หวั่นไทยเสี่ยงวิกฤตอาหาร รายได้กระจุกตัว-คนเข้าถึงของดีได้ยาก แถมบิ๊กค้าปลีกข้ามชาติผูกขาดกลไกตลาด

สศก.เผยอันดับความมั่นคงอาหารของไทยดีขึ้น แต่ยังเสี่ยง เหตุรายได้กระจุกตัว คนส่วนใหญ่เข้าถึงอาหารดีๆ ยาก แถมถูกบริษัทใหญ่-ข้ามชาติผูกขาดกลไกตลาด แนะรัฐออก กม.คุ้มครองที่ดินเกษตร หนุนทำเกษตรที่หลากหลาย

นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สถาบันอิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) ในประเทศได้จัดอันดับดัชนีความมั่นคงทางอาหารโลก (จีเอฟเอสไอ) ปี 2559 ซึ่งไทยมีคะแนนรวมอยู่ที่ 59.5 คะแนนสูงขึ้นจากปี 2558 โดยอยู่ในอันดับที่ 51 ของโลก จาก 113 ประเทศทั่วโลก โดยสหรัฐอเมริกาครองอันดับ 1 รองลงมาคือ ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ เป็นต้น แต่หากคิดเฉพาะกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ (ไม่รวมบรูไน) ไทยอยู่อันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

นายภูมิศักดิ์ กล่าวว่า แม้ว่าวิกฤตอาหารของโลกจะไม่ส่งผลกระทบต่อไทย เนื่องจากไทยผลิตอาหารเพียงพอบริโภคและยังสามารถส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ต่อเนื่อง แต่ไทยก็ยังมีความเสี่ยงหลายด้านที่อาจจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะการกระจายรายได้ที่กระจุกตัวอยู่ที่คนส่วนน้อยของประเทศ การเข้าถึงอาหารที่ดีมีประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ยากลำบาก การตลาดที่มีแนวโน้มว่า บริษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติจะเข้ามาครอบครองและผูกขาดกลไกการกระจายอาหารมากยิ่งขึ้น จากการขยายตัวของกิจการร้านสะดวกซื้อแทนที่ตลาดสด ตลาดนัด และร้านขายของชำอย่างรวดเร็ว การใช้ที่ดินการเกษตรผิดวิธี การนำที่ดินเกษตรไปทำอุตสาหกรรม และปัญหาระบบน้ำที่ปัจจุบันมีพื้นที่ชลประทานเพียง 31.54 ล้านไร่ คิดเป็น 21.13% ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งประเทศเท่านั้น

นายภูมิศักดิ์ กล่าวว่า เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงความมั่นคงทางอาหาร ภาครัฐควรออกมาตรการเชิงนโยบาย อาทิ การคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อให้มีที่ดินเพียงพอที่จะทำการเกษตรโดยเฉพาะการปลูกพืชอาหารได้อย่างยั่งยืน โดยควรออกกฎหมายหรือมีมาตรการคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกการเกษตรและไม่อนุญาตให้บุคคลต่างด้าวทั้งส่วนตัวและนิติบุคคลเข้าครอบครองที่ดินทั้งทางตรงและทางอ้อม รัฐควรจัดสรรงบประมาณต่อเนื่อง เพื่อเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การต้านทานต่อโรคแมลงศัตรูพืช และสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ส่งแสริมและสนับสนุนการทำการเกษตรที่หลากหลาย การทำการเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ สนับสนุนการวางแผนการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สนับสนุนให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารแก่เกษตรกรรายย่อย เน้นการปลูกพืชควบคู่กับการทำปศุสัตว์ด้วยเพื่อเป็นการเกื้อกูลกันในระบบ

“แม้ไทยจะเป็นผู้ผลิตและส่งสินค้าเกษตรและอาหารในอันดับต้นๆ ของโลก แต่เมื่อดูรายละเอียดแล้วพบว่าไทยก็ยังมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงอาหารอยู่มาก โดยเฉพาะด้านความสามารถในการหาซื้ออาหาร จากปัญหารายได้ของครัวเรือน ที่อาจไม่เพียงพอ และบางครัวเรือนมีรายได้ลดลง สวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงด้านคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ที่ปัจจุบันอาหารในไทยยังมีสารตกค้างสูง และคุณค่าทางอาหารยังต่ำอยู่เมื่อเทียบกับสินค้าส่งออก ดังนั้นภาครัฐจึงควรมีมาตรการเพื่อมากำกับดูแลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต” นายภูมิศักดิ์ กล่าว

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน