ธ.ก.ส. เผย สินเชื่อดอกเบี้ยล้านละร้อย เหลือวงเงินกู้อีก 1.5 หมื่นล้าน

ธ.ก.ส. เผย สินเชื่อดอกเบี้ยล้านละร้อย เหลือวงเงินกู้อีก 1.5 หมื่นล้าน ยื่นกู้ได้จนถึง 30 พฤศจิกายน 2568 เฟสแรกปล่อยกู้ไปแล้ว 3 หมื่นล้าน หนี้เสียต่ำ 0.1% เฟสสองอนุมัติใหม่ 5.8 พันล้าน ชี้หากวงเงินกู้เต็มและมีผู้ยื่นกู้คุณสมบัติพร้อมอีกหลายราย เล็งเสนอขอขยายเฟส 3

วันที่ 4 พฤษภาคม 2567 นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า หนึ่งในผลิตภัณฑ์เรือธงของ ธ.ก.ส. ที่เกษตรกรสนใจขณะนี้คือ โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย หรือสินเชื่อดอกเบี้ยล้านละร้อย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 2 ประเภท คือ 1. เพื่อค่าใช้จ่ายในการทำการผลิต และ 2. เป็นเงินเทอมโลนระยะยาวไม่เกิน 10 ปี ซึ่งรัฐบาลให้วงเงินสินเชื่อ ธ.ก.ส. ทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยเกษตรกร 0.01% ในระยะเวลา 3 ปีแรก เพื่อให้ชุมชนหรือผู้ประกอบการพัฒนาตัวเองได้

และ ธ.ก.ส. ลดดอกเบี้ย MRR สำหรับเกษตรกรรายบุคคล อยู่ที่ 6.975% และลดดอกเบี้ย MLR สำหรับกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน อยู่ที่ 6.125% โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรและ ธ.ก.ส. ช่วง 3 ปีแรก ประมาณ 3-3.5%

เบื้องต้นโครงการนี้ในเฟสแรกดำเนินการมาแล้ว 4 ปี ได้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท เฉลี่ยวงเงินปล่อยกู้ 3-5 ล้านบาทต่อราย จำนวนรวม 2,000-3,000 ราย ส่วนโครงการเฟส 2 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบไปเมื่อปลายปี 2566 โดยขยายวัตถุประสงค์เรื่องการส่งเสริมด้าน BCG ตามหลักการ SDGs ซึ่งไม่ได้ของบประมาณเพิ่ม การชดเชยไม่เกินกรอบวงเงินที่รัฐให้ไว้ เพราะเหลือวงเงินจากโครงการเฟสแรก

ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการปล่อยกู้ให้เกษตรกรไปแล้วอีก 5,800 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย คงเหลือวงเงินปล่อยกู้ได้อีก 15,000 ล้านบาท โดยเกษตรกรสามารถขอสินเชื่อได้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2568 ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณปีกว่าๆ และสำหรับเกษตรกรที่กู้ไปแล้วเฟสแรกต้องการขอกู้เพิ่ม จะต้องเป็นกิจกรรมที่เพิ่มมูลค่า (added value) จากโครงการเดิมเท่านั้น

“เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว กำหนดวงเงินให้สินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย โดยผู้ขอกู้จะต้องมีแผนธุรกิจและมีลูกทีมเกษตรกรในชุมชนอย่างชัดเจน เป็นไปตามข้อกำหนดของธนาคารอย่างเคร่งครัด สำหรับแผนธุรกิจจะถูกพิจารณาโดยคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อระดับจังหวัด (ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส. แต่ละจังหวัดร่วมกับคณะ) เมื่อได้อนุมัติสำหรับเงินเทอมโลนจะจ่ายเงินกู้ให้ตามความก้าวหน้าโครงการ ไม่ได้จ่ายก้อนเดียว

ทั้งนี้ โครงการนี้จะมีการตรวจสอบทุกปีจาก ธ.ก.ส. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้เงินของรัฐ อย่างไรก็ดี หากถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2568 วงเงินปล่อยกู้เต็มจำนวน 15,000 ล้านบาท แต่ยังมีผู้ยื่นกู้หลายรายที่มีคุณสมบัติพร้อม ธ.ก.ส. ก็พร้อมที่จะเสนอขอขยายโครงการเฟส 3 ต่อไป“ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

โครงการนี้ถือว่าค่อนข้างประสบผลสำเร็จ เพราะว่ามีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แค่ 0.1% โดยส่วนใหญ่เอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นเมื่อเหตุจำเป็น เช่น ผลผลิตไม่สามารถออกได้, เจอภัยพิบัติ หรือเจอสถานการณ์ไม่ปกติ หากผลิตได้ตามปกติไม่ค่อยผิดนัดจ่ายหนี้ เพราะ ธ.ก.ส. แจ้งชัดว่าเมื่อเสียเครดิตไปแล้ว จะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่จากการขออนุมัติสินเชื่อปกติ

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/finance/news-1556138