อธิบดีกรมประมง…ขานรับข้อสั่งการธรรมนัส เร่งแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ

อธิบดีกรมประมง…ขานรับข้อสั่งการธรรมนัส เร่งแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ คลอดมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าและสินค้าผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ผนึกกำลังหอการค้าไทย สมาคมการค้า ภาคเอกชน และห้างค้าปลีก-ค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) สนับสนุนผลผลิตสัตว์น้ำในประเทศ

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังแถลงข่าวการหารือความร่วมมือแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรของประเทศไทยอย่างยั่งยืน (ผลผลิตสัตว์น้ำ) โดยมี ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย นายอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย รวมทั้งผู้แทนสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมโรงแรม สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมเชฟประเทศไทย บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ จำกัด บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เข้าร่วมหารือ ณ ห้อง Activity Hall อาคารบรรเจิด ชลวิจารณ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า…การหารือร่วมกันของกรมประมงกับภาคเอกชนโดยมีหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพวันนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์การประสานงานที่รวมเอาทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ในการจัดการข้อมูลปริมาณผลผลิตและสถานการณ์ราคาสัตว์น้ำในประเทศ

ซึ่งทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่าการทำงานร่วมกันจะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการบริโภคในประเทศ และการส่งออกสินค้าแปรรูปไปยังคู่ค้าต่างประเทศ โดยใช้ผลผลิตจากเกษตรกรชาวประมงในประเทศเป็นหลัก และใช้ช่องทางของทุกภาคส่วนเชื่อมโยงไปยังเกษตรกรชาวประมงในการกระจายสินค้าและพยุงราคาหน้าบ่อให้เป็นธรรมที่สุด

ซึ่งจะใช้การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับคุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐานเพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าไทย ทั้งนี้ จะมีการ Update ข้อมูลการผลิตและสถานการณ์ราคาแบบ Real time ร่วมกัน

นายบัญชา กล่าวเพิ่มเติมว่า…นอกจากความร่วมมือที่ได้ตกลงดำเนินการร่วมกันในวันนี้ กรมประมงยังมีมาตรการอื่นๆ ตามข้อสั่งการของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำอย่างเร่งด่วน ซึ่งกรมประมงได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และออกมาตรการแก้ไขปัญหาสินค้าประมงตกต่ำในระยะเร่งด่วนออกมาเพิ่มเป็นระยะๆ ภายหลังได้รับข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ กรมประมงได้ดำเนินการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ โดยมีการออกมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ ดังนี้

1. มาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าโดยผิดกฎหมาย มีการจัดชุดเฉพาะกิจของกรมประมงลงพื้นที่ทำงานแล้ว ซึ่งจะร่วมปฏิบัติการกับชุดพญานาคราชของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีการประสานขอความร่วมมือจากกระทรวงกลาโหม กองทัพบก ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีจังหวัดติดด่านชายแดน เพื่อร่วมกันตรวจสอบแนวชายแดนและป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด

2. มาตรการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำนำเข้าที่ด่านตรวจประมง โดยปรับปรุงประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 92 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยต้องสามารถตรวจสอบและยืนยันแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่ขอนำเข้าได้ ปริมาณนำเข้าจริงต้องตรงตามเอกสารการขอนำเข้าโดยต้องมีเอกสารบรรจุหีบห่อ (Packing list) เป็นเอกสารประกอบการนำเข้าและต้องสามารถระบุสถานที่เก็บ/กระจายสินค้าในประเทศในใบคำขออนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (DOF1) และใบแจ้งตรวจสินค้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบเอกสารประกอบการนำเข้าสัตว์น้ำจากเมียนมา ทบทวนเอกสารกับหน่วยงานผู้รับผิดชอบ (Competent Authority) และประสานขอความร่วมมือให้เมียนมาจัดส่งรายชื่อเรือประมงมาล่วงหน้าเพื่อการตรวจสอบ

3. มาตรการควบคุมการนำเข้าตามชายแดน ยกระดับมาตรฐานความเท่าเทียมของเอกสารประกอบ การเข้าเทียบท่าของเรือประมงสัญชาติเมียนมา เอกสารประกอบคำร้องขอนำเรือประมงต่างประเทศเข้าเทียบท่า ทั้งการนำเข้าทางบกและทางเรือ สำหรับกรณีนำเข้าทางเรือ

กรมประมงมีแนวทางในการหารือระดับทวิภาคีกับประเทศเมียนมาในการประชุมระดับ Joint Working Group เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการควบคุมตรวจสอบเรือประมงของเมียนมาให้มีมาตรฐานที่สามารถยอมรับได้ และเทียบเท่ากับการควบคุมของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีการใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทางจุดผ่อนปรนพิเศษ 2 ด่าน คือ ด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และด่านพระเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งกรมประมงได้ขอความอนุเคราะห์ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 2 จังหวัด พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข ปริมาณการนำเข้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ทางจุดผ่อนปรนพิเศษที่ไม่ส่งผลต่อประโยชน์ทางการค้าของผู้ประกอบการภายในประเทศ

4. มาตรการยกระดับการตรวจติดตามมาตรฐานด้านสุขอนามัย โดยจะมีการสุ่มตรวจสินค้าสัตว์น้ำเพื่อวิเคราะห์สารตกค้าง โลหะหนัก และสารปนเปื้อน โดยสินค้าปลากะพงขาวจะเพิ่มการเปิดตรวจสินค้าจากเดิมร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 100 และสุ่มเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์สารตกค้างเพิ่มจากเดิมร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 10 พร้อมทั้งมีการออกประกาศกรมประมง เรื่อง “การยกระดับมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ในการนำเข้าสินค้าปลากะพงขาวแช่เย็นจากประเทศมาเลเซีย พ.ศ. 2567” โดยผู้ประกอบการต้องแนบ Certificate of Analysis (COA) ซึ่งต้องออกจากห้องปฏิบัติการของรัฐหรือรัฐให้การรับรองเท่านั้น โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา

ที่สำคัญ กรมประมงยังมีมาตรการใช้กลไกการตกลงราคาระหว่างกลุ่มชาวประมงกับสมาคมผู้รับซื้อ เพื่อเพิ่มราคารับซื้อ ดังนี้ 1. กลุ่มปลาหน้าดิน มีสมาคมประมงแห่งประเทศไทย สหกรณ์ประมงแม่กลองและชมรมผู้ค้าปลาสมุทรสาคร เป็นผู้ขาย และมีสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยซึ่งเป็นผู้รับซื้อ โดยประเภท ปลาทรายแดง ขนาด 10-20 ตัวต่อกิโลกรัม ราคารับซื้อที่ 25-26 บาทต่อกิโลกรัม ขนาด 20-30 ตัวต่อกิโลกรัม ราคารับซื้อที่ 23-24 บาทต่อกิโลกรัม ขนาด 30 ตัวต่อกิโลกรัมขึ้นไป ราคารับซื้อที่ 21-22 บาทต่อกิโลกรัม ปลาตาหวาน ขนาด 10-20 ตัวต่อกิโลกรัม ราคารับซื้อที่ 17-18 บาทต่อกิโลกรัม ขนาด 20-30 ตัวต่อกิโลกรัม ราคารับซื้อที่ 15-16 บาทต่อกิโลกรัม ปลาปากคม ขนาด 5-15 ตัวต่อกิโลกรัม ราคารับซื้อที่ 24-25 บาทต่อกิโลกรัม ขนาด 15-25 ตัวต่อกิโลกรัม ราคารับซื้อที่ 21-22 บาทต่อกิโลกรัม ขนาด 25-35 ตัวต่อกิโลกรัม ราคารับซื้อที่ 18-19 บาทต่อกิโลกรัม ขนาด 35 ตัวต่อกิโลกรัมขึ้นไป ราคารับซื้อที่ 16-17 บาทต่อกิโลกรัม 2. กลุ่มปลาผิวน้ำ มีสมาคมประมงอวนล้อมจับประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ได้หารือร่วมกันและจะรับซื้อสินค้ากลุ่มปลาผิวน้ำ (ทูน่า ซาร์ดีน แมคเคอเรล) ในราคาหน้าโรงงานโดยปลาทูแขกและปลาหลังเขียว ต้องไม่ต่ำกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป และกรณีที่มีปัญหาคลังสินค้าเต็ม ต้องประสานให้โรงงานอื่นๆ ในเครือรับซื้อต่อ ห้ามปฏิเสธการรับซื้อ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้กรมประมงดำเนินการทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังโรงงานต่างๆ ที่ยังไม่เข้าร่วมเพิ่มเติมด้วย

“กรมประมงได้มีการสนับสนุนให้นำกลไกการตกลงราคาระหว่างกลุ่มชาวประมงกับสมาคมต่างๆ ที่เป็นผู้รับซื้อมาใช้ รวมทั้งประสานหอการค้าไทยและสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นตัวกลางในการประสานห้างค้าปลีก-ค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) โรงแรม และภัตตาคารต่างๆ ให้ช่วยสนับสนุนผลผลิตประมงภายในประเทศ และคาดว่าหลังจากการดำเนินการมาตรการต่างๆ จะส่งผลให้สถานการณ์ราคาสัตว์น้ำในประเทศ ดีขึ้นตามลำดับ และหลังจากนี้จะมีการดำเนินมาตรการระยะยาวควบคู่กันต่อไป” นายบัญชา กล่าว