ส.ป.ก. จับมือ สตช. เตรียม Kick off  “โฉนดเพื่อการเกษตร” เป็นหลักทรัพย์ใช้ค้ำประกันตัวบุคคลภายใน 3 เดือนนี้ 

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ส.ป.ก. ได้แต่งตั้งคณะทำงาน ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อวางระเบียบขั้นตอนการใช้ “โฉนดเพื่อการเกษตร” เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันตัวบุคคล ในชั้นสอบสวนได้ทุกกรณี ยกเว้นบางกฎหมาย เช่น กฎหมายยาเสพติด การพนัน ฟอกเงิน ค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ส.ป.ก. คาดว่าจะสามารถลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ “โฉนดเพื่อการเกษตร” เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันตัวบุคคลได้จริงภายใน 3 เดือนนี้

ในอดีต ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นเอกสารสิทธิที่ดินของรัฐ อาจไม่มีมูลค่า ทำให้เกษตรกรที่อยู่ในเขต ส.ป.ก. ไม่มีหลักทรัพย์ใดๆ ในการค้ำประกันตน หลังจาก ส.ป.ก. ปรับปรุงเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ตามนโยบายของรัฐบาล จึงเร่งเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าโฉนดเพื่อการเกษตรให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกษตรกรใช้ “โฉนดเพื่อการเกษตร” เป็นภูมิคุ้มกันช่วยเหลือตัวเองได้

นอกจากนี้ ส.ป.ก. ได้แสวงหาพันธมิตรรายใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับโฉนดเพื่อการเกษตร เสริมสร้างความผาสุกของพี่น้องเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน โดย ส.ป.ก. เตรียมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อใช้ “โฉนดเพื่อการเกษตร” เป็นหลักประกันเงินกู้ในระบบสหกรณ์ได้เทียบเท่ากับโฉนดทั่วไป ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการใช้โฉนดเพื่อการเกษตร เป็นหลักประกันสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากวงเงินสินเชื่อ ธ.ก.ส. ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 80 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินกรมธนารักษ์ คิดเป็นวงเงินประมาณ 490,000 ล้านบาท จากเป้าหมายการออกโฉนดเพื่อการเกษตร ปี 2567 จำนวน 1 ล้านแปลง

“ผมมั่นใจว่า ภายใน 3 เดือนข้างหน้า โครงการนี้จะสามารถใช้งานได้จริง เปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ประมาณร้อยละ 80-90 สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสหกรณ์ได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ส.ป.ก. คาดหวังว่า แหล่งเงินทุนอื่นๆ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะรับรู้และเข้าใจว่า โฉนดเพื่อการเกษตรของ ส.ป.ก. มีมูลค่าจริงๆ สามารถเข้ามาเป็นพันธมิตรกับเราได้อย่างสบายใจมากขึ้น” นายวิณะโรจน์ กล่าว

เกษตรกรที่ถือครองโฉนดเพื่อการเกษตร มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่และเพิ่มวงเงินสินเชื่อ รวมทั้งสามารถขอสินเชื่อนโยบายจากกองทุน ส.ป.ก. เต็มวงเงินตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์แล้ว ยังใช้ไม้มีค่าที่ปลูกบนที่ดิน เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ (โฉนดต้นไม้) ได้เต็มวงเงิน 100% อีกด้วย โดย ส.ป.ก. สนับสนุนให้เกษตรกรสร้างรายได้โดยปลูกไม้มีค่า 10 ต้นต่อไร่ เพื่อเพิ่มทรัพย์สินในที่ดิน และประสานความร่วมมือกับกรมป่าไม้ ธ.ก.ส. และ อบก. เพื่อขาย Carbon Credit ในอนาคตอีกด้วย

กรณีหลายฝ่ายแสดงความห่วงใยว่า การเปลี่ยนแปลงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เป็นโฉนดเพื่อการเกษตรจะตกไปถึงมือนายทุนนั้น นายวิณะโรจน์กล่าวยืนยันว่า ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางระบบตรวจสอบเกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินไว้ 3 ขั้นตอน 1. ให้จัดทำรายชื่อผู้ได้รับการจัดที่ดินทุกราย ติดประกาศในเขตที่ดินที่ตั้งอยู่ในท้องที่นั้น เพื่อให้เกษตรกรร่วมกันตรวจสอบ 2. จัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบผู้ถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินในระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธานคณะทำงาน 3. รมว.ธรรมนัสเป็นประธานคณะอนุกรรมการ พิจารณาความผิดเกี่ยวกับการถือครองที่ดินและใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยมิชอบ ประกอบด้วยคณะทำงานจากหลายฝ่าย เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ นี่คือกลไกการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า ส.ป.ก. จัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง

“ปัจจุบัน ส.ป.ก. ยังมีภารกิจอื่นๆ เช่น การส่งเสริมการทำสินค้าเกษตรคุณภาพโดย ส.ป.ก. มีศูนย์รับรองสินค้าเกษตร มาตรฐาน GAP และสินค้าเกษตรอินทรีย์ของเราเอง รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งด้านการแปรรูป และการตลาดโดย รมว.ธรรมนัสได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนภารกิจของ ส.ป.ก. เพื่อสร้างความเข้มแข็งในภาคการผลิตและการแปรรูป หวังยกระดับราคาสินค้าเกษตร 3 เท่าภายใน 4 ปี ตามนโยบายของรัฐบาล เพราะหากพื้นที่ ส.ป.ก. 40 ล้านไร่เข้มแข็ง เกษตรกรที่ทำกินในที่ดิน ส.ป.ก. ประมาณ 10 ล้านครัวเรือนก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย” นายวิณะโรจน์ กล่าว

เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ส.ป.ก. มีนโยบายสร้างความเข้มแข็งด้านอาชีพและรายได้บนที่ดิน ส.ป.ก. โดยใช้ฐานข้อมูล ธ.ก.ส. สแกนหาพื้นที่ที่เปราะบาง โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. เข้าไปส่งเสริมพัฒนาอาชีพและรายได้เกษตรกรให้เข้มแข็งอย่างเร่งด่วนแล้ว ยังใช้อาสาสมัครในพื้นที่เป็นหูเป็นตา ช่วยดูแลการพัฒนาเกษตรกร พร้อมตรวจสอบการบุกรุกที่ดิน ส.ป.ก. อย่างผิดกฎหมายไปพร้อมกัน

ส.ป.ก. ทำหน้าที่จัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรแล้ว ยังดูแลเรื่องการจัดโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร โดยปัจจุบัน ส.ป.ก. ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ16 หน่วยงาน เช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน มูลนิธิปิดทองหลังพระ สำนักงานทรัพยากรน้ำ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (พอช.) มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น

“ส.ป.ก. ไม่มีศักยภาพมากพอที่จะดูแลการพัฒนาที่ดิน ส.ป.ก. จำนวน 40 ล้านไร่ จึงต้องร่วมมือกับพันธมิตรช่วยกันทำงาน ในช่วงที่ผมรับตำแหน่งเลขาธิการ ส.ป.ก. สามารถพัฒนาแหล่งน้ำในที่ดิน ส.ป.ก. ได้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร หาก ส.ป.ก. ทำเอง คงไม่ได้มากขนาดนี้ ได้ถนนเพิ่มขึ้นมาเยอะแยะ ได้บ้าน กับ พอช. เกือบ 2,000 หลัง ได้ไฟฟ้า และอื่นๆ ตลอดจนจัดอบรมเพิ่มพัฒนาศักยภาพเกษตรกร และการพัฒนาตลาดให้มีความเข้มแข็งสามารถดำรงชีพอย่างมีความสุขบนที่ดิน ส.ป.ก.” นายวิณะโรจน์ กล่าวในที่สุด