง ซึ่งโดมอบแห้งพลังงานความร้อนแสงอาทิตย์ด้วยระบบไฮบริดสามารถลดต้นทุนในการทำงานได้ 90.66 เปอร์เซ็นต์ ในการลงทุน

“ธ.ก.ส.” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

กว่าธุรกิจ “Tanee Siam” จะประสบความสำเร็จในวันนี้ สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรีต่างทุ่มแรงกายแรงใจทำงานด้วยความมานะอดทนอย่างเต็มที่ เพื่อผลิตและออกแบบแฟชั่นกระเป๋ากาบกล้วยตานีให้เป็นที่ยอมรับของคนไทยและต่างชาติ

“ธุรกิจของเรามาถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องขอบคุณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ ธ.ก.ส. สนับสนุนทุนผ่านสินเชื่อชุมชนธุรกิจสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย 0.01 ต่อปี ทำให้ทางกลุ่มมีโอกาสพัฒนาสินค้า และขยายช่องทางการตลาดได้อย่างคล่องตัว ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชนได้ตลอดทั้งปี” คุณกอล์ฟ กล่าวในที่สุด

ผู้สนใจ “กระเป๋ากาบกล้วยตานี” ของ “ตานีสยาม” สามารถติดตามผลงานได้ทาง เฟซบุ๊ก : Tanee Siam หรืออินสตาแกรม : taneesiam สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเบอร์ โทร. 099-149-9746

คอลเล็กชั่น : กระเป๋าสะพายไหล่รุ่น ตานี บอย
กระเป๋าเชือกกล้วยตานี

……………

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก เฟซบุ๊ก : Tanee Siam